การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ: 26/03/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

เรื่อง การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

 

          ในตอนนี้มาพบกับการนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)มาใช้ใน กลุ่มโรงงานประเภทต่างๆ นะคะ

          ก่อนอื่น มาดูความหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียนกันก่อนนะคะ เศรษฐกิจหมุนเวียนหมายถึง ระบบอุตสาหกรรมที่วางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภคโดยจะนำ วัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่กับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอกเชิงลบ เราจึงมักเห็นเศรษฐกิจหมุนเวียนใช้พลังงานทดแทน หรือกำจัดการใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษซึ่งเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่างๆ มาใช้อีกครั้ง รวมถึงการออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจ ในรูปแบบใหม่ที่ต้องต่างไปจากเดิมเพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมในขณะที่ Linear Economy หรือ เศรษฐกิจเส้นตรงจะมีการดึง (take) ทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในจำนวนมหาศาลก่อนจะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการผลิต (make) ขายให้ลูกค้าได้นำไปใช้งาน ซึ่งเมื่อผลิตภัณฑ์หมดประโยชน์แล้วก็ทิ้ง (dispose) กลายเป็นขยะไป ดังแสดงความแตกต่างในภาพ ดังนั้น ภาคเศรษฐกิจจึงต้องปฏิวัติโมเดลธุรกิจ จากขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเส้นตรงมาสู่รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำทรัพยากรใช้แล้วกลับมาผลิตใช้ใหม่เพื่อแก้วิกฤตการขาดแคลนทรัพยากรที่กำลังเกิดขึ้นและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

          การสร้างคุณค่าผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียนมี 4 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
                    
1) การใช้วัสดุภายในวงจร (inner circle) คือ อาจตกแต่งหรือซ่อมแซมผลิตภัณฑ์หรือวัสดุให้ใช้งานยาวนานขึ้น เช่น การซ่อมรถยนต์ เมื่อซ่อมไม่ได้แล้วก็นำชิ้นส่วนไปแต่งหรือประกอบใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อ เป็นการประหยัดวัสดุ พลังงานและแรงงาน
                    
2) การยืดอายุวงจร (circling longer) คือ ยืดอายุของการใช้ซ้ำและช่วงเวลาของแต่ละรอบ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ซ้ำหรือยืดอายุการใช้ผลิตภัณฑ์ออกไป เช่น พลาสติกใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล
                    
3)  การใช้ใหม่ในลำดับต่อ ๆ ไป (cascade) คือ หาวิธีใช้ซ้ำที่หลากหลายในห่วงโซ่อุปทาน หรือใช้ซ้ำข้ามอุตสาหกรรม เช่น ฝ้าย
                    
4) ทำปัจจัยนำเข้าให้บริสุทธิ์ (pure inputs) คือ การปรุงแต่งวัตถุดิบจากธรรมชาติที่จะนำมาให้น้อยที่สุดเพื่อการนำกลับมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คงคุณภาพและยืดอายุให้อยู่ในวงจรนานขึ้น

          เศรษฐกิจหมุนเวียนอาจแบ่งตามกลุ่มวัสดุในระบบได้เป็น 2 แบบ คือ
                    
1) กลุ่มวัสดุชีวภาพ (biological materials)หรือวัสดุที่มาจากสารธรรมชาติ และผ่านกระบวนการที่แทบไม่ปนเปื้อนสารเคมี ทำให้ย่อยสลายคืนสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้ การหมุนเวียนของกลุ่มวัสดุชีวภาพมีตั้งแต่กระบวนการง่าย ๆ เช่น การเอาเศษอาหารเหลือทิ้งจากชีวิตประจำวันไปทำปุ๋ย เพื่อคืนเป็นสารอาหารสู่ดิน หรือการนำไปผลิตไบโอแก๊ส การใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ไปจนถึงการนำวัสดุธรรมชาติมาผ่านกระบวนการเพื่อใช้ใหม่ในลำดับต่อ ๆ ไป เช่น ใยฝ้ายจากต้นฝ้ายใช้ในการผลิตเสื้อผ้า เมื่อไม่ใช้แล้วเสื้อผ้าแล้วก็นำมาใช้ซ้ำเป็นเสื้อผ้ามือสอง ก่อนจะส่งข้ามอุตสาหกรรมไปเป็นเส้นใยใช้บุนวมเฟอร์นิเจอร์ และใช้ซ้ำเป็นฉนวนในการก่อสร้าง ก่อนนำผ่านกระบวนการที่เหมาะสมในการส่งฝ้ายคืนสู่สิ่งแวดล้อม
                    
2) กลุ่มวัสดุทางเทคนิค (technical materials)ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่อาศัยเทคนิคต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนจากโลหะและพลาสติก ที่จะส่งผลเสียหากหลุดสู่ธรรมชาติ จึงต้องมีการออกแบบใหม่ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในระบบปิดโดยไม่ส่งของเสียออกนอกระบบผลิตเศรษฐกิจหมุนเวียนเริ่มเปลี่ยนบทบาทของ ‘ผู้บริโภค’ ให้เป็น ‘ผู้ใช้’ การส่งมอบคุณค่าระหว่างธุรกิจและลูกค้าจะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์มากกว่า ‘การเป็นเจ้าของ’ สิ่งที่จะกลายเป็นขยะในที่สุด โมเดลการทางธุรกิจอาจเปลี่ยนเป็นการเช่าระยะสั้น ระยะยาว หรือการแบ่งปัน (sharing) เช่น ฟิลิปส์ เริ่มเปลี่ยนการขายหลอดไฟ ไปเป็นการให้บริการระบบแสงสว่างที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหลอดไฟ แต่ยังได้คุณค่าเดิม คือ แสงสว่าง ด้วยการเปลี่ยนจากการขายผลิตภัณฑ์ไปเป็นบริการ ฟิลิปส์จึงควบคุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้ เมื่อหลอดไฟหมดอายุ บริษัทจะเก็บหลอดกลับมาแยกวัสดุออกจากกัน และนำไปผ่านกระบวนการเพื่อใช้ผลิตสินค้าต่อไป  ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ก็เริ่มสร้างแรงจูงใจหรือข้อตกลงให้ลูกค้านำสินค้าที่ไม่ใช้แล้วกลับมาส่งคืน เพื่อที่บริษัทจะนำวัสดุเหล่านั้นเข้า ‘ระบบปิด’

          ปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คาดว่านำร่องก่อนใน 5 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
                    1. 
circular design มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน
                    2. 
circular supplies เป็นการนำวัสดุจากการรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ (biobased materials) และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการเกิดของเสีย ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต
                    3. 
product as a service รูปแบบธุรกิจให้บริการเช่าหรือชำระเงินเมื่อมีการใช้งาน (pay for use) แทนการซื้อขาด
                    4. 
sharing platform รูปแบบการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
                    5. 
resource recovery การออกแบบให้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ นำวัตถุดิบเหลือใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกกำจัด แต่ยังสามารถใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด ขณะที่เทคโนโลยีที่มาสนับสนุนการพัฒนารูปแบบธุรกิจข้างต้น ได้แก่ เทคโนโลยีในการบริหารจัดการข้อมูลและการสื่อสาร (digital technologies) เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของวัสดุและพลังงาน (physical technologies) และเทคโนโลยีด้านโครงสร้างทางชีวภาพ (biological technologies) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

          ประเทศไทยมีหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับองค์กรเพื่อพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ การที่ผู้นำธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ของไทยหันมารณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกก็ถือเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่งให้คนไทยตระหนักรู้ถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังเป็นแนวทางให้ธุรกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดย่อมสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ปฏิบัติได้ทันที

          ในตอนหน้า มาพบกับกรณีตัวอย่างเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยและต่างประเทศต่อนะคะ

 

 

Visitors: 414,846