NIOSH Total Worker Health Series, EP.1
เผยแพร่เมื่อ: 03/07/2564....,
เขียนโดย อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย...,
เรื่อง NIOSH Total Worker Health
ความหมาย NIOSH Total Worker Health เป็นการดูแลสุขภาพคนทำงานในลักษณะบูรณาการแบบองค์รวม ผ่านทางการออกแนวปฏิบัติป้องกันสิ่งคุกคามทางอุบัติเหตุ (safety hazards) และ สิ่งคุกคามทางสุขภาพ (health hazards) ร่วมกับ การส่งเสริมป้องกันการเกิดโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยมีเป้าหมายให้สถานทำงานมีความปลอดภัย (hazard-free work environment) พนักงานขององค์กรมีสุขภาวะที่ดี (healthy well-being) และ เกิดผลิตภาพในการทำงานสูงสุด (productivity)
NIOSH Total Worker Health มีแนวคิดใหม่ ๆ แตกต่างจากแนวคิดเดิมของสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่เน้นกระบวนการทำให้สถานทำงานมีความปลอดภัย (hazard-free work environment) โดย NIOSH Total Worker Health จะเน้นเพิ่มสุขภาวะของพนักงาน (healthy well-being) ภายใต้สถานทำงานปลอดภัย บนแนวคิดว่า งาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยกำหนดสภาวะทางสุขภาพ (a social determinant of health) กล่าวคือ งาน สัมพันธ์กับมิติทางเศรษฐกิจสังคม เช่น ค่าแรง จำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า สวัสดิการรักษาพยาบาล ความมั่นคงของฐานะการเงินครอบครัว การจ้างงานชุมชน
แบบสำรวจ NIOSH Worker Well-Being Questionnaire (NIOSH WellBQ) อยู่ภายใต้หลักการ NIOSH Total Worker Health และเป็นแบบสำรวจที่สร้างจากการบูรณาการสุขภาวะในทุกมิติของพนักงานองค์กร ทั้ง ความปลอดภัยในการทำงาน คุณภาพชีวิตการทำงาน สุขภาพกายและสุขภาพใจ นอกเหนือจากการมุ่งเน้นให้เกิดสถานทำงานปลอดภัย (hazard-free work environment) แบบสำรวจประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่
1. ลักษณะงาน และประสบการณ์ทำงาน (Work Evaluation and Experience)
2. นโยบาย และวัฒนธรรมองค์กร (Workplace Policies and Culture)
3. สิ่งแวดล้อมของสถานทำงาน และวัฒนธรรมความปลอดภัยของสถานทำงาน (Workplace Physical Environment and Safety Climate)
4. โรคประจำตัว (Health Status)
5. ปัจจัยทางครอบครัว ชุมชน และสังคม (Home, Commmunity, Society)
สำหรับรายละเอียดแบบสำรวจแต่ละหัวข้อ จะกล่าวถึงในบทต่อไป