คำแนะนำสำหรับการออกแบบสถานีงานสำหรับงานที่ต้องยืนทำงานตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ: 08/04/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม 
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง คำแนะนำสำหรับการออกแบบสถานีงานสำหรับงานที่ต้องยืนทำงานตามหลักการยศาสตร์ 

          จาก EP 11 ได้กล่าวถึงการนั่งทำงานและการออกแบบเก้าอี้นั่งที่ดีตามหลักการยศาสตร์ ไปแล้วนั้น ใน EP นี้จึงจะกล่าวถึงลักษณะการทำงานที่ต้องยืนทำงานบ้าง ซึ่งการยืนทำงานตลอดทั้งวัน ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของหลังและขาหากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องยืนเป็นเวลานาน เนื่องจากการยืนทำงานเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการปวดหลัง ขาบวม มีปัญหาการไหลเวียนของโลหิต ปวดเท้าและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อดังนั้นคำแนะนำสำหรับงานที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการให้ผู้ปฏิบัติงานยืนทำงาน มีดังนี้
                    
1) หากงานที่ทำเป็นงานที่ต้องยืน ควรจัดให้มีเก้าอี้หรือที่นั่งเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้นั่งพักในระหว่างช่วงพัก
                    
2) ผู้ปฏิบัติงานควรทำงานโดยให้แขนส่วนบนอยู่ข้างลำตัว และไม่มีการก้มตัวหรือบิดเอี้ยวตัวมากเกินไป
                    
3) ควรปรับระดับความสูงของพื้นหน้างานให้เหมาะกับผู้ปฏิบัติงานที่มีความสูงไม่เท่ากันและลักษณะงานที่แตกต่างกัน
                    4
) หากพื้นหน้างานไม่สามารถปรับระดับความสูงได้ สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีรูปร่างสูงควรจัดทำแท่นรอง เพื่อยกวางชิ้นงานให้สูงขึ้น สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีรูปร่างเตี้ย ควรจัดทำยกพื้นให้ยืนเพื่อให้มีความสูงเหมาะกับงานที่ทำ
                    
5) ควรจัดมีที่วางพักเท้า เพื่อลดความเครียดที่มีต่อหลัง และให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปรับเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางได้ การสลับสับเปลี่ยนน้ำหนักในการยืนเป็นครั้งคราว จะสามารถช่วยลดความเครียดที่บริเวณหลังและขา
                    
6) ควรจัดให้มีแผ่นรองปูพื้น เพื่อที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้ไม่ต้องยืนบนพื้นที่แข็งกระด้าง พื้นคอนกรีตหรือโลหะ ควรปูด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่น พื้นความสะอาด ได้ระดับ และไม่ลื่น
                    
7) ผู้ปฏิบัติงานที่ยืนทำงานควรสวมรองเท้าที่มีส้นเตี้ยและมีที่พยุงบริเวณที่เป็นส่วนโค้งของเท้า
                    
8) ควรจัดให้มีเนื้อที่ว่างมากพอสำหรับขาและเข่า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปรับเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางการทำงานในขณะยืนทำงานได้
                    
9) ไม่ควรให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเอื้อมไกลในขณะทำงาน ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจึงควรปฏิบัติงานทางด้านหน้าของลำตัวในระยะประมาณ 8 ถึง 12 นิ้ว หรือประมาณ 20 ถึง 30 เซนติเมตร

          ในการพิจารณาระดับความสูงที่เหมาะสมสำหรับพื้นหน้างานนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้
                    
1) ความสูงของข้อศอกของผู้ปฏิบัติงาน
                    
2) ชนิดหรือประเภทของงานที่ต้องปฏิบัติ
                    
3) ขนาดของชิ้นงาน
                    
4) เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้

          คำแนะนำเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ปฏิบัติงานอยู่ในอิยาบถท่าทางที่ดีในการยืนทำงาน มีดังนี้
                    
1) หันหน้าเข้าหางานที่ปฏิบัติ
                    
2) อยู่ใกล้งานที่ปฏิบัติ
                    
3) หันเท้าไปข้างหน้าในทิศทางที่ต้องการไป แทนที่จะบิดเอี้ยวหลังและไหล่

          สำหรับการออกแบบสถานีงานสำหรับงานที่ต้องยืนทำงานตามหลักการยศาสตร์ จึงมีคำแนะนำ ดังนี้
                    
1) หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องยืนทำงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ
                    
2) เมื่อไม่สามารถออกแบบโต๊ะให้สามารถปรับความสูงได้ การออกแบบควรพิจารณาจากคนที่สูงที่สุด
                    
3) เมื่อทำงานที่มีความละเอียด ระดับความสูงของพื้นโต๊ะที่ปฏิบัติงานควรมีความสูงพอที่จะทำให้สามารถมองเห็นชิ้นงานได้อย่างชัดเจน
                    
4) เมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้แรงมาก ความสูงของโต๊ะที่ใช้ต้องต่ำลง
                    
5) ระดับของพื้นผิวปฏิบัติงานที่สูงเกินไป จะส่งผลให้เกิดการยกของหัวไหล่
                    
6) เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงลักษณะงานที่ต้องยืนเป็นเวลานานๆ แนะนำว่าพื้นควรถูกปูด้วยยางหรือพรม เพื่อลดความล้า
                    
7) แผ่นปูพื้นที่ใช้ไม่ควรมีขอบยื่น เพื่อป้องกันอันตรายจากการล้ม
                    
8) การยืนทำงานเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพอนามัย
                    
9) มีปัจจัยการยศาสตร์จำนวนมากที่จะต้องมาพิจารณาในการออกแบบสถานีงานที่ต้องยืนทำงาน
                    
10) ปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ต้องยืนทำงาน คือ ควรแน่ใจว่าผู้ปฏิบัติงานอยู่ในอิริยาบถท่าทางการทำงานที่ดี

          สรุปได้ว่า เก้าอี้ ที่วางพักเท้า แผ่นรองปูพื้น พื้นหน้างานที่ปรับระดับได้ และอิริยาบทท่าทางการทำงานที่ดีล้วนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสถานีงานที่ต้องยืนทำงาน ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1การจัดสถานีงานสำหรับงานที่ต้องยืนทำงานที่เหมาะสม

           ดังนั้นการออกแบบสถานีงานสำหรับงานที่ต้องยืนทำงานและการมีอิริยาบทท่าทางการทำงานที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันมิให้เกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น โรคปวดหลังส่วนล่าง ขาบวม เส้นเลือดขอดที่ขา เป็นต้น สถานีงานสำหรับงานที่ต้องยืนทำงานควรได้รับการการออกแบบเพื่อให้ทั้งผู้ปฏิบัติงานและงานที่ปฏิบัติมีความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความสะดวกสบาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

Visitors: 415,021