อุบัติเหตุจากรถยกป้องกันได้ (Forklift Accidents Prevention)

เผยแพร่เมื่อ: 22/12/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์
กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

เรื่อง อุบัติเหตุจากรถยกป้องกันได้ (Forklift Accidents Prevention)

 

          สถิติจำนวนผู้ประสบอันตรายร้ายแรงจากเครื่องจักรในสหรัฐอเมริกา
                    จากข้อมูลรวบรวมจำนวนจำนวนผู้ประสบอันตรายร้ายแรงจากเครื่องจักรในสหรัฐอเมริกา พบว่าอุบัติเหตุจากรถยกจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของอุบัติเหตุจากเครื่องจักร โดย 1 ใน 6 หรือราว 17% เป็นอุบัติเหตุที่มีรถยก (Forklift) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย!  และเมื่อลงไปในรายละเอียดพบว่า จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากรถยกในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 1 ใน 4 หรือราว 25% ที่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

          ความเสียหายจากรถยกในแต่ละปี
                    
อุบัติเหตุจากรถยกสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยพบว่ามีอุบัติเหตุร้ายแรงจากรถยกในสหรัฐอเมริกามากถึง 110,000 กรณีที่เกิดขึ้นในแต่ละปี โดยสร้างความเสียหายทางธุรกิจราว 4,000 ล้านบาท (135,000,000 USD) ในแต่ละปีรวมทั้งยังคร่าชีวิตผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 100 คนในแต่ละปี!
                    
มีข้อมูลที่น่าสนใจคือรถยกมากกว่า 11% มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในการทำงานในทุกๆ ปี โดยรถยกกว่า 90% ของรถยกทั้งหมดในสถานที่ปฏิบัติงาน ล้วนมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในทางใดทางหนึ่งตลอดอายุการใช้งานของรถยก  และยังพบว่า ไม่เพียงเฉพาะผู้บังคับรถยก (Forklift Operator) เท่านั้นที่ตกอยู่ในความเสี่ยง แต่เกือบ 80% ของผู้ประสบเหตุอันตรายจากรถยกกลับเป็นผู้ที่สัญจรอยู่ในเส้นทางปฏิบัติงานของรถยก

          อุบัติเหตุร้ายแรงจากรถยกแยกตามชนิดอุตสาหกรรม และอายุ
                    เมื่อแยกตามชนิดของรถยก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประสบเหตุอันตรายร้ายแรงจากรถยก และอายุผู้ปฏิบัติงาน พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน โดยพบว่าอุบัติเหตุมากกว่าครึ่งมาจากการทับจากพลิกคว่ำและการถูกรถยกหนีบกับผนัง  ในส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าเกือบครึ่งเกิดขึ้นในโรงงานผลิต และกว่า 1 ใน 4 เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้าง ในส่วนของอายุผู้บังคับรถยก พบว่าช่วงอายุ 35 – 44 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูง แต่กลับเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับหนึ่ง

 

          การป้องกันอุบัติเหตุจากรถยก
                    การป้องกันรถยกจากการพลิกคว่ำ และแนวทางปฏิบัติขณะรถยกพลิกคว่ำ นับเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บังคับรถยกที่ควรได้รับการฝึกอบรมและคำแนะนำก่อนเข้าปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถยก นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจหลักการทำงานของรถยก ซึ่งมีข้อแตกต่างจากการขับขี่รถยนต์โดยทั่วไป

          บทสรุป
                    
จากข้อมูลของหน่วยบริหารความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (OSHA) พบว่า 70% ของอุบัติเหตุจากรถยกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ โดยการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานกับรถยก และการควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บังคับรถยกโดยให้ทำตามขั้นตอนการทำงานกับรถยกอย่างปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
                    
ในการทำงานเกี่ยวกับรถยกในประเทศไทย จากประสบการณ์พบว่ามีลักษณะหลายประการที่ใกล้เคียงกับข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งข้อมูลและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยให้ทางเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปรับปรุงการทำงานเกี่ยวกับรถยกในสถานประกอบกิจการต่อไป

References:

 

 

Visitors: 414,677