มือใหม่...เอาชนะความกลัว

เผยแพร่เมื่อ: 04/02/2564....,
เขียนโดย โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา, Mentoring & Coaching for JorPor Series,
วิทยากร/ที่ปรึกษา/โค้ช/นักเขียน

เรื่อง มือใหม่...เอาชนะความกลัว

     ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย เราคงต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ สร้างเส้นทางใหม่ เพื่อให้ตนเองไม่ทำอะไรในแบบเดิมๆ ที่เคยชิน จำได้ว่าตอนเริ่มใช้ทักษะการโค้ชใหม่ๆ เมื่อหลายๆปีก่อนจะติดกับดักของสิ่งเหล่านี้ 

  • เคยชินกับบทบาทอื่นๆในแบบเดิม(การบอกกล่าว การสอนการแนะนำ)จนเผลอลืมใช้ทักษะการโค้ช(การถาม)
  • ฟังคนอื่นได้แต่ก็เป็นแบบฟังๆไปแค่ได้ยิน
  • ในระหว่างฟังจิตหลุดคิดไปไหนต่อไหน(คิดเรื่องอื่น, คิดแต่จะหาคำตอบให้,คิดเตรียมตั้งคำถามรอไว้ล่วงหน้า)
  • แอบตัดสินเรื่องราวที่ฟัง (ดี/ไม่ดี,ใช่/ไม่ใช่,ถูก/ไม่ถูก)จนเข้าไม่ถึงความต้องการหรือเรื่องราวที่แท้จริงของเรื่อง
  • รีบร้อนที่จะใช้กระบวนการในการโค้ชและรีบให้จบกระบวนการ
  • ถามคำถามลึกลงรายละเอียดเพื่อไปค้นหาสาเหตุจนลืมไปว่าต้องใช้คำถามในการถามเพื่อไปสู่ทางออก ฯลฯ 

          ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ จะเป็นเหมือนกันบ้างไหม มากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยความเป็นผู้เริ่มต้นฝึกฝนการใช้ทักษะการโค้ชเพื่อใช้กับตนเอง กับคนรอบข้าง และกับการทำงาน จึงต้องคอยทบทวนตัวเองด้วย 5 ข้อด้านล่างเป็นประจำ เพื่อให้ตนเองเกิดความคุ้นเคยใหม่ในการใช้ทักษะการโค้ช (การฟัง,การถาม และการให้Feedback)
                    1. 
เรียกสติและเตือนความจำตนเองบ่อยๆว่า เรากำลังจะใช้บทบาทของโค้ชเราจะฟังให้มากขึ้น (ฟังแบบเข้าถึงความรู้สึกและความต้องการ)เราจะถามคำถามที่เป็นประโยชน์กับเขามากขึ้นเพื่อให้เขาหาวิธีการด้วยตนเองในการไปสู่ทางออก และเราจะให้ feedback ในแบบสร้างสรรค์มากขึ้น
                    2. 
กำจัดความคิดที่ทำให้เราเป็นกังวล/กลัวเกี่ยวกับการใช้บทบาทของโค้ช
                              
2.1 หาความคิดที่ถูกต้องมาหักล้างความกังวลโดยสร้างความเชื่อใหม่ว่าเราสามารถใช้บทบาทของการโค้ชได้มีเหตุการณ์ต่างๆที่เราทำมาแล้ว ใช้ประกอบความเชื่อว่า “เราก็ทำได้” ตั้งมากมายหลายเหตุการณ์
                              
2.2 เรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติม และฝึกฝนใช้ทักษะการโค้ช เพื่อจะได้ใช้บทบาทการโค้ชได้อย่างถูกต้องและคล่องมากขึ้น
                    3. 
รู้ขั้นตอนเพื่อฝึกการปรับอารมณ์
                              
3.1 รับรู้รูปแบบอารมณ์ของตนเอง รับรู้ว่าเหตุการณ์แบบไหนที่มักกระตุ้นให้เกิดความคิด ความรู้สึกด้านลบ
                              
3.2 ติดฉลากให้กับความคิดความรู้สึกแต่ละประเภทที่เกิดขึ้น
                              
3.3 ยอมรับความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้นอย่างเปิดใจ
                              
3.4 ใคร่ครวญ ทบทวน การตอบสนองอารมณ์ในการแสดงผ่านพฤติกรรมต่างๆที่ผ่านมา ผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่
                    4. 
ถามตัวเองเพื่อสร้างความมุ่งมั่นสร้างความกระตือรือร้นจากภายใน“ถ้าตอนนี้มีความมุ่งมั่นสูงสุด ความรู้สึกในใจเป็นอย่างไร? แววตา สีหน้า ท่าทางจะเป็นแบบไหน? จะมีการกระทำอะไรที่ต่างจากเมื่อก่อนหรือไม่ อย่างไร”
                    5. 
ยอมรับเพื่อปรับเปลี่ยน รับฟัง Feedback อย่างเปิดใจ นำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาประเมินตนเอง เพื่อพัฒนาปรับปรุงสำหรับการโค้ชในครั้งต่อๆไป

          จากมือใหม่ในตอนนั้นจนมาเป็นมือเก่าในตอนนี้ เข้าใจเลยว่า เราสามารถเลือกวัตถุดิบตั้งต้น (ความคิด,หลักการ) ที่จะสนับสนุนความสำเร็จในการนำทักษะการโค้ชไปใช้ได้เราสามารถสำรวจต้นทุนเดิมของเราเกี่ยวกับทักษะการโค้ชที่เรามีได้เราสามารถตัดสินใจออกแรงลุยเก็บประสบการณ์ในการใช้ทักษะการโค้ชได้และที่สำคัญในการใช้การโค้ชในงานด้านความปลอดภัยฯ เราสามารถหาส่วนผสมที่ลงตัวของเราในการนำทักษะการโค้ชมาใช้ในโอกาสต่างๆได้ เนื่องจากการกระตุ้นการคิดและการกระตุ้นพฤติกรรมที่ปลอดภัยสามารถใช้วิธีการได้หลากหลายวิธีและหนึ่งในหลายวิธีนั้นคือ การฟัง,การถาม และการให้Feedbackนอกจากนี้ หากไม่ละความพยายามที่จะมอบคุณค่าด้านการโค้ชสู่ผู้อื่นมือใหม่...ย่อมก้าวออกจากความเคยชิน ได้แน่!

 

“I learned that courage was not the absence of fear, but the triumph over it.

The brave man is not he who does not feel afraid, but he who conquers that fear”

“ผมเรียนรู้ว่าความกล้าหาญ ไม่ใช่การไร้ซึ่งความกลัว แต่เป็นการก้าวข้ามความกลัว

และคนกล้า ก็ไม่ใช่คนที่ไร้ซึ่งความกลัว แต่เขาเอาชนะมันได้

  -เนลสัน แมนเดลา-

 

ด้วยรักและห่วงใย

จากใจ..โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

วิทยากรความปลอดภัยในการทำงาน (หลักสูตรจิตสำนึกความปลอดภัย,หลักสูตรพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงานBBS และหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานอื่นๆ)

ที่ปรึกษาอิสระ (ด้านความปลอดภัยฯ, ด้านสิ่งแวดล้อม, ด้านพัฒนามาตรฐานแรงงาน และด้านการพัฒนาองค์กร)

โค้ชด้านจิตวิทยาการสื่อประสาท NLP : Neuro Linguistic Programming Coach หรือ NLP Coach (หลักสูตรการโค้ช,รับปรึกษาปัญหาเพื่อทะลายทุกข้อจำกัดที่ฉุดรั้งคุณ)

นักเขียน หนังสือเรื่อง จิต(ใต้)สำนึกความปลอดภัย

 

 

Visitors: 419,926