การป้องกันและควบคุมความล้าจากการทำงานตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ: 08/12/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม 
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง การป้องกันและควบคุมความล้าจากการทำงาน

ตามหลักการยศาสตร์

          ความล้าเป็นสิ่งที่หลายๆท่านต้องพบเจอหลังจากการทำงาน ซึ่งความล้าเป็นอาการจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากหลังจากการทำงานทุกชนิด โดยเฉพาะงานที่ต้องออกแรงมาก เช่น การยกของหนัก หรือการยืนหรือนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ  ซึ่งนั่นก็คือ เกิดความล้าจากการทำงาน (Fatigue) นั่นเอง

          ความหมายของความล้าจากการทำงาน    หมายถึง ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า เซื่องซึมลง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า/ สิ่งกระตุ้นลดลง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย คือ ระดับการรับรู้ทางการมองเห็นลดลง ไม่มีสมาธิในการมอง/ สนใจงานที่ทำอยู่ตรงหน้าได้ ความระมัดระวังลดลง และเกิดความง่วงนอนตามมา

          สาเหตุของความล้าจากการทำงาน แบ่งได้ 4 ปัจจัย คือ
                    
1) ปัจจัยด้านการทำงาน ได้แก่ ลักษณะงาน ภาระงาน ท่าทางการทำงาน การออกแรงระยะเวลาการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน
                    
2) ปัจจัยด้านผู้ปฏิบัติงาน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเกิดความล้ามาก คือ หากผู้ปฏิบัติงานมีพื้นฐานสุขภาพที่ดี มีความชำนาญ มีความสนใจ และมีความมุ่งหวังที่จะเรียนรู้และสร้างงานให้ดีขึ้น โอกาสเกิดความล้าก็เป็นไปได้น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีความสนใจและท้อแท้ในการทำงาน ได้แก่ ภาวะสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ ความสนใจ ความมุ่งมั่นในการทำงาน ความชำนาญ ความพึงพอใจในการทำงาน
                    
3) ปัจจัยด้านองค์กรการทำงาน ได้แก่ ระบบการจ่ายค่าตอบแทน การจัดสวัสดิการตารางเวลาการทำงาน
                    
4) ปัจจัยด้านสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้แก่ ปัญหาครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมในที่พักอาศัย

          ประเภทของความล้าจากการทำงาน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
                    1) ความล้าเฉียบพลัน (Acute Fatigue)
                        
เป็นความล้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ และอาการคงอยู่ไม่เกิน 1 เดือน อาจเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือเกิดขึ้นเฉพาะส่วน เช่น คอ แขน ไหล่ เนื่องจากออกแรงมากเกินไป
                    
2) ความล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue)
                       
 เป็นความล้าที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น และคงอยู่นานเกิน 1 เดือน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเครียดและปัญหาทางจิตใจที่ต่อเนื่อง
                        
กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome : CFS) ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจัดความไว้ว่า ผู้ป่วยต้องเข้าข่าย 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
                                1) มีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และไม่ได้เป็นผลมาจากโรคหรือพยาธิสภาพอื่นๆ
                                
2) มีอาการดังต่อไปนี้ 4 ข้อขึ้นไป โดยมีอาการเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน
                                           
- มีความจำระยะสั้นบกพร่องหรือลดลงมาก หรือมีสมาธิลดลงมาก
                                           
- เจ็บคอ
                                           
- กดเจ็บบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือใต้รักแร้
                                           
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
                                           
- ปวดตามข้อโดยปราศจากการบวมหรือแดง
                                           
- ปวดศีรษะที่มีอาการแตกต่างจากที่เคยเป็น ทั้งรูปแบบและความรุนแรง
                                           
- ตื่นนอนอย่างไม่สดชื่น
                                           
- หลังจากออกกำลังกายมาแล้วนานกว่า 24 ชั่วโมง ยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่

          การประเมินความล้าจากการทำงาน มีหลากหลายวิธี ได้แก่
                    1) การใช้แบบสอบถามและสังเกตความรู้สึกของผู้ปฏิบัติงาน
                    
2) การทดสอบความล้าของมือโดยใช้เครื่องกดตี (Tapping Tester)
                    
3) การทดสอบความล้าของส่วนขาโดยใช้เครื่องจี้กระตุกเข่า (Knee Reflex Threshold Tester)
                    
4) การทดสอบความล้าของสมองโดยใช้กระดานสี (Color Calling Table)
                    
5) การทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างประสาทสัมผัสกับสมองส่วนกลางโดยใช้เครื่องแยกความรู้สึกสองจุด (Two Touching-Points Discrimination Threshold Tester)
                    
6) การทดสอบความล้าโดยการวัดความสามารถของตาในการจับความถี่ของการกระพริบของดวงไฟ (Critical Flicker Frequency : CFF)
                    
7) การวัดคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (Surface Electromyography : EMG) ควบคู่กับการสอบถามระดับความรู้สึกล้า

          ตัวอย่างการประเมินความล้าจากการทำงานด้วยวิธีต่างๆ
                    1) การทดสอบความล้าโดยการวัดความสามารถของตาในการจับความถี่ของการกระพริบของดวงไฟ (Critical Flicker Frequency : CFF) การวัดค่า CFF เป็นการวัดความสามารถของตาในการจับความถี่ของการกระพริบ/การหยุดนิ่งของดวงไฟ โดยใช้เครื่อง Flicker Instrument นิยมนำมาใช้ในการทดสอบความล้าของสายตา ความล้าทั่วไป หรือความเค้นด้านจิตใจ (Mental Stress) จากการทำงาน เป็นการวัดแบบความรู้สึกที่ตัวบุคคล (Subjective Measurement)
                    
2) การวัดคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (Surface Electromyography : EMG) 
                        
EMG เป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกค่ากระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาขณะกล้ามเนื้อหดตัว โดยจะติด Surface Electrodes ไว้บนกล้ามเนื้อที่จะศึกษา ถ้าหากมีการออกแรงหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อที่มากขึ้น ค่าคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อก็จะสูงขึ้น

           ดังนั้นวิธีการป้องกันและควบคุมความล้าจากการทำงานตามหลักการยศาสตร์ สามารถทำได้ดังนี้
                    
1) การควบคุมทางด้านวิศวกรรม เช่น การปรับปรุงแก้ไขสภาพการทำงานเพื่อลดภาระการใช้กล้ามเนื้อ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน
                    
2) การควบคุมด้านการบริหารจัดการ เช่น การจัดเวลาการทำงานและระยะเวลาพักให้เหมาะสม การกำหนด/ควบคุมจังหวะการไหลของงานให้พอเหมาะ


                    เมื่อเกิดความล้าจากการทำงานขึ้นแล้ว นอกจากจะทำให้ไม่ได้งานดีอย่างที่ตั้งใจไว้ ยังส่งผลเสียด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการรู้จักพักผ่อนร่างกายให้คลายความล้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดความล้าและเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแล้ว การทำงานต่างๆ ก็จะมีประสิทธิภาพ เกิดความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น และยังทำให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย

 

Visitors: 415,008