บทที่ 2 นโยบายความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ:  01/08/2564....,
เขียนโดย คุณวีระ ซื่อสุวรรณ
               ที่ปรึกษาและวิทยากรอิสระ
...,

 

 

บทที่ 2 นโยบายความปลอดภัย

          ว.ทิน ถูกเรียกเข้ามาร่วมประชุมด่วน เนื่องจากมีปัญหาสำคัญ คือ ถังปฏิกิริยาทรงกระบอก ใบหนึ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร สูง 5 เมตร พบว่ามีปัญหาสำคัญ จากการที่แผนกประกันคุณภาพ QA เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ พบว่าในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวนั้น มีค่าเหล็กสูงเกินค่าที่กำหนด ทำให้มีผลต่อผลิตภัณฑ์ได้ พิจารณาแล้วเกิดข้อสงสัยว่า อาจมีสาเหตุมาจาก มีเศษโลหะปนเปื้อนเข้าไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นชิ้นส่วนสำคัญภายใน แตกหักและตกอยู่บริเวณก้นของถังใบนี้

          ระหว่างการประชุมนั้น ผู้จัดการโรงงานเป็นประธานและคณะทำงานผู้เกี่ยวข้อง 7-8 คน มีทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายความปลอดภัย ฝ่ายคุณภาพ และฝ่ายเทคนิควิศวกรรม โดยฝ่ายคุณภาพ ได้รายงานสิ่งที่พบ หากผลิตภัณฑ์ที่มีโลหะหนักเกิน ก็มีผลต่อลูกค้า สินค้าที่ผลิตได้ Off-Spec.เกิดความเสียต่อความน่าเชื่อถือทั้ง Lot

 

          ฝ่ายผลิตแจ้งปัญหาว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ มีค่าปริมาณของโลหะเกินกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้พวกเขาสงสัยว่า ถังใบนี้ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี อาจเกิดการกัดกร่อนที่ทำให้เศษโลหะหนักผุกร่อนเป็นก้อนตกอยู่ภายในถังปฏิกิริยาใบนี้ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งหยุดการทำงานของถังปฏิกิริยาใบนี้แล้ว และสูบถ่ายสารเคมีที่อยู่ในถังออกหมด เพื่อป้องกันการติดไฟหรือระเบิด เนื่องจากเป็นไอของสารประกอบของปิโตรเลี่ยมที่ติดไฟได้จึงเติมไนโตรเจนเข้าไปแทนที่ในถังจนเต็ม

 

          จากนั้น ที่ได้วางแผนไว้ตอนนี้ ก็คือ จำเป็นต้องส่งคนเข้าไปสำรวจดูในถังปฏิกิริยา ในขณะที่มีในบรรยากาศมีไนโตรเจน 100% โดยฝ่ายผลิตมีแผนปฏิบัติการคือ ต้องการขออนุญาตส่งผู้รับเหมาจำนวน 2 คน นำไฟฉายกันระเบิด เข้าไปสำรวจภายในถัง แม้ว่าจะมีอันตรายสูง แต่ทว่ามันคุ้มค่าความเสี่ยง

 

          ฝ่ายความปลอดภัย ไม่เห็นด้วย กล่าวแย้งว่างานนี้อันตรายสูงมาก เป็นที่อับอากาศด้วย หากผู้รับเหมาสูดเอาไนโตรเจนเข้าไป หมดสติทันที และตายได้ถ้าเอาตัวออกมาไม่ทันเวลา แม้ว่าจะใช้ถังอากาศช่วยหายใจชนิดติดตัว (SCBA: Self-Contained Breathing Apparatus) หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เช่น หน้ากากหลุด ลื่นล้ม เดินชนท่อภายใน ฝ่ายความปลอดภัยไม่เห็นด้วย มันไม่คุ้มค่า ทำไม เราต้องเสี่ยงส่งคนเข้าไป ควรพิจารณาหาทางเลือกอื่น

 

          ฝ่ายผลิตยังย้ำ ชี้แจงว่า หากต้องรอระบายไนโตรเจนออกจนหมด จะสูญเสียเวลารอไปประมาณ 2 วัน อีกทั้งต้องเป่าออก ต้องวัดปริมาณออกซิเจนอีก แม้ว่าเวลาเพียง 2 วัน แต่มันทำให้สูญเสียเวลาผลิต หากคิดเป็นเงิน มีค่าความสูญเสียเกือบสองล้านบาท นี้จึงคุ้มค่าความเสี่ยง ถ้าเข้าสำรวจแล้วไม่มีปัญหา ก็สามารถเดินเครื่องได้ทันที ประหยัดเงิน 2 ล้านบาท เห็น ๆ

          ฝ่ายซ่อมบำรุง ร่วมในที่ประชุม แต่ไม่ได้เสนอความคิดเห็น แม้ว่าเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงของผู้รับเหมา

          ฝ่ายความปลอดภัย เสนอว่า ถ้าพวกคุณเอาจริงและ ยอมเสี่ยง ใจร้อนจริงๆ ก็สามารถออกแบบได้ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นได้ โดยใช้ผู้รับเหมาสองคนที่มีความชำนาญเข้าไปได้ ต้องสวมใส่ชุดช่วยหายใจชนิดถังอากาศติดตัว(SCBA) ไฟส่องสว่าง เชือกนิรภัย โดยให้มุดเข้าไปทางด้านข้างถัง ซึ่งปลอดภัยกว่าโรยตัวลงไปทางฝาด้านบน ต้องเตรียมพร้อมทีมฉุกเฉินพร้อม SCBA อีกสองชุด และทีมปฐมพยาบาลเฝ้าด้านนอก ดึงตัวออกมาได้ทันที หากไม่หายใจต้องทำ CPR ความรู้และอุปกรณ์เหล่านี้ ฝ่ายความปลอดภัยจัดเตรียมได้

          ทั้งนี้ ต้องยอมรับความเสี่ยง หากเกิดพลาดลื่นล้ม หมดสติ แล้วดึงตัวคนออกมาไม่ได้ก็อันตรายยิ่งขึ้น จากการส่งคนอีกสองคนเข้าไปช่วยนำออกมา ส่วนหนึ่งก็ยังมั่นใจว่าทีมกู้ภัยสามารถทำได้อยู่ ต้องรีบตัดสินใจตอนนี้เลย เพื่อออกใบอนุญาตทำงานที่อับอากาศก่อน จะได้ไม่เสียเวลา เตรียมการประมาณ หนึ่งชั่วโมงก็น่าจะพร้อม

          ผู้จัดการโรงงานจึงหันมาถามทินว่า คุณคิดอย่างไร ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่และอุปกรณ์ตัวนี้ ผมให้เป็นอำนาจคุณ ในการตัดสินใจครั้งนี้

          ทิน หยุดคิดครู่หนึ่ง ก่อนกล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องของระดับนโยบาย” ครับ

          ผู้จัดการโรงงาน ที่เป็นประธานในที่ประชุม กล่าวว่า "นโยบายบริษัทของเราชัดเจน คือ ปลอดภัยไว้ก่อน" จากนั้นท่านก็เดินออกไปจากห้องประชุมไป

          สรุป ไม่อนุญาตให้ส่งผู้รับเหมาเข้าไปในที่อับอากาศ จึงทำการเป่าไล่ไนโตรเจนให้ระบายออกจนหมด ประมาณ 2 วัน วัดปริมาณออกซิเจนได้มากกว่า 19% ติดตั้งพัดลมเสร็จ จึงส่งพนักงานเข้าไปดูพบว่ามีเศษโลหะอยู่จริง ต้องหยุดทำการซ่อมอีกหลายวัน จึงเริ่มการผลิตต่อไปได้

 

          เล่าโดย วีระ เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องสมมติ

          “นโยบายความปลอดภัย Safety First มิได้มีไว้เป็นป้ายประดับ หรือมีไว้ เพื่อให้เหมือนกับโรงงานอื่น”

          “ไม่มีสิ่งใดคุ้มค่า หากต้องสั่งให้เอาชีวิตคนไปเสี่ยง เพราะไม่มีใครสามารถรับผิดชอบชีวิตของใครได้”

          “U.S. Steel กำหนดนโยบายหลักหรือปรัชญานำ ในการบริหารด้วย “Safety First” ตั้งแต่ คศ.1912 คือ พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยทุกวัน ด้วยความร่วมมือและขีดความสามารถของทุกคน”

 

Visitors: 419,961