คำแนะนำสำหรับการออกแบบที่นั่งและการเลือกที่นั่งทำงานตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ: 08/03/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม 
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง คำแนะนำสำหรับการออกแบบที่นั่ง

และการเลือกที่นั่งทำงานตามหลักการยศาสตร์ 

          การนั่งตลอดทั้งวัน เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของหลัง ดังนั้นจึงควรมีการทำงานที่หลากหลาย เพื่อผู้ปฏิบัติงานจะได้ไม่ต้องอยู่ในอิริยาบถท่านั่งทำงานแต่เพียงท่าเดียว การจัดให้มีเก้าอี้นั่งที่ดีก็เป็นสิ่งจำเป็นในการนั่งทำงาน ซึ่งควรเป็นเก้าอี้นั่งที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถขยับขาได้ และนั่งทำงานปกติได้อย่างสบายมากขึ้น ดังนั้นสำหรับการออกแบบที่นั่งและการเลือกที่นั่งทำงานตามหลักการยศาสตร์      จึงมีคำแนะนำ ดังนี้
          
1) เก้าอี้นั่งที่ดีควรเป็นไปตามข้อกำหนดทางด้านการยศาสตร์ คือ
                1.1) เก้าอี้นั่งทำงาน ควรมีความเหมาะสมสำหรับงานที่ต้องปฏิบัติ รวมทั้งระดับความสูงของโต๊ะ 

งาน
                
1.2) เก้าอี้นั่งและพนักพิงหลังควรให้สามารถปรับระดับความสูงแยกกันได้ โดยให้พนักพิงหลัง มีความสูงอย่างน้อย 18 เซนติเมตร มีความกว้างอย่างน้อย 33 เซนติเมตร และสามารถปรับความเอียงได้ด้วย 

                1.3) เก้าอี้นั่งควรเป็นแบบที่ให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปรับเอนไปข้างหน้า – หลังได้ง่าย โดยให้พื้นเก้าอี้มีความลาดไปข้างหน้า 1-5 องศา 

                1.4) ควรให้มีเนื้อที่ว่างใต้โต๊ะอย่างเพียงพอสำหรับวางขาของผู้ปฏิบัติงาน และควรให้สามารถขยับขาได้ง่าย 

                1.5) ควรให้เท้าวางราบบนพื้น หากทำไม่ได้ ควรจัดให้มีที่วางพักเท้า ซึ่งที่วางพักเท้าจะช่วยลดแรงกดที่เกิดขึ้นที่ด้านหลังของขาอ่อนและเข่า 

                1.6) เก้าอี้ควรมีพนักพิงหลัง เพื่อพยุงหลังส่วนล่าง 

                1.7) เก้าอี้ควรปรับความสูงได้ เพื่อให้น้ำหนักกระจายตัวได้ดีบริเวณก้นและมากกว่าที่บริเวณต้นขา 

                1.8) ควรมีระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างขอบหน้าของเก้าอี้และด้านหลังของหัวเข่า (5-15 เซนติเมตร) 

                1.9) ด้านหน้าตรงขอบเก้าอี้ควรให้โค้งมนลงเล็กน้อย เพื่อป้องกันการกดและขัดขวางการไหลเวียนเลือดบริเวณต้นขา 

                1.10) เก้าอี้ที่มีลูกล้อ ควรเป็นเก้าอี้ที่มี 5 ขา เพื่อความมั่นคงในการนั่งทำงาน ลดความเสี่ยงต่อการล้ม 

                1.11) ที่วางพักแขน ควรเตรียมไว้ในกรณีที่จำเป็นต้องทำงาน โดยที่แขนอยู่ลักษณะยื่นไปด้านหน้า 

                1.12) ที่วางพักแขนควรถูกหุ้มด้วยวัสดุที่ไม่ลื่น 

                1.13) ที่วางมือควรถูกเตรียมไว้สำหรับงานที่มีความละเอียดและปราณีต เพื่อให้มืออยู่ในลักษณะมั่นคง อยู่นิ่ง 

                1.14) หากเป็นไปได้ ควรให้ที่วางพักแขนสามารถถอดออกได้ เมื่อผู้ปฏิบัติงานพบว่าเกิดความรู้สึกไม่สะดวกสบายเนื่องจากในบางกรณีที่วางพักแขนจะทำให้ผู้ปฎิบัติงานไม่สามารถเข้าใกล้โต๊ะงานได้ 

         ในงานบางอย่าง ที่วางพักแขนจะช่วยลดความเมื่อยล้าของแขนได้ ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 การติดตั้งที่วางพักข้อมือหรือข้อศอก

                1.15) ควรหลีกเลี่ยงการบิดตัวระหว่างการทำงาน ถ้ามีการเคลื่อนไหวด้านข้างบ่อยๆ เก้าอี้ควรถูกออกแบบให้หมุนได้

                1.16) เมื่อความสูงของเก้าอี้ไม่สามารถปรับได้ ควรมีที่วางเท้าเตรียมไว้

                1.17) ที่วางเท้าควรมีลักษณะเอียงขึ้นเล็กน้อย ควรมีพื้นผิวที่กว้างพอที่จะรองรับเท้าได้ ลึกประมาณ 27-30 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร

                1.18) ไม่ควรใช้ที่วางเท้าในลักษณะของแผ่นวัสดุที่มีขนาดเล็กหรือไม่สามารถรองรับพื้นผิวของเท้าได้ทั้งหมด

                1.19) เพื่อให้ท่าทางในการทำงานเป็นไปอย่างเหมาะสม บางครั้งจำเป็นที่ต้องทำการออกแบบความสูงของพื้นโต๊ะให้สามารถปรับได้ด้วย

 

          ดังนั้นการออกแบบที่นั่งและการเลือกที่นั่งทำงานเป็นอย่างดีจะเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันมิให้เกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น โรคปวดหลังส่วนล่าง  ปัญหาการไหลเวียนของโลหิตที่บริเวณขา เป็นต้น รวมทั้งเพื่อให้แน่ใจว่างานที่นั่งปฏิบัตินั้นเป็นงานที่มีประสิทธิภาพ การเลือกเก้าอี้นั่งควรได้รับการการออกแบบเพื่อให้ทั้งผู้ปฏิบัติงานและงานที่ปฏิบัติมีความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความสะดวกสบาย ราบรื่น และมีประสิทธิภาพ ถ้าหากได้มีการออกแบบที่นั่งและการเลือกที่นั่งทำงานเป็นอย่างดี จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติได้ด้วยอิริยาบถท่าทางการทำงานที่ถูกต้องและสะดวกสบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจากอิริยาบถท่าทางการทำงานที่ไม่สะดวกสบาย สามารถก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมาได้

 

 

Visitors: 415,007