เทคนิคการสอบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ อย่างมีประสิทธิภาพ
เผยแพร่เมื่อ: 29/01/2564....,
เขียนโดย นายสวินทร์ พงษ์เก่า
กรรมการบริหารสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
เรื่อง เทคนิคการสอบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ
อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรไม่พึ่งปรารถนา ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่ทำไมอุบัติเหตุยังคงอยู่และยังคงเกิดขึ้น ในบางเหตุการณ์ก็นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างรุนแรง และมักเป็นอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วแต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง จนทำให้เราวางใจว่าการสอบสวนอุบัติเหตุที่ได้ดำเนินการมาแล้ว องค์กรสามารถค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและองคกรได้กำหนดมาตรการควบคุมได้อย่างมีความเหมาะสมแล้ว แต่ต่อมาอุบัติเหตุลักษณะเดิมเกิดขึ้นอีก แต่ในครั้งนี้ความรุนแรงมากกว่าเดิม และเงื่อนไขการเกิดมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น เป็นอุบัติเหตุลักษณะเดียวกัน แต่เกิดในต่างพื้นที่ต่างเวลา ผลที่เกิดขึ้นจึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความสำคัญของการสอบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และนำมาปรับปรุงแก้ไขปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันมิให้อุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำอีก
อุบัติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่ได้คาดคิด (Unplan event) และไม่ได้ควบคุมไว้ก่อนในที่ทำงาน แล้วผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิตอาจทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขบวนการผลิตหยุดชะงัก
จากการศึกษาของ Health and Safety Executive (HSE) ของประเทศอังกฤษ ที่ได้ศึกษาอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับงานการบำรุงรักษาได้ระบุว่า 75% ของจำนวนอุบัติเหตุ มีสาเหตุจากการขาดการบริหารและขาดการควบคุมผู้บริหารที่รับผิดชอบทั้งหมดหรือบางส่วนในหน่วยงานนั้น ล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุนั้นๆ
ดังนั้น ความสำคัญที่จะต้องดำเนินการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอยู่ตรงประเด็นที่ว่า “เมื่อความเสียหายผ่านพ้นไปแล้ว เราจะใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง”
การสอบสวนอุบัติเหตุที่มีประสิทธิภาพจึงต้อง ดำเนินการหาคำตอบในประเด็นดังต่อไปนี้
- อธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
- กำหนดสาเหตุที่แท้จริง
- ตัดสินใจในความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่
- พัฒนาวิธีการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างชัดเจน
- สามารถบอกแนวโน้มต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้
- นำไปสู่การวางแผนควบคุมความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
หลักการสอบสวนเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
1. ต้องจัดการสอบสวนทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ในประเด็นนี้เราต้องมีการวางระบบเพื่อทำให้ผู้ที่ประสพเหตุได้ มีการรายงานเหตุการณ์ เพราะหากผู้ที่ประสพอุบัติเหตุหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการแจ้งหรือรายงานขึ้นมาแล้ว การสอบสวนเพื่อค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุคงมิอาจเกิดขึ้นได้
ทำไมคนพนักงานจึงไม่ชอบรายงานอุบัติเหตุ
- กลัว ถูกลงโทษ
- กลัว สถิติอุบัติเหตุไม่ดี
- กลัว เสียชื่อเสียง
- กลัว หรือไม่ชอบพบแพทย์
- กลัว ว่างานจะหยุดชะงัก
- กลัว การบันทึกเอกสาร
- ไม่เห็นความสำคัญ
2. ตรวจสอบและสังเกตสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ในการสอบสวนทุกครั้ง ผู้ที้กี่ยวข้องจะต้องลงไปดูที่จุดเกิดเหตุ เพื่อจะได้ทำการเก็บ รวมรวมข้อมูลต่างๆมาทำการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
3. ตัดสินใจโดยใช้ความรู้และประสพการณ์ ดังนั้นทีมสอบสวนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและประสพการณ์ในงาน และสภาพพื้นที่ที่เกิดอุบติเหตุ
4. วิเคราะห์อุบัติเหตุในอดีตที่ผ่านมา หากเคยมีอุบัติเหตุในลักษณะนี้ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
บุคคลที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
บุคคลที่ทำหน้าที่ในการสอบสวนอุบัติเหตุจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และเข้าใจในลักษณะงานที่ต้องเข้าไปทำการสอบสวน และมีความเข้าใจถึงเทคนิคของการวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นบุคคลที่มีหน้าที่ในการสอบสวนอุบัติเหตุ ควรเป็นทีมงานโดยประกอบด้วย
1. หัวหน้างาน (จป.หัวหน้างาน)
หัวหน้างานนั้นจะเป็นบุคคลแรกที่ควรเป็นผู้รับรายงานว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นและเข้าไปยังจุดที่เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากที่สุด และเป็นผู้บังคับบัญชาที่อยู่หน้างาน (Front Line Management) ซึ่งจะคุ้นเคยกับพนักงาน เข้าใจทั้งปัจจัยคน (Personal Factor) และปัจจัยงาน (Job Factor) อันได้แก่ ลักษณะการทำงาน เครื่องจักร สภาพแวดล้อมในการทำงานและสภาพการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของตนเองมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อค้นหาสาเหตุพื้นฐานของการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี
2. ผู้บริหาร (จป.บริหาร) ในสายงานบังคับบัญชา
เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและเกิดความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ผู้บริหารในสายงานบังคับบัญชาของประสบอุบัติเหตุหรือผู้รับผิดชอบในพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุจะต้องผู้เข้าร่วมในการสอบสวนอุบัติเหตุ อันจะแสดงถึงภาวะผู้นำและความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งผู้บริหารในสายงานบังคับบัญชายังเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ มีมุมมองที่กว้างขวางที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ และนำมาใช้เป็นบทเรียนในการปรับแนวทางในการบริหารเพื่อควบคุมความสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ)
นับว่าเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องของงานความปลอดภัย อีกทั้งเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาอบรมและมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับงานด้านความปลอดภัย จึงนับว่าเป็นบุคลากรที่จะใช้เทคนิควิชาการในการร่วมค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสอบสวนอุบัติเหตุได้อย่างดี
4. คณะกรรมการความปลอดภัย
เป็นองค์กรความปลอดภัยตามกฎหมายและเป็นองค์กรที่มีบุคลากรที่เป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ปฏิบัติงานอยู่ในคณะกรรมการในรูปแบบทวิภาคี
5. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
การเกิดอุบัติเหตุบางลักษณะที่มีความสลับซับซ้อนและเป็นเรื่องทางเทคนิคอาจต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง (Specialist) ในการร่วมสอบสวนเพื่อให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางเทคนิค ซึ่งความเห็นทั้งหมดจะได้นำมาประมวลเพื่อสรุปหาสาเหตุพื้นฐานของการเกิดอุบัติเหตุต่อไป
ขั้นตอนการค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ
1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องตอบโต้ เหตุการณ์และรีบเร่งแจ้งให้หัวหน้างานทราบ ในขั้นตอนแรกนี้ จะไปเชื่อมโยงกับการวางแผนเพื่อรองรับเหตุการณ์ ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมให้เหตุการณ์ สงบ และทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด
หลักการการตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉิน
- ทำการควบคุมที่สถานที่เกิดเหตุ?
- ทำการปฐมพยาบาลและเรียกหน่วยฉุกเฉิน
- ควบคุมศักยภาพของอุบัติเหตุมิให้เกิดซ้ำ
- ระบุแหล่งของหลักฐาน ได้แก่
o บุคคล คือผู้ประสพเหตุ ผู้พบเห็นเหตุการณ์
o ตำแหน่ง คือความเกี่ยวข้องทางกายภาพของคน วัสดุอุปกรณ์ โครงสร้าง
o ชิ้นส่วน คืออุปกรณ์ เครื่องมือ วัสดุ เครื่องหมาย ป้าย ฉลาก
o เอกสาร คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่อยู่ในรูปเอกสาร
- รักษาหลักฐานจากการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนย้าย
- แจ้งบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. หัวหน้างาน ( จป.หัวหน้างาน ) เมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้รีบไป สถานที่เกิดเหตุ
3. สอบสวน/สัมภาษณ์ ผู้ประสพเหตุ
4. ถ่ายภาพ สเก็ตภาพ สถานที่เกิดเหตุ
5. จากนั้นตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มาตรฐานการทำงาน
6. บันทึกผลการสอบสวนลงในแบบสอบสวนอุบัติเหตุ
7. นำผลการสอบสวนไปดำเนินการวิเคราะห์อุบัติเหตุต่อไป
ผู้ที่รับผิดชอบในการสอบสวนอุบัติเหตุจะต้องนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุที่ต้องการ จะต้องเป็นสาเหตุพื้นฐาน (Basic Cause) ของการเกิดอุบัติเหตุ และสาเหตุพื้นฐานสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ปัจจัย คือ
ปัจจัยที่เกิดจากคน (Personal Factor) เช่น การขาดความรู้ การขาดทักษะและความชำนาญ การได้รับความกดดันทางด้านร่ายกายและจิตใจ สุขภาพเช่น ความดันโลหิตสูง/ต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น
ปัจจัยที่เกิดจากงาน (Job Factor) เช่น ขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการทำงาน, ขาดการบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์, การใช้อุปกรณ์และเครื่องมือผิดประเภท, การใช้งานเกินกำลังของเครื่องมือและเครื่องจักรเป็นต้น
การบันทึกรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุ
การบันทึกข้อมูลลงในแบบรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุนับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลต่างๆที่ได้มาจากการสอบสวนจะถูกบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดเก็บไว้เป็นหลักฐานหรือข้อมูล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์อุบัติเหตุต่อไป การจัดทำแบบฟอร์มมาตรฐานสำหรับใช้ในการบันทึกรายงานการสอบสวนอุบัติเหตุสำหรับแต่ละองค์กรจะทำให้แบบฟอร์มมีความเหมาะสมกับบริบทของตนเอง และจะให้ทุกหน่วยงานในองค์กรได้ใช้เป็นแนวทางในการบันทึกข้อมูลเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแบบฟอร์มที่ใช้จะประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลพื้นฐานของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ชื่อ – นามสกุล, อายุ,เพศ, หมายเลขประจำตัว, ตำแหน่ง, หน้าที่, หน่วยงานที่สังกัด,อายุงาน, อายุงานในตำแหน่งที่ทำอยู่ขณะประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น
2. วัน เดือน ปี และเวลา ที่เกิดอุบัติเหตุ
3. สถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุ และสภาพแวดล้อมของที่เกิดเหตุ
4. อธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามหลัก 5W 1H
5. ผู้เห็นเหตุการณ์
6. สาเหตุพื้นฐานของการเกิดอุบัติเหตุ
7. วิธีการแก้ไขและป้องกันมิให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นอีก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
8. ค่าเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
9. รายงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เกี่ยวกับลักษณะการบาดเจ็บความรุนแรงของการ บาดเจ็บ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
10. ความเห็นของผู้บังคับบัญชา ในแต่ละระดับ
11. ลายมือชื่อของคณะกรรมการที่ทำการสอบสวนอุบัติเหตุ
12. ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง