คำถามที่พบบ่อยในการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ... หากเจอแบบนี้จะตอบอย่างไรดี

ผยแพร่เมื่อ: 30/12/2563
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย (ธีรวิโรจน์) เทศกะทึก 
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เรื่อง คำถามที่พบบ่อยในการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ

หากเจอแบบนี้จะตอบอย่างไรดี

 

           การพูดคุยครั้งที่แล้ว ทิ้งท้ายว่า จะมาพูดคุยต่อเนื่องเกี่ยวกับ “การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ (Health risk assessment, HRA)” จป. ทุกท่านคุ้นเคยเทคนิคในการทำ HRA 4 ขั้นตอนกันดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ท่านอาจเคยได้ยิน “คำถามที่พบบ่อยในการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ...หากเจอแบบนี้จะตอบอย่างไรดี” เช่น
                      1) เราจะมีเกณฑ์จะตัดสินใจที่จะประเมินความเสี่ยงของสารเคมีต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ?  แท้ที่จริงแล้ว ลักษณะงานที่จะต้องประเมินความเสี่ยง ได้แก่
                                 (1) งานที่มีแนวโน้มของการสัมผัสสารเคมีสูงเกินกว่าค่า OEL-TWA
                                 (2) งานที่มีความรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือ มีการร้องเรียน  
                                 (3) งานใหม่ซึ่งไม่เคยมีการประเมินความเสี่ยงมาก่อน
                                 (4) งานที่เป็นข้อกําหนดตามกฎหมายกำหนด เป็นต้น
           นอกนั้นมีคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงในขั้นตอนที่ 2) มักมีคำถามว่า “ใช้เกณฑ์การตัดสินใจการจำแนก Health Effect Rating, HER ระดับ 1-5 ได้อย่างไรบ้าง” ในวันนี้จะขอทบทวนขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ 4 ขั้น พร้อมทั้งตอบคำถามในขั้นตอนที่ 2 ไปด้วย ดังนี้
                      
1 การระบุว่าเป็นสารเคมีอันตราย ขั้นตอนแรกนี้ เราต้องเตรียมพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีและข้อมูลกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน โดยควรกำหนดรายชื่อพื้นที่ที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงจากสารเคมีที่มีกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น วัตถุดิบ ข้อมูลเคมีภัณฑ์ ปริมาณสารเคมีที่ใช้ สมบัติของสารเคมี เครื่องมือ อุปกรณ์ ข้อมูลที่บางส่วนได้จากการเดินสำรวจกระบวนการผลิต  สามารถทำตารางแยกสิ่งคุกคามตามพื้นที่ เพื่อชี้บ่งชนิดสิ่งคุกคามทางเคมีต่อสุขภาพในแต่ละพื้นที่ เพื่อระบุดัชนีในการตรวจวัดสิ่งคุกคามที่จะมีผลต่อสุขภาพเช่น แผนกอะไร ใช้สารเคมีชนิดใด ถี่เพียงใด (เช่น ความถี่ในการสัมผัส เช่น เดือนละ 1 ครั้ง Exposure frequency, EF) นานแค่ไหน (Exposure duration, ED) รับสัมผัสทางใด (Route of exposure) – ข้อมูลการวิเคราะห์กิจกรรมของแต่ละตำแหน่งงาน (Job task analysis) ข้อมูลจากการเดินตรวจสอบด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์งาน หรือ กิจกรรมของผู้ปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบอาชีพ เช่น ระบุกลุ่มเสี่ยง บันทึกเกี่ยวกับการจ้างงาน สุขภาพของพนักงาน ข้อมูลต่าง ๆเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพได้
                      
2 การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ การตอบสนองของร่างกาย  ข้อมูลในขั้นตอนนี้ มีคำถามมาบ่อยครั้งว่า “เราจะมีหลักการจำแนก Health Effect Rating (HER) หรือ Severity Rating (SR) ตามระดับ Hazard Rating (HR) อย่างไรดี ?” ซึ่งการจำแนกระดับ 1-5 นั้นต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนมาประกอบการตัดสินใจร่วมกันของผู้ประเมิน โดยเตรียมข้อมูลด้าน ระบาดวิทยาและ/หรือ พิษวิทยาของสารเคมี รายงานการเจ็บป่วยที่สัมผัสสารเคมีอันตรายที่ศึกษาผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพ ควรค้นข้อมูลสารเคมีอันตราย และปริมาณสารเคมีอันตรายและการตอบสนองของร่างกาย  เช่น การจำแนกสิ่งคุกคาม Hazard category: LD50/LC50  สามารถค้นได้ในสมุดปกม่วง นอกนั้นข้อมูลการจำแนกกลุ่มสารก่อมะเร็ง โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น IARC (International Agency for Research on Cancer)ACGIH (The American Conference of Governmental Industrial Hygienists) NTP (Department of Health and Human Services National Toxicology Program) ภายใต้ ATSDR ข้อมูล EU CLP (The Classification, Labelling and Packaging (CLP) Regulation) อื่นๆ
                      
ข้อมูลที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจในการจำแนกระดับ HER อีกประการ คือ ข้อมูล Hazard identification ที่แสดงอยู่ในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยอยู่แล้ว ส่วนของหมายเลขรหัสข้อความแสดงความเป็นอันตราย (H–statement Code Numbers) ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard statements หรือ H–statements) ให้ข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับชนิดของอันตรายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอธิบายถึงความรุนแรงของอันตรายสารเคมีด้วย กลุ่มอันตรายต่อสุขภาพ (Health hazards) เช่น H300 หมายถึงตายได้ถ้ากลืนกิน (Fatal if Swallowed)  และ R–phrase หรือ Risk phases ที่จะแสดงข้อความแสดงความเป็นอันตราย หรือความเสี่ยงของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ วลีเหล่านี้หลายวลีจะอ้างถึงผล กระทบต่อสุขภาพมนุษย์ เช่น R 70 เป็นเข้าตา เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการจำแนกระดับ Health Effect Rating ได้
                      3) การประเมินการรับสัมผัส  ปกติจะจำแนกระดับการรับสัมผัสตามกลุ่มที่รับสัมผัสคล้ายกัน (Similar Exposure Group, SEG) โดยจำแนกได้ 2 วิธี คือ
                                 1) จากการสังเกต  และ
                                 2) จากผลการเก็บตัวอย่างสารเคมีในอากาศ และสารเคมีในร่างกาย ตามลำดับ การจําแนก SEG  เพื่อประเมินการรับสัมผัสสารเคมีตามพื้นที่ในการทำงาน พิจารณาจากลักษณะงาน ตำแหน่งงาน จำนวนผู้ประกอบอาชีพตามพื้นที่ที่จะถูกประเมิน
                      
การจำแนกระดับการรับสัมผัส(Exposure Rating, ER)  ได้จากการนำผลตรวจวัดค่าระดับความเข้มข้นสารเคมี (Concentration) ในบรรยากาศ หรือในร่างกาย แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานสารเคมี(Occupational Exposure Limits, OELs)  เราจะได้ระดับความเข้มข้นสารเคมี (Concentration Rating, CR) ตัวอย่างตามกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการประเมินความเสี่ยงด้านสารเคมีต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม จำแนก CR เป็น 5 ระดับ
                      
ประกอบด้วย ระดับต่ำกว่า 10 % ระดับต่ำกว่า 50 % ระดับต่ำกว่า 75 %  ระดับ 75-100 และ ระดับสูงกว่า 100 % ตามลำดับ หลังจากนั้นนำค่า CR ไปเมตริกกับความถี่การรับสัมผัส (Exposure Frequency, EF) เช่น ระดับ 1 คือ ความถี่ที่ได้รับสัมผัสปีละ 1 ครั้ง ระดับ 2 คือ รับสัมผัสปีละ 2-3 ครั้ง ระดับ 3 คือ รับสัมผัสเดือนละ 2-3 ครั้ง ระดับ 4 คือ รับสัมผัส 2-4 ชั่วโมงต่อเนื่องกันใน 1กะ และระดับ 5 คือ รับสัมผัสต่อเนื่องตลอดทั้งกะ ตามลำดับ แล้วจะได้ระดับการสัมผัส (Exposure Rating, ER) ที่แสดงในตาราง ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการประเมินความเสี่ยงด้านสารเคมี พ.ศ. 2555 http://www.fio.co.th/web/tisi_fio/fulltext/TIS2535-2555.pdf

 

                                                               ER = CR x EF

 

                      4 การระบุลักษณะเฉพาะความเสี่ยง ขั้นตอนนี้เป็นการประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพ  5 ระดับได้แก่ ระดับยอมรับได้ หรือ ไม่มีนัยสำคัญ ระดับต่ำ  ระดับปานกลาง  ระดับสูง และ ระดับสูงมาก ตามลำดับ ได้ระดับความเสี่ยงจากการนำระดับการรับสัมผัส (Exposure Rating, ER) จากการเมตริกระหว่างค่า CR x EF แล้วนำมาเมตริกกับระดับ Health Effect Rating (HER) หรือระดับความรุนแรงที่เราทบทวนมาจากจากขั้นตอนที่ 2 (ระดับ 1 ถึง 5) แล้วเทียบคะแนนในตาราง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการประเมินความเสี่ยงด้านสารเคมี พ.ศ. 2555

 

                                                               ระดับความเสี่ยง =ER x HER

 

                      กล่าวโดยสรุป การประเมินความเสี่ยงของอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพผู้ประกอบอาชีพจึงมีความสำคัญมาก เพื่อการวางแผน และแก้ไขปัญหาจัดการสารเคมีและดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

 

 

Visitors: 415,038