ความเสียหายที่ป้องกันได้ หากไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ใต้ดิน

เผยแพร่เมื่อ: 12/07/2564
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
                HSSE Manager
                บริษัท  อาร์ทิเลีย คอร์เนอร์สโตน จำกัด...,

 

เรื่อง ความเสียหายที่ป้องกันได้ หากไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ใต้ดิน

 

          หลายครั้งที่เราเคยอ่านเจอข่าวการขุดดินไปโดนท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ ท่อไฟ หรือ ท่อสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดินแตกเสียหาย แต่เราอาจจะคิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว  แต่ถ้าถามว่าในที่นี้มีใครเคยเกิดปัญหาท่อประปาแถวๆบ้านแตก จนมีน้ำไหลท่วมบนถนน หรือทำให้น้ำประปาที่บ้านของท่านไม่ไหลเพราะท่อหลักขนาดใหญ่ (main) แตกเสียหาย และต้องรอให้การประปามาซ่อม เสียเวลาไปครึ่งค่อนวัน ทั้งเพิ่มปัญหาการจราจรให้ติดขัด และยังทำให้ไม่สามารถใช้น้ำประปาได้  ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ผมเชื่อว่าหลายท่านต้องเคยเจอในชีวิตมามากกว่า 1 ครั้งอย่างแน่นอน

          เราลองมาติดตามอ่านกันครับ ว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  และหากไม่ให้ความสำคัญ ความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจไม่ใช่แค่รถติด หรือไม่มีน้ำใช้ หากท่อที่อยู่ใต้ดินนั้นไม่ใช่ท่อประปา แต่เป็นท่อน้ำมัน ท่อแก๊ส ท่อสายไฟฟ้า หรือท่อสายสัญญาณต่างๆในย่านธุรกิจใหญ่ๆ

 

*เครดิตภาพข่าวจากเวปไซต์ : www.komchadluek.net

           แน่นอนว่างานขุดดิน เป็นกิจกรรมลำดับต้นๆ และแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในงานก่อสร้าง แต่เราก็มีวิธีในการป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย และความเสียหายจากการขุดดินไปโดนท่อและระบบสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดินได้ ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุที่เกิดขึ้นมักเกิดจากผู้รับเหมาใช้รถขุดดิน (Excavator) ขุดดินในบริเวณที่ไม่ได้ตรวจสอบ หรือประเมินก่อนว่าจะมีท่อหรือระบบสายสัญญาณอยู่ติดินหรือไม่ หรือในบางกรณีก็ทราบดี แต่ก็ชะล่าใจคิดว่าไม่คงเป็นไร

           ทั้งนี้วิธีการที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นสามารถป้องกันได้หลายวิธี หรือถ้าจะใช้หลายๆวิธีร่วมกันก็จะยิ่งลดความเสี่ยงลงได้อีกมาก ดังนี้
                      1. 
ศึกษาแบบ As Build Drawing ก่อนกำหนดพื้นที่ขุดดิน  สำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยทั่วไปจะมีแบบก่อสร้างที่เรียกว่า As build drawing ซึ่งเป็นแบบที่บอกถึงการก่อสร้างจริงๆของผู้รับเหมา ว่ามีอาคาร โครงสร้าง และระบบท่อต่างๆ ทั้งในอาคาร บนดิน และใต้ดินบริเวณใดบ้าง ซึ่งเราสามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผน และกำหนดบริเวณที่จะทำการขุดดิน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปทำลายระบบท่อใต้ดินนั้นๆ  หรือวางแผนให้มีการรื้อทิ้ง หรืออาจใช้วิธีใส่อุปกรณ์ครอบป้องกันไม่ให้เครื่องจักรที่ช้ในการขุดดินไปทำลายระบบท่อและสายสัญญาณเหล่านั้น
                      2. 
ใช้เครื่องตรวจจับ (Scan) ระบบท่อ และสายสัญญาณใต้ดิน  วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ไม่มี As build drawing หรือไม่มั่นใจว่าในพื้นที่ที่จะทำการขุดอาจมีระบบท่อหรือสายสัญญาณใต้ดินที่อาจมีการวางท่อ เดินระบบภายหลัง และไม่ได้ทำการปรับแก้แบบ ให้เป็นปัจจุบัน หรือ ทราบว่าบริเวณที่ต้องการขุดอยู่ใกล้กับระบบท่อที่มีอันตราย เช่น ท่อแก๊ส ท่อน้ำมัน ก็ควรใช้วิธีนี้ร่วมด้วยกับวิธีแรก เพื่อลดความเสี่ยงของอันตรายและความเสียหายที่รุนแรง โดยอุปกรณ์ที่ใช้จะตรวจจับโดยใช้หลักการของคลื่นสะท้อน ซึ่งผู้ที่ใช้เครื่องตรวจจับนี้ ต้องมีความชำนาญและเชี่ยวชาญอย่างสูงในการอ่านค่า และแปรผล
                      3. 
ใช้แรงงานคนในการขุดดินแทนการใช้เครื่องจักร ในบางกรณีด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้ 2 วิธีข้างต้นได้ ก็ยังมีอีก 1 วิธีที่สามารถใช้เพื่อป้องกันความเสียหายจากการใช้เครื่องจักรขุดดินไปโดนระบบท่อและสายสัญญาณใต้ดินได้เช่นกัน นั้นคือ หลังจากที่ใช้เครื่องจักรทุบและรื้อพื้นคอนกรีตออกแล้ว ให้ใช้แรงงานคนขุดดินแทนการใช้เครื่องจักร โดยอาจสุ่มขุดเป็นจุดต่างๆ ตามแนวที่คาดว่าอ่าจจะมีท่ออยู่ใต้ดิน เพราะด้วยแรงของคนที่ใช้จอบ/เสียมในการขุดดิน จะไม่มากพอที่จะตัดขากทำลายท่อน้ำมัน ท่อแก๊ส หรือท่อสายไฟที่อยู่ใต้ดินให้ขาดในทันที (ต่างจากการใช้เครื่องจักร ซึ่งสามารถตัดขาดท่อใต้ดินได้ในการขุดลงไปแค่ครั้งเดียว)
                      4. 
สังเกตุป้ายและสัญลักษณ์  ตามปกติแล้วการเดินท่อและระบบสายสัญญาณใต้ดินมักจะมีการทำสัญลักษณ์เป็นตัวอักษร ลงบนพื้นคอนกรีต (เช่น สัญลักษณ์รูปตัว E ย่อมาจาก Electrical หมายถึงท่อไฟฟ้า,  สัญลักษณ์ตัว A ย่อมาจาก Automation หมายถึงท่อสายสัญญาณ)  และการติดป้ายบอกให้รู้ เช่น ป้ายเตือนแนวท่อก๊าซ ดังนั้นผู้รับเหมาที่จะทำการขุดดินต้องช่างสังเกตุ และทราบความหมายและตำแหน่งของท่อและสัญลักษณ์นั้นให้ถูกต้องด้วย
                      5. 
การใช้ชีทไพล์ตอกลงดิน เพื่อกั้นพื้นที่ที่จะทำการขุดและป้องกันดินสไลด์/ถล่ม หรือทรุดตัว ในบางกรณีการขุดดินลึกที่ไม่มีการป้องกันดินถล่มตามหลักวิศวกรรม ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ดินพื้นที่ในบริเวณใกล้ๆบ่อที่ทำการขุดเกิดการยุบ ทรุดตัว สไลด์ หรือถล่ม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง หรือระบบท่อและสายสัญญาณที่อยู้ในบริเวณข้างเคียงได้เช่นกัน ทั้งนี้ในการใช้ชีทไพล์ที่ถูกต้อง ต้องมีการเจาะสำรวจดิน และมีการคำนวน เพื่อกำหนดความยาวและขนาดที่เหมาะสมของการใช้ชีทไพล์ (หรือระบบการป้องกันดินถล่มด้วยวิธีการอื่นๆ)
                      6. 
ทักษะความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ของผู้ควมคุมเครื่องจักร ที่ใช้ในการขุดดิน ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ไม่อาจปล่อยปะละเลยไม่สนใจ เพราะหากผู้ที่ควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ขุดดินขาดทักษะความชำนาญในการขุดดิน หรือร่างกายไม่พร้อม ก็อาจทำให้การบังคับเครื่องจักรไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน นั้นจึงเป็นที่มาของการจัดฝึกอบรม ตรวจสอบใบประกาศนียบัตรว่าผ่านการอบรมการบังคับควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ขุดดิน และการพูดคุยซักถามก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติงาน

           นอกจากการมาตรการป้องกันและการตรวจสอบก่อนเริ่มทำการขุดดินแล้ว ก็ควรมีการวางแผน และฝึกซ้อมแผนฉุกเฉิน และกู้ภัยในกรณีที่มีการขุดดินไปทำลายระบบท่อและสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง หรือความเสียหายที่มีมูลค่าสูง  เช่น การจัดเตรียมอุปกรณ์และผู้ปฐมพยาบาล เบอร์โทรฉุกเฉิน และข้อมูลติดต่อช่างไฟฟ้า ช่างประปา หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบท่อและสายสัญญาณเหล่านั้นเพื่อความรวดเร็วในการแก้ไข และระงับเหตุการณ์ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายที่รุนแรง

 

 

           ที่มาของข่าวที่เกี่ยวข้อง
                      
1. ท่อประปาแตกปิดสี่แยกราชปรารภ https://www.komchadluek.net/news/crime/170609
                      
2. ขุดท่อใต้ดิน วางสายไฟฟ้า ทำประปาพุ่ง น้ำท่วมรถติด https://www.thairath.co.th/content/376747
                      3. 
รถขุดเจาะถนนสหรัฐฯ พลาดโดนท่อแก๊สใต้ดินระเบิด ทำตึกไฟไหม้พังถล่ม https://ch3plus.com/news/category/141862
                      4. เจาะ
สายไฟฟ้าลงดิน โดนท่อเมนประปาแตก ทำถนนปากทางเข้าพัทยายวบ ต้องปิดการจราจร
                          
https://www.postthailandnews.com/11429

Visitors: 415,065