หัวข้อเด็ดการประชุมวิชาการ
Tags: ohswa conference 2021
หัวข้อเด็ดของการประชุมวิชาการ ส.อ.ป. ปีที่ 29 ประจำปี 2564( OHSWA Conference 2021 )
เรื่องเด็ดจาก กรอ.
Dust Explosion
Update กฎหมายใหม่
Fire Protection
เรื่องเด็ดจาก กรอ.
นโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
กรมโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบันนี้ มีแนวคิดการดำเนินงานที่ก้าวหน้าและเชิงรุกมากกว่าเดิม ประกอบการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมประเภทใด ๆ ก็ตาม ต้องถือว่าเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจโรงงาน หากโรงงานอุตสาหกรรมใดไม่เข้าใจในแนวทางการธุรกิจในยุคนี้ ก็ถือว่าสอบตก การบริหารโรงงานให้ประสบความสำเร็จคงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ในขณะที่ชาว HSE ก็ถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจของโรงงาน ดังนั้น การรับรู้ การเข้าใจในแนวนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเราจะได้ทำงานในความรับผิดชอบของเราที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับการบริหารธุรกิจของโรงงานเรา
การเตรียมการและการดำเนินงานตามกฎหมายใหม่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ในระยะเวลาภายในปีนี้ คาดว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการออกกฎหมายใหม่ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยออกมามากกว่า 1 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นน่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยสารเคมี ในขณะที่สอป.ได้ประสานงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะขอให้มีการนำกฎหมายใหม่ ๆ ที่ใกล้ประกาศใช้แล้ว มานำเสนอให้กับที่ประชุม เพื่อจะได้รับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการปฎิบัติตามกฎหมาย จะได้มีการเตรียมตัวกันล่วงหน้า (อันนี้เป็นโอกาสดียิ่งที่ผู้เข้าประชุมจะได้ทราบก่อนใคร) ยิ่งไปกว่านั้น จะมีการนำสิ่งที่พบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ตรวจเยี่ยมโรงงานต่าง ๆ ว่าจากการดำเนินงานตามกฎหมายที่ผ่าน ๆ มาว่าควรปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง
จึงเป็นหัวข้อในภาคบ่ายก่อนปิดการประชุมวิชาการประจำปีที่พลาดไม่ได้เด็ดขาด
Dust Explosion
NFPA 652 Dust Hazard Analysis (DHA)
Dust Hazard Analysis หรือ DHA เป็นข้อกำหนดที่ต้องทำ (Mandatory Standard) ของมาตรฐาน
NFPA 652 ที่กำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงจากฝุ่นระเบิด
ต้องดำเนินการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่
7 กันยายน 2563 และต้องทำการทบทวนทุก ๆ
5 ปี หากไม่ปฏิบัติ ก็จะถูกฟ้องได้จาก OSHA สำหรับในยุโรป มีกฎหมายหรือ Directive เรียกย่อว่า ATEX
มาตั้งแต่ปี 1994 แล้วที่กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงจากการระเบิดไม่ว่าจากก๊าซ
ไอระเหย หรือฝุ่นก็ตาม
การทำ DHA มีขั้นตอนต่าง ๆ แต่ถ้า back
to basic เลย ก็ต้องบอกว่ามี 3 ขั้นตอนในสไตล์จำง่าย
ๆ ว่า HAM นั่นคือ Hazard identification, Analysis of the hazard และ Management
of the hazard
สำหรับในเวที OHSWA
Conference 2021 นี้
ทุกท่านจะได้รู้จักและทำความเข้าใจกับมาตรฐานตัวนี้ ซึ่งแน่นอนว่าในโอกาสต่อ ๆ ไป
จะมีผลต่อโรงงานคู่ค้าในบ้านเราที่ต้องดำเนินการทำ DHA ด้วย ส่วนโรงงานทั่วไป การรู้จักและเข้าใจที่จะนำไปใช้งาน
ก็เป็นการยกระดับการทำงานของผู้รับผิดชอบให้เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น และทำให้โรงงานได้ก้าวสู่ความเป็นโรงงานมาตรฐานสากลอีกด้วย
ถึงเวลาของ Dust Hazard Analysis (DHA) ในประเทศไทยแล้วหรือยัง
ต้องยอมรับความจริงว่าในบ้านเรา
การตระหนักในปัญหาฝุ่นระเบิดยังมีน้อย และยังมีความเข้าใจว่าเรื่องนี้อยู่ไกลตัว
อาจจะด้วยเข้าใจว่ามันจะเกิดกับเฉพาะโรงงานพวกแป้งเท่านั้น โรงงานพวกฝุ่นโลหะไม่มีปัญหานี้
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก ขอให้พิจารณาข้อมูลของ OSHA (ภาพข้างล่างนี้)
จะเห็นว่ามีจำนวนประเภทกิจการจำนวนมากทีเดียวที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ฝุ่นระเบิด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถิติการระเบิดจากฝุ่นในประเทศไทยไม่เป็นที่รับทราบกันมากเท่ากับการเกิดไฟไหม้
และเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับเป็นการเฉพาะ แต่หากพิจารณาถึงกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม
และกระทรวงแรงงานที่กำหนดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ก็น่าสนใจมากว่าสาระหรือข้อกำหนดของกฎหมายที่มีอยู่
ได้ครอบคลุมถึงเรื่องฝุ่นระเบิดหรือไม่ หรืออย่างน้อยแล้ว ในหลัก Good
Engineering Practice แล้ว เราควรทำ DHA หรือไม่
มาฟังความเห็นของฝ่ายรัฐผู้ดูแลเรื่องความปลอดภัยโรงงาน
บริษัทที่ปรึกษา และจป.ระดับวิชาชีพว่าจะตอบโจทย์ (หัวข้อ) นี้กันอย่างไร และมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
Fire Protection
จากประสบการณ์จริงสู่การดำเนินการป้องกันอัคคีภัย
การป้องกันอัคคีภัย จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะเพียงเราควบคุม
ป้องกัน หรือตัดองค์ประกอบของการเกิดไฟตัวใดตัวหนึ่ง ก็จะไม่เกิดการลุกไหม้แล้ว
แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายตามที่กล่าวถึง นอกจากนี้ การได้รับทราบและทำความเข้าใจในกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นมาก่อน
บนพื้นฐานของการอธิบายตามหลักวิชาการ ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ในหัวข้อ
“จากประสบการณ์จริงสู่การดำเนินการป้องกันอัคคีภัย” นี้ วิทยากรจะนำประสบการณ์จริงที่พบจากการทำหน้าที่เป็น
Auditor ให้กับบริษัทข้ามชาติ
และจากการทำหน้าที่เป็น GSHE Technical Director ในการบริหารงานที่ครอบคลุมถึงเรื่องการป้องกันอัคคีภัยให้กับบริษัทไทยที่มีสาขาในต่างประเทศด้วย
จะมา “เล่าสู่กันฟัง” พร้อมกับการนำเสนอวิธีหรือแนวทางการป้องกันที่ได้ดำเนินการไปที่จะมีเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุน
รับรองว่าจะเป็นหัวข้อที่ให้ประโยชน์ต่อการนำความรู้ไปใช้ต่อยอดในการทำงานของผู้ฟังอย่างแน่นอน
หากมีคำถามใด ๆ ที่ยังสงสัย หรือหาทางแก้ไขไม่ได้มั่นใจนัก
เตรียมถามในระหว่างการบรรยายได้เลย
Fire Safety Design
การป้องกันการเกิดอัคคีภัย
เป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยความรู้ และจะทำอะไร ก็ต้องอธิบายผู้บริหารให้เข้าใจได้ถึงเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น
ในกฎหมายของประเทศไทย และมาตรฐานต่าง ๆ ก็จะมีการกำหนดให้มีระบบการดับเพลิง
ให้มีการติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ
ให้จัดให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการดับเพลิง เป็นต้น คำถามมีว่าสิ่งต่าง ๆ
ที่กฎหมายกำหนดนั้น โรงงานของเรามีครบถ้วน เพียงพอแล้วหรือยัง และในการประเมินความเสี่ยงจากการเกิดอัคคีภัย
การทราบถึงความเพียงพอของมาตรการที่มีอยู่
ย่อมทำให้การประเมินระดับความเสี่ยงมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ดังนั้น หัวข้อ “Fire Safety Design”
จึงถูกกำหนดขึ้นในโปรแกรมการประชุมวิชาการในปีนี้ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้ทราบและเข้าใจในวิธีการคำนวณที่เป็นที่มาของการออกแบบระบบป้องกันอัคคีภัยเพื่อความปลอดภัย
ตามข้อกำหนดของกฎหมายต่างๆ ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายแรงงาน กฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการคำนวณปริมาณการสำรองน้ำดับเพลิง
การคำนวณขนาดเครื่องสูบน้ำดับเพลิง และระยะการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ
ในระบบป้องกันอัคคีภัยให้มีความถูกต้องตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้