Introduction & Life Saving Rules

เผยแพร่เมื่อ:  05/07/2564....,
เขียนโดย คุณจีรวัฒน์ เจริญผล
               ผู้จัดการทั่วไป แผนกความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
               บริษัทไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด
...,

เรื่อง Introduction & Life Saving Rules

          สวัสดีอาจารย์ พี่ ๆ เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ทุกท่าน ในซีรีส์นี้ผมได้รับเกียรติจากท่านนายกสมาคม ส.อ.ป. ท่านอาจารย์ รศ. สราวุธ สุธรรมาสา ที่ให้โอกาสได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

          เบื้องต้นผมขออนุญาตแนะนำตัวเองให้ทุกท่าได้รู้จักกันก่อน เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้รับเกียรติและโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ให้ทุกท่านทราบ ผมชื่อจีรวัฒน์ เจริญผล จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา และจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสาธารณสุขศาตร์บัณฑิต (อาชีวอนามัยและความปลอดภัย) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ......ทุกท่านอ่านไม่ผิดครับ ผมเรียนจบพยาบาลและได้ปฏิบัติงานด้านงานพยาบาลในโรงพยาบาล แผนกฉุกเฉิน และงานด้านพยาบาลอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเต็มตัว โดยได้มีโอกาสไปปฏิบัติงานเป็นพยาบาลและเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในบริษัทสร้างแท่นผลิตก๊าซและน้ำมันนอกชายฝั่ง บริษัทสร้างระบบท่อของโรงแยกก๊าซ และปฏิบัติงานบนแท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน

          ในซีรีส์มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ งานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ผมมีแผนแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยบทความแรก ผมขอเรียกเป็น EP.1 ซึ่งจะขอกล่าวถึงภาพรวมและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมันให้ได้ทราบและเรียนรู้ไปด้วยกันนะครับ

          โดยปกติแล้วเราจะได้ยินเรื่องราวที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในงานก่อสร้างกันบ่อยครั้ง ทั้งในการอบรม สัมนา ข่าว แม้กระทั่งในโลกโซเชียล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างอาคาร ตึก โรงงาน สะพาน ถนน หรือโครงสร้างเหล็กต่าง ๆ แต่สําหรับในการนำเสนอบทความจะกล่าวถึงงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพที่สูงเป็นสิ่งสำคัญโดยถือว่า Safety is Essential หรือ Safety is License to Operate มาตรฐานสากลที่อุตสาหกรรมนี้ใช้สำหรับการอ้างอิงและเป็นแนวทางการปฏิบัตินั้นมีส่วนคล้ายกับที่เราใช้อยู่เป็นประจำ เช่น OHSA, NIOSH, NFPA เป็นต้น

          ในส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน คือ  IOGP - International Association of Oil & Gas Producers สมาคมผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันนานาชาติ เป็นองกรค์ระดับสากลของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่สมาชิกในประเทศต่าง ๆ ได้มีการระบุและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดการปรับปรุงด้านความปลอดภัย, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม, ความมั่นคง, ความรับผิดชอบต่อสังคม, ด้านวิศวกรรมและการดำเนินงาน รวมถึงได้มีการรวบรวมสถิติด้านความปลอดภัยและสุขภาพ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และเป็นแนวทางในประยุกต์ใช้ ปรับปรุงและแก้ไข เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพในการดำเนินงานของแต่ละองค์กรได้ หลายบริษัทมีกฎความปลอดภัยเฉพาะของตนเองโดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปให้จดจำได้ง่ายและเหมาะสมกับลักษณะของกิจกรรมที่ดำเนินงาน

          หนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ IOGP ที่ผมได้รู้จักและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน คือ กฎรักษ์ชีวิต (Life-Saving Rules) ที่ไปที่มาของกฎรักษ์ชีวิต ก็คือสถิติการเกิดอุบัติตุขั้นเสียชีวิตและขั้นรุนแรงอื่น ว่ามีสาเหตุมาจากกิจกรรมใดบ้างที่เกี่ยวข้อง และนำมาจัดทำเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเป้าหมายหลักของกฎรักษ์ชีวิต มีดังนี้
                    
- หลักเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการบาดเจ็บร้ายแรงในกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง
                    - 
ให้ความสนใจและเน้นไปที่การปฏิบัติงานและกิจกรรมที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตและการบาดเจ็บร้ายแรง
                    - 
ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้จัดการกับความเสี่ยงและอันตรายในการปฏิบัติงานทั้งหมด ดังนั้นมาตรการด้านความปลอดภัย อื่น ๆ ยังจำเป็นเพื่อใช้จัดการความเสี่ยงและอันตรายที่เกี่ยวข้อง
                    - 
มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนสามารถจัดการและควบคุมได้ด้วยตนเองเป็นลำดับสำคัญ
                    - 
กฎมีความสอดคล้องกับระบบจัดการด้านความปลอดภัยและสุขภาพที่มีการใช้งานอยู่

          กฎรักษ์ชีวิต (Life-Saving Rules) ประกอบด้วย 9 กฎ ดังนี้

          การนำกฎรักษ์ชีวิตไปปฏิบัติ หรือประยุกต์ใช้มีวิธีการหลัก 6 ประการดังต่อไปนี้

 

 

          สำหรับเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขภาพในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ที่ผมมีประสบการณ์ในการนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง และได้นำมาแบ่งปันเป็นมาตรฐานแรก ได้แก่ กฎรักษ์ชีวิต 9 ข้อ จากสมาคมผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันนานาชาติ (IOGP) ซึ่งสามารถเห็นถึงการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงได้จริง จากสถิติด้านความปลอดภัยและอุบัติเหตุ พบว่าระดับความรุนแรงและจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นอยู่ เนื่องด้วยปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งผมจะได้พูดคุยและแบ่งปันใน EP ต่อไป ครับ

          ถึงตอนสุดท้ายของ EP.1 ไม่ทราบว่าท่านใดมีประสบการณ์หรือได้เคยนำไปประยุกต์ใช้กฎรักษ์ชีวิตบ้างหรือไม่และได้ผลเป็นอย่างไร รวมถึงมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติอื่นที่คล้ายกันนี้ ขอร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ร่วมกันให้คำแนะนำ และเสนอแนะด้วยครับ.........โปรดติดตามและพบกันใน EP.2 ในเดือนต่อไป

Visitors: 415,522