การดำเนินงานการยศาสตร์ในสถานประกอบการ

เผยแพร่เมื่อ: 08/02/2564....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม 
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง การดำเนินงานการยศาสตร์ในสถานประกอบการ 

          การนำหลักการด้านการยศาสตร์ (Ergonomics) ไปประยุกต์ใช้ในสถานที่ทำงาน ควรเริ่มตั้งแต่การออกแบบเครื่องจักรอุปกรณ์และหน่วยที่ทำงาน ซึ่งจะสามารถทำให้พนักงานเกิดความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย และส่งผลพลอยได้ทำให้เพิ่มผลผลิตได้

          ดังนั้นการดำเนินงานการยศาสตร์ในสถานประกอบการจึงมีวิธีการดำเนินงานที่สำคัญดังต่อไปนี้
                    
1. การค้นหาปัญหาการยศาสตร์ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในการค้นหาปัญหาหรือทำการสำรวจปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานทางด้านการยศาสตร์ ดังนี้
                              
- ลักษณะการออกแบบสถานที่ตั้งของการทำงาน ที่นั่ง
                              
- ลักษณะท่าทางในการทำงาน
                              
- ความต้องการทางกายภาพ เช่น การยกสิ่งของ, การออกแรง
                              
- ข้อมูลเกี่ยวกับการยกสิ่งของ เช่น ขนาด น้ำหนักของสิ่งของ
                              
- ลักษณะการออกแบบแผงหน้าปัดและอุปกรณ์ควบคุม
                              
- ลักษณะการออกแบบเครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ
                              
- เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติงานและลักษณะการใช้งาน
                              
- การออกแบบงานและจัดรูปงาน
                              
- สภาพแวดล้อมและบรรยากาศของการทำงาน
                              
- ลักษณะแต่ละขั้นตอนของการทำงาน
                              
- อันตรายจากการใช้เครื่องมือต่างๆ
                              
- การเก็บและบำรุงรักษา การฝึกอบรม

                    2. การประเมินทางการยศาสตร์ซึ่งวิธีการประเมินแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ
                              
1. แบบวัดโดยตรง (Direct Measurement Technique)
                                   
เป็นเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาวัดกับร่างกายของผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและใช้ในห้องปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเครื่องมือบางตัวที่ใช้ในสถานที่ทำงานจริงอยู่บ้าง เช่น เครื่องวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography, EMG),เครื่องวัดมุมการเคลื่อนไหวข้อต่อ (Goniometer),เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
                              
2. แบบสังเกต (Observational Technique)
                                   
เป็นวิธีที่เน้นการวิเคราะห์งานโดยการสังเกต แล้วนำมาประเมินโดยการคำนวณ ซึ่งไม่ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาวัดค่า และใช้ค่าใช้จ่ายในการประเมินน้อย แต่ให้ความแม่นยำไม่เท่ากับวิธีการวัดโดยตรง
                                   
อย่างไรก็ตาม วิธีการประเมินนี้สามารถทำการวัดในสถานที่ทำงานจริงและไม่รบกวน      การทำงานของผู้ปฏิบัติงาน เช่น วิธี NIOSH Lifting Equation,วิธี Manual Handling Assessment Charts (MAC),วิธี Rapid Limb Assessment (RULA),วิธี Ovaka Working Posture Analysis (OWAS) เป็นต้น
                              
3. แบบใช้แบบสอบถาม (Basic Tool)
                                   
เป็นวิธีการที่ใช้แบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์ โดยเป็นการวัดค่าแบบจิตพิสัย เช่น แบบสอบถามการสำรวจภาระงานต่อกล้ามเนื้อเกี่ยวกับความรู้สึกเมื่อยล้า ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะได้ค่าที่ไม่แม่นยำเท่ากับวิธีการวัดโดยตรง และวิธีการสังเกต แต่ทำให้ทราบภาระงานต่อกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานนั้นความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงานมีมากน้อยเพียงใด

                    3. การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงานการยศาสตร์
                              ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ เพราะวัตถุประสงค์/เป้าหมายเป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นบรรลุผลสำเร็จตามที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นในการกำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายจึงต้องกำหนดให้ชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี ปราศจากอันตรายที่ได้รับจากสภาพการทำงานทางด้านการยศาสตร์ โดยมีเป้าหมาย คือ พนักงานทุกคนได้รับการอบรมการยกเคลื่อน ย้ายวัสดุอย่างถูกวิธี สามารถยกเคลื่อนย้ายวัสดุได้อย่างถูกต้อง และไม่มีอาการปวดหลังจากการทำงานหลังจากได้ดำเนินการควบคุมแก้ไขปัญหาการยศาสตร์แล้ว เป็นต้น

                    4. การควบคุมแก้ไขปัญหาการยศาสตร์
                              
1. การควบคุมทางวิศวกรรม เช่น การออกแบบงานใหม่ การออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือ เพื่อปรับปรุงการทำงาน
                              
2. การควบคุมทางการบริหารจัดการ เช่น การสับเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงาน การจัดเวลาพักระหว่างทำงาน
                              
3.การควบคุมการปฏิบัติงาน เช่น การกำหนดวิธีการทำงานท่าทางให้ถูกต้อง การฝึกอบรมให้ผู้ปฏิบัติงาน

          สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินงานด้านการยศาสตร์ คือ การติดตามประเมินผล โดยควรติดตาม ประเมินผลเป็นระยะๆ อาจทำได้โดยการสอบถาม สัมภาษณ์ และสังเกตการณ์การปฏิบัติงานโดยตรง เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการควบคุมแก้ไขปัญหานี้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เกิดประสิทธิผล และความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานมากที่สุด

 

Visitors: 415,007