กรณีศึกษา: การดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทย ตอนที่ 1

เผยแพร่เมื่อ: 26/12/2563 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เรื่อง กรณีศึกษา: การดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ในประเทศไทย ตอนที่ 1 

           ในตอนนี้ จะได้พบกับกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทยที่นำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้

           เอสซีจี เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำของประเทศไทย ที่มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพโดยมีโครงการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลากหลายโครงการ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผู้นำนวัตกรรมด้านพลาสติกและเคมีภัณฑ์  มีความตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยในปี 2557 บริษัท ระยอง โอเลฟินส์ จำกัด และ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้นำเกณฑ์ของการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาประยุกต์ใช้และยกระดับระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จนสามารถผ่านเกณฑ์ และได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสองแห่งแรกในประเทศไทย

           ต่อมาในปี 2558 บริษัทที่เหลือใน ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จำนวน 10 บริษัท 12 โรงงาน ได้ดำเนินการตรวจประเมินตามเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) และได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ได้การรับรองครบทุกโรงงาน 100% แห่งแรกของประเทศไทย หมายถึงทุกบริษัทของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีส่วนร่วมในการการส่งเสริมให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้ง 14 ข้อสำหรับโครงการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

           1.ด้านการใช้วัตถุดิบ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการพี่งพาอาศัยกันระหว่างโรงงาน (Industrial Eco Symbiosis) ทำให้ตั้งแต่ปี 2550 สามารถลดการใช้วัตถุดิบ หรือนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ได้ คิดเป็น 80,000 ตันต่อปี โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ได้แก่ 
                      
โครงการแลกเปลี่ยนสารไฮโดรคาร์บอนระหว่างโรงงานโอเลฟินส์ของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี
                      
โครงการนำก๊าซเหลือทิ้ง (Vent gas) ของบริษัท ไทย โพลิเอททิลีน จำกัด กลับเข้ากระบวนการผลิตเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบใหม่
                      
โครงการนำสารไฮโดรคาร์บอนที่ต้องเผาทิ้งของลูกค้า (Off-gas) มาเพิ่มมูลค่าโดยการนำกลับมากลั่นแยกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบใหม่
                      
โครงการนำ PTA residue กลับมาใช้ใหม่ เพื่อใช้ทดแทนวัตถุดิบบางส่วนในกระบวนการผลิต
                      
โครงการออกแบบแม่พิมพ์ เพื่อลดของเสียจากก้านข้อต่อ
                      
โครงการนำสารเมทิลเมทาครีเลตจากกระบวนการล้างกลับมาใช้ใหม่

           2.ด้านพลังงานและก๊าซเรือนกระจก เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การนำพลังงานความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ การใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพ และการพี่งพาอาศัยกันระหว่างโรงงาน (Industrial Eco Symbiosis) ทำให้ตั้งแต่ปี 2550 สามารถลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 3,100,000 กิกะจูลต่อปี หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 255,000 ตันต่อปี และนอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Roof Project) กำลังการผลิตไฟฟ้า 743 kWh/วัน (1,014,000 kWhต่อปี) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าได้ 590 ตันต่อปี โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ได้แก่ 
                      
โครงการเคลือบผนังเตาเพื่อลดการสูญเสียความร้อน (emisspro®)
                      
โครงการนำความร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้ทำความเย็นในส่วนสำนักงาน (Absorption Chiller)
                      
โครงการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาผลิตไอน้ำ (ENCOP)
                      
โครงการนำก๊าซชีวภาพที่เกิดจากระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงาน
                      
โครงการแลกเปลี่ยนพลังงานเหลือทิ้งโดย Flare gas recovery
                      
โครงการติดตั้ง Economizer เพื่อนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาให้ความร้อนน้ำที่ต้องส่งเข้าหม้อไอน้ำ

           3.การจัดการน้ำและน้ำเสีย นำหลักการ 3 Rsมาประยุกต์ใช้ เช่น การลดการสูญเสียน้ำในการผลิต การนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ และการพี่งพาอาศัยกันระหว่างโรงงาน (Industrial Eco Symbiosis) สามารถลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำภายนอกลงได้มากกว่า 2,700,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการ ได้แก่ 
                      
โครงการติดตั้งระบบ RO สำหรับรีไซเคิลน้ำหล่อเย็น
                      
โครงการสกัดเกลือรวมเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบโรงงานกระดาษ (Mixed Salt Recovery Project) (อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ)

           4.การจัดการคุณภาพอากาศ การลดมลพิษที่ระบายสู่บรรยากาศ โดยดำเนินการตั้งแต่การออกแบบ การควบคุมกระบวนการผลิต การตรวจติดตาม และการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ได้แก่
                      
โครงการติดตั้ง Aluminum Dome Roof
                      
โครงการติดตั้งระบบ Vapor Recovery Unit
                      
โครงการติดตั้งหัวเผาแบบ Ultra Low NOx
                      
โครงการติดตั้งระบบ De NOx เพื่อลดการเกิด NOx จากการเผาไหม้

           5.การจัดการกากของเสีย นำหลักการ 3 Rsมาประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณของเสีย และนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ โดยการปรับปรุงกระบวนการผลิต และการพี่งพาอาศัยกันในระหว่างโรงงาน (Industrial Eco Symbiosis) โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ ได้แก่
                      
โครงการศึกษาวิจัยการนำกากตะกอนจุลินทรีย์จากระบบบำบัดน้ำเสียมาทำปุ๋ย
                      
โครงการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ (Anaerobic WWT) เพื่อลดปริมาณกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย
                      
โครงการนำของเสียประเภทฉนวนไปรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นอิฐทนไฟ

           6.การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย การจัดการสารเคมีที่อยู่ในโรงงาน โดยพิจารณาความเข้ากันได้ของสารเคมี การป้องกันสารเคมีหกรั่วไหล การเตรียมการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยลงมาทดแทนสารเคมีเดิม ได้แก่
                      
โครงการเปลี่ยนสารปรับแต่งสีเม็ดพลาสติก PET จากสารโคบอลต์อะซิเตต ให้เป็น Red/Blue toner
                      
โครงการยกเลิกการใช้สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในระบบบำบัดน้ำเสีย

           7.ด้านโซ่อุปทานสีเขียว การส่งเสริมให้คู่ค้าหรือคู่ธุรกิจมีการผลิต หรือใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อการจัดจ้างสินค้าและบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยในปี 2557 ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี มีการจัดซื้อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.05 พันล้านบาท รวมถึงได้มีการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ฉลากลดคาร์บอน (Carbon Reduction Label) ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) และฉลาก SCG eco value

           จะเห็นได้ว่า เราสามารถนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ในการดำเนินงานได้หลากหลายด้าน นอกจากนี้ ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควรจะพิจารณามุมมองด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ได้แก่
                      
1) การพัฒนาพลังงานยั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยี และระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด
                      
2) การพัฒนายั่งยืน ควรอยู่บนพื้นฐานของการใชัพลังงานทดแทนจากแหล่งทรัพยากรภายในประเทศ ซึ่งสามารถมั่นใจในแหล่งทรัพยากรและส่งผลให้เกิดการบำรุงรักษาแหล่งทรัพยากรอีกด้วย นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว การใช้พลังงานทดแทนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่า
                      
3) การผลิตและการใช้พลังงาน ซึ่งครอบคลุมถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการ จะต้องไม่ทำลายระบบนิเวศน์ สังคมและวัฒนธรรม
                      
4) ถ้าในอนาคตไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านี้ได้ ผู้ที่ก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเนื่องจากตนเองได้รับผลประโยชน์ โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย

           สำหรับในตอนหน้า จะได้พบกับกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในโครงการอื่นๆ ต่อไปค่ะ

 

Visitors: 414,815