กรณีศึกษา: การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย
เผยแพร่เมื่อ: 26/02/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่อง กรณีศึกษา: การพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม
ของประเทศไทย
ในตอนนี้จะได้พบกับตัวอย่างการจัดการของเสียตามหลัก 3Rs ของกลุ่มโรงงานประเภทต่างๆ ต่อไปค่ะ ก่อนอื่นเรามาทบทวนหลัก 3Rs กันก่อนนะคะ
การจัดการ “ของเสีย” ตามหลัก 3Rs หมายถึง การจัดการของเสียที่ให้ความสําคัญในการลดการเกิดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดเป็นลําดับแรก โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาเมื่อเกิดของเสียแล้วต้องพยายามหาแนวทางการนํากลับไปใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์ของของเสียแต่ละประเภทและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหลือของเสียที่จะต้องบําบัดหรือกําจัดในปริมาณน้อยที่สุด โดยเลือกใช้วิธีการกําจัดของเสียเป็นวิธีสุดท้าย
R : Reduce คือ การลดการใช้ การบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง ลองมาสำรวจกันว่า เราจะลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นตรงไหนได้บ้าง โดยเฉพาะการลดการบริโภคทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่ธาตุ ต่าง ๆ และทรัพยากรดิบที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ การลดการใช้นี้ ทำได้ง่าย ๆ โดยการเลือกใช้เท่าที่จำเป็น เช่น ปิดไฟทุกครั้งที่ไม่ใช้งานหรือเปิดเฉพาะจุดที่ใช้งาน ปิดคอมพิวเตอร์และเครื่องปรับอากาศ เมื่อไม่ใช้เป็นเวลานาน ๆ ถอดปลั๊กของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระติกน้ำร้อนออกเมื่อไม่ได้ใช้ เมื่อต้องการเดินทางใกล้ ๆ ก็ควรใช้วิธีเดิน ขี่จักรยาน หรือนั่งรถโดยสารแทนการขับรถไปเอง เป็นต้น เพียงเท่านี้เราก็สามารถเก็บทรัพยากรด้านพลังงานไว้ใช้ได้นานขึ้น ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
R : Reuse คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้มาใช้ซ้ำ ซึ่งบางอย่างอาจใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง เช่น การนำกระดาษรายงานที่เขียนแล้ว 1 หน้า มาใช้ในหน้าที่เหลือหรืออาจนำมาทำเป็นกระดาษโน๊ต ช่วยลดปริมาณการตัดต้นไม้ได้เป็นจำนวนมาก การนำขวดแก้วมาใส่น้ำรับประทานหรือนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่นแจกันดอกไม้หรือที่ใส่ดินสอ เป็นต้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงานแล้วยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและยังได้ของใช้จากการประดิษฐ์ไว้ใช้งานอีกด้วย
R : Recycle คือ การนำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรในธรรมชาติจำพวกต้นไม้ แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ทราย เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้ สามารถนำมารีไซเคิลได้ยกตัวอย่างเช่น เศษกระดาษสามารถนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นกล่องหรือถุงกระดาษ การนำแก้วหรือพลาสติกมาหลอมใช้ใหม่เป็นขวด ภาชนะใส่ของ หรือเครื่องใช้อื่นๆ ฝากระป๋องน้ำอัดลมก็สามารถนำมาหลอมใช้ใหม่หรือนำมาบริจาคเพื่อทำขาเทียมให้ กับคนพิการได้
ตัวอย่างการใช้หลัก 3Rs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
Reduce
- ลดขยะจากถุงน้ำตาลและลดขั้นตอนการเตรียมน้ำเชื่อม โดยเลือกใช้น้ำตาลเหลวแทนน้ำตาลเกล็ด
- ลดสีที่ใช้ในการพิมพ์บาร์โคดให้เหลือสีเดียว (เฉพาะสีบาร์โคด)
- ลดการใช้กล้องสําหรับผลิตภัณฑ์บางรุ่น โดยการออกแบบขวดให้มีจุดสัมผัสที่ขวดและไม่ต้องใช้ไส่กล่องเมื่อบรรจุลงกล่อง ทําให้ลดขนาดกล่อง ลดพื้นที่ จัดเก็บ ลดน้ำหนักในการขนส่ง ทําให้การปฏิบัติงานคล่องตัวมากขึ้น
- ลดการใช้พลาสติกหุ้ม (Plastic wrap) โดยเลือกใช้พลาสติกที่มีความหนาลดลง (แต่ยังคงใช้ได้ตามมาตรฐานเดิม) และใช้เครื่องพันฟิล์มซึ่งประหยัดการใช้ฟิล์มมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน
- การลดใช้ฟิล์มพลาสติกในการปิดภาชนะอาหารระหว่างขั้นตอนการผลิต โดยใช้ฝาพลาสติกที่สามารถนํากลับมาใช้ซ้ำได้แทน
Reuse
- นําแกลลอนบรรจุวัตถุดิบมาล้างและนํากลับมาใช้ซ้ำ
- นําสายรัดพลาสติกและพลาสติกหุ้มวัตถุดิบมาใช้ซ้ำเป็นถุงขยะ/คลุมขยะเพื่อป้องกันฝน
- นําถาดรองขวดส่งกลับผู้ผลิตและนํากลับมาใช้ซ้ำ
- นําน้ำทิ้งที่ผ่านการบําบัดแล้ว และน้ำทิ้งจากกระบวนการล้างย้อน (Backwash) (ที่ตกตะกอนแล้ว) กลับมาใช้ล้างพื้น และใช้ในโถชักโครกในห้องสุขา
Recycle
- ทําเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเศษวัตถุดิบที่มีค่าความร้อนสูงเพียงพอ เช่น พริก กระเทียม
- นําก๊าซมีเทนจากระบบ Biogas ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติในหม้อไอน้ำ
- นําวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต เช่น กากถั่ว ไปใช้เป็นอาหารสัตว์
- นําเศษวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพมาทําปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
- นำกระป๋องน้ำอัดลมมารีไซเคิลผ่านกระบวนการหลอมละลายอะลูมิเนียมและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (หลายประเทศมีมาตรการให้ผู้บริโภคทำการคืนขวดได้ไม่ยาก เพราะทั่วทุกมุมเมืองจะมีตู้รับคืน ทั้งนี้ ประเทศนอร์เวย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่สามารถจัดการกับขวดเครื่องดื่มพลาสติกได้ดีที่สุดในโลก ซึ่งในปี 2019 สามารถรีไซเคิลได้มากถึง 97%ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทำได้ 30% และสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่าง 20 – 45%)
ตัวอย่างการใช้หลัก 3Rs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
Reduce
- ออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิด “Green Product” ผลิตภัณฑ์มีขนาดเล็กลงและใช้ทรัพยากรน้อยลง รวมทั้งควบคุมประสิทธิภาพการผลิต (% yield) ให้ได้สูงสุดและเกิดของเสียน้อยที่สุด เช่น ใช้ Lead frame ให้คุ้มค่าที่สุด ลดการใช้กาวเงิน (Silver paste) เป็นต้น
- นําเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น ใช้เทคโนโลยี Mold Array Processing หรือ MAP mold ซึ่งช่วยลดการเกิดของเสียในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์
- ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เช่น ลดการใช้อะซีโตนในการล้างชิ้นอุปกรณ์
Reuse
- เวียนใช้ซ้ำTray และ Reel ที่ใช้ใส่ชิ้นงานระหว่างขั้นตอนการผลิต
- เลือกใช้กล่องกระดาษแทนกล่องไม้ในการบรรจุผลิตภัณฑ์ ทําให้สามารถเวียนใช้ซ้ำกล่องอีกหลายครั้ง เป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ลดน้ำหนักในการขนส่ง ลดพื้นที่ในการจัดเก็บกล่องบรรจุภัณฑ์ ประยุกต์ใช้เป็นชิ้นส่วนกันกระแทกในตู้คอนเทนเนอร์แทนโฟมได้ นอกจากนี้ ยังประกอบง่ายกว่ากล่องไม้ทําให้การปฏิบัติงานคล่องตัวขึ้น
- เวียนใช้ตัวทําละลายและน้ำDI ในกระบวนการผลิต เช่น อะซีโตนที่ใช้ล้างชิ้นอุปกรณ์ และน้ำDI จากกระบวนการชุบชิ้นงาน (Plating) และ กระบวนการตัดชิ้นงาน (Dicing)
- นําสารดูดความชื้น (Silica gel) เก่ามาใช้ดูดความชื้นในตู้ไฟ
Recycle
- แยกสารเคมีประเภทกรด-ด่างจากกระบวนการผลิต แล้วนําไปใช้ปรับสภาพ pH ในระบบบําบัดน้ำเสีย และใช้เป็นสารตั้งต้นในระบบบําบัดน้ำเสียโดยวิธีเคมี (Chemical precipitation) เช่น NaOH จากกระบวนการกัดผิว (Etching)
- ส่งตัวทําละลายใช้แล้วไปรีไซเคิล และนําก๊าซมีเทนมาใช้ในโรงอาหาร
- นําเศษอาหารเข้าระบบ Biogas และนําก๊าซมีเทนมาใช้ในโรงอาหาร
- นําเศษอาหารมาทําปุ๋ย/น้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในห้องน้ำ
สำหรับในตอนหน้า จะได้พบกับตัวอย่างการนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกลุ่มโรงงานประเภทต่างๆ ต่อไปค่ะ