สารสไตรีน “ผลกระทบต่อสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม”
เผยแพร่เมื่อ: 05/07/2564...,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย (ธีรวิโรจน์) เทศกะทึก
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา...,
สารสไตรีน “ผลกระทบต่อสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม”
สถานการณ์เหตุระเบิดถังบรรจ
กรณีศึกษาที่ 2
พบในรายงานการศึกษาในประเทศ
จากสถานการณ์เหตุระเบิดภายในโรงงานโฟมและเม็ดพลาสติก ในจังหวัดสมุทรปราการ สารสไตรีน คือ สารชนิดหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่ถูกกล่าวถึงกันมากในช่วงนี้ หลายท่านรู้จักสารสไตรีนกันดีแล้ว หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่าสารชนิดนี้ คือสารอะไร ประโยชน์และโทษ เป็นอย่างไรบ้าง สารสไตรีน (Styrene) หรือ ไวนิวเบนซีน (Vinyl benzene) หรือฟีนิล เอทิลีน (Phynylethylene) เป็นของเหลวไม่มีสีจนถึงเหลือง ละลายในไขมัน ระเหยได้ง่ายและมีกลิ่นหอมหวาน ที่ความเข้มข้นสูงจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นสารตัวทำละลายที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในกระบวนการผลิตสารโพลีเมอร์ พลาสติก เรซิน ยาง ภาชนะบรรจุอาหาร พื้นรองเท้า แก้ว อาชีพกลุ่มเสี่ยง ผู้ประกอบอาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล่านี้
กรณีเกิดสารเคมีรั่วไหลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้ผู้ประกอบอาชีพในโรงงานฯและประชาชนที่อาศัยโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม มีโอกาสการรับสัมผัสสารสไตรีนเข้าสู่ร่างกายได้ ผ่านการหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนสารสไตรีนเข้าไป หรือเข้าทางปาก จากการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารสไตรีนเข้าไป รวมทั้งดูดซึมเข้าร่างกายทางผิวหนังได้ หลายท่านอาจมีคำถามว่า ภายหลังการรับสัมผัสสารสไตรีนเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดผลกระทบได้อย่างไรบ้าง แท้ที่จริงสามารถจำแนกเป็นผลกระทบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ต่อร่างกายหลายระบบด้วยกัน
1) ผลกระทบแบบเฉียบพลัน หากสารในบรรยากาศสูงเกิน 100 ส่วนในล้านส่วน ทำให้ระคายเคืองตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ หากกระเด็นเข้าตา จะทำลายผิวของเยื่อบุตา อย่างไรก็ตามอาการจะหายเป็นปกติได้ภายในไม่กี่วัน การรับสัมผัสความเข้มข้นสูงในพื้นที่ปิด ทำให้เกิดปอดบวมได้ เคยมีการศึกษาในผู้ประกอบอาชีพที่รับสัมผัสสารสไตรีน ในประเทศตรุกี พบว่ามีอาการสัมพันธ์กับอาการหอบหืด และหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ส่วนผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีอาการคล้ายกับการเมาสุรา เช่น วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง เพลีย คลื่นไส้ อาเจียน สับสน พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อไม่ประสานกัน หากรับสัมผัสที่ความเข้มข้น 100 ส่วนในล้านส่วน จะมีระคายเคืองเยื่อบุ เซื่องซึม คลื่นไส้ กล้ามเนื้อไม่ประสานกัน สูญเสียความทรงจำ คลื่นสมองผิดปกติไป ความรู้สึกบกพร่อง ผลกระทบต่อตับและไต จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการรับสัมผัสสารสไตรีนความเข้มข้นสูงๆทำให้ตับไต ถูกทำลาย แต่ยังไม่สรุปผลการศึกษาในมนุษย์
2) ผลกระทบแบบเรื้อรัง การรับสัมผัสสารความเข้มข้นต่ำ ระยะเวลานาน ทำให้มีสูญเสียการได้ยินได้ เคยพบการศึกษาในผู้ประกอบอาชีพโรงงานพลาสติก ประเทศอิตาลี กลุ่มรับสัมผัส ระดับการได้ยินต่ำกว่ากลุ่มควบคุม เนื่องจากเซลล์ขน (Hair cell) ในหูชั้นในถูกทำลาย ผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ จากการศึกษาในหนูทดลองที่รับสัมผัสสารสไตรีน พบว่าสามารถลดคุณภาพของอสุจิได้ เช่น การเคลื่อนไหว จำนวน รูปร่าง ที่ความเข้มข้น 250-300 ส่วนในล้านส่วน จะมีผลกระทบในการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ สามารถดูดซึมผ่านเข้าไปที่น้ำนมมารดาได้ .ในแง่ของการเกิดมะเร็ง มีข้อจำกัดของหลักฐานที่จะระบุว่าสารสไตรีนเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองทางปาก โดยหน่วยงาน IARC จำแนกว่าเป็นสารกลุ่ม 2B หรืออาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Possibly carcinogenic to humans)
การดำเนินงานทางอาชีวอนามัย ขอสรุปสั้นๆในแง่ของการดูแลสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอากาศ เพื่อประเมินการรับสัมผัสสารสไตรีนในอากาศและเทียบกับค่ามาตรฐาน โดยค่าขีดจํากัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทํางานปกติ เท่ากับ 100 ส่วนในล้านส่วน (ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 2560) ส่วนมาตรฐานของสำนักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (OSHA, PEL-TWA) เท่ากับ 50 ส่วนในล้านส่วน ควรป้องกันสุขภาพลูกจ้างจากการรับสัมผัสสารสไตรีน โดยควบคุมสารสไตรีนให้อยู่ในระดับมาตรฐาน มีการควบคุมทางวิศวกรรม เช่น การระบายอากาศ เปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงาน .ปิดฝาภาชนะให้สนิท เก็บในพื้นที่เย็น ไม่อยู่กลางแดด หรือ ใกล้สารไวไฟ แยกปฏิบัติงานให้อยู่ในพื้นที่แยกเฉพาะ
การดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ควรให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและผลกระทบของสารสไตรีนต่อสุขภาพ และหามาตรการในการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญในการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ การไม่สูบบุหรี่ในสถานที่ทำงาน ประสานงานกับแพทย์เพื่อเข้ามาตรวจร่างกายผู้ประกอบอาชีพประจำปี มีการติดตามทางชีวภาพ ปกติสารสไตรีนส่วนใหญ่จะถูกขับออกจากร่างกายในรูปกรดแมนเดลิก (Mandelic acid) (ถึง 90%) และกรดฟีนิลไกลออกซีลิก (Phenylglyoxylic acid) (10%) ในปัสสาวะ นิยมใช้ในประเมินทางชีวภาพเพื่อประเมินการรับสัมผัสสารสไตรีน โดยค่ามาตรฐาน คือระดับกรดแมนเดลิก (Mandelic acid) และกรดฟีนิวไกลออกซีลิก (Phenylglyoxylic acid) ในปัสสาวะ เท่ากับ 400 มก. มก./ครีเอตินีน ระดับสไตรีนในปัสสาวะ (Styrene in urine) เท่ากับ 40 ไมโครกรัมต่อลิตร เก็บตัวอย่างปัสสาวะช่วงสิ้นสุดกะ (BEI ACGIH, 2021) นอกจากนั้น แพทย์มักประเมินการทำหน้าที่ของตับ โดยตรวจเอนไซม์ภายในตับ การตรวจเลือดเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด อาจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยกว่าปกติ ตรวจภาพรังสีทรวงอก ตรวจสมรรถภาพปอด เป็นต้น
การปฐมพยาบาล ควรทำการปฐมพยาบาลผู้รับสัมผัสสารสไตรีนอย่างเหมาะสม 1) ทางการหายใจ ให้เคลื่อนย้ายกลุ่มเสี่ยงออกไปจากพื้นที่เสี่ยง ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หากหยุดหายใจให้ช่วยผายปอด รีบนำส่งโรงพยาบาล หากหายใจลำบากให้ออกซิเจน 2). ทางปาก ให้ล้างทำความสะอาดปาก ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน ควรให้ดื่มน้ำเพื่อชะลอการดูดซึม แล้วรีบนำส่งแพทย์ 3) ทางผิวหนัง ควรถอดเสื้อผ้าที่เปียกสารเคมีออกให้เร็วที่สุด ภายหลังการรับสัมผัสที่ตา ควรชำระล้างด้วยน้ำปริมาณมากและล้างที่ผิวหนังออกด้วยน้ำและสบู่ และ 4) ทางตา ให้ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำปริมาณมากนาน 15 นาทีและรีบนำส่งโรงพยาบาล
สรุป สไตรีน ใช้เป็นสารตัวทำละลายในกระบวนการผลิตโพลีเมอร์ การรับสัมผัสความเข้มข้นสูงมากๆจะทำให้ระคายเคืองตา จมูก คอ ปอด ผิวหนัง ระบบประสาทส่วนกลาง ปัจจุบันยังไม่หลักฐานชัดเจนว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ การดำเนินงานทางอาชีวอนามัย เช่น การเก็บตัวอย่างอากาศ จัดหาให้ผู้ประกอบอาชีพสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้เหมาะสม ผู้ประกอบอาชีพได้รับตรวจร่างกาย ประจำปี และมีการติดตามทางชีวภาพ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก. (2560). พิษสารเคมีรู้ทันป้องกันได้ ปรับปรุงครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. กรุงเทพฯ