การป้องกันและควบคุมความเครียดจากการทำงานตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ: 08/12/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม 
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่อง การป้องกันและควบคุมความเครียดจากการทำงาน
ตามหลักการยศาสตร์

          การทำงานถ้าได้รับความกดดันและมีความต้องการให้งานสัมฤทธิ์ผลในระยะเวลาที่รวดเร็วหรือมีความต้องการที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียดที่สัมพันธ์กับการทำงานได้  ซึ่งนั่นก็คือ เกิดความเครียดจากการทำงาน (Occupational Stress) นั่นเอง

          ความหมายของความเครียดจากการทำงาน คือ เป็นสภาวะทางอารมณ์หรือจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างระดับความต้องการของงาน และระดับความสามารถของบุคคลในการทำงานนั้นๆซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหรือความเจ็บป่วย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคแผลในกระเพาะอาหาร ปัญหาระบบทางเดินอาหาร และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นต้น

          สาเหตุของความเครียดจากการทำงาน ได้แก่
                    
1) สิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น เสียงดังเกินไป แสงสว่างไม่เพียงพออุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป
                    
2) ลักษณะงาน เช่น ภาระงาน จังหวะของงาน ระยะเวลาการทำงาน บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ การควบคุมงาน ความซับซ้อนของงาน
                    
3) ปัจจัยทางองค์กรการทำงาน เช่น การมีส่วนร่วมของพนักงาน การสนับสนุนจากองค์กร ลักษณะเฉพาะของบุคคล
                    
4) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพ เช่น ภาวะโภชนาการ การออกกำลังกาย บุคลิกลักษณะของบุคคล ความเหมาะสมระหว่างงานที่ต้องทำกับความสามารถ

          การประเมินความเครียดจากการทำงาน ประกอบด้วย
                    
1) วิธีการทางสรีรวิทยา ใช้เพื่อประเมินความต้องการของงานทั้งด้านกายภาพและจิตใจ และนำมากำหนดระยะเวลาพักที่เหมาะสม หรือวิธีการปรับปรุงสภาพการทำงาน เช่น การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจเป็นต้น
                    
2) วิธีการทางชีวเคมี ทำได้โดยการตรวจวัดของเหลวในร่างกาย เช่น คอร์ติซอล อะดรีนาลิน นอร์อะดีนาลิน กลูโคส ไขมัน
                    
3) วิธีการทางจิตวิทยา ทำได้โดยใช้แบบทดสอบททางจิตสังคม (Psychosocial Questionnaire) และแบบสำรวจอารมณ์ความรู้สึก (Mood Checklist)
                    
4) วิธีการทางพฤติกรรม มีวิธีการหลากหลายทางพฤติกรรมศาสตร์ที่ใช้ในการประเมินความเครียดจากการทำงานได้ เช่น การสังเกตพฤติกรรมเพื่อประเมินว่าเบี่ยงเบนไปจากปกติหรือไม่ การตรวจสอบการสูบบุหรี่ หรือการดื่มสุราที่เพิ่มมากขึ้น

          ดังนั้นวิธีการป้องกันและควบคุมความเครียดจากการทำงานตามหลักการยศาสตร์ สามารถทำได้ดังนี้
                    
1) การออกแบบสถานที่ทำงานใหม่ (Workstation Redesign) เพื่อให้มีท่าทางการทำงานที่เหมาะสมและความสบาย
                    
2) การออกแบบงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีส่วนร่วมในการควบคุมงาน และมีโอกาสตัดสินใจในการทำงาน
                    
3) การจัดองค์กรการทำงาน คือ การให้ความสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
                    
4) การจัดการที่ตัวบุคคล เช่น การคลายเครียด การนั่งสมาธิ การออกกำลังกาย

          วิธีการทั้งสี่นี้ได้รับการตรวจสอบแล้วว่า สามารถใช้ควบคุมความเครียดในงานได้ แต่ในหลายกรณีอาจต้องใช้หลายๆ แนวทางการป้องกันควบคุมร่วมกัน

          เมื่อเกิดความเครียดจากการทำงานขึ้นแล้ว นอกจากจะทำให้ไม่ได้งานดีอย่างที่ตั้งใจไว้ ยังส่งผลเสียด้านอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการรู้จักผ่อนคลายความเครียดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยคลายเครียดและเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ทำให้มีความสุขในชีวิตมากขึ้นด้วย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอวิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียดจากการทำงานของกรมสุขภาพจิต ซึ่งมี 10 วิธี ดังต่อไปนี้ คือ
                    
1. ออกกำลังกาย เมื่อรู้สึกเครียดจากการทำงาน การออกกำลังกายจนได้เหงื่อจะช่วยคลายเครียดได้ หลังเลิกงานหรือในวันหยุดควรออกกำลังกายหรือกีฬาบ้าง
                    
2. การพักผ่อนหย่อนใจ หลังเลิกงานแล้วควรจะได้พักผ่อนหย่อนใจบ้างเพื่อผ่อนคลายจิตใจ
                    
3. การพูดอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานได้
                    
4. การแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม การเก็บกดอารมณ์ที่ไม่ดี หรือแสดงอารมณ์ที่ไม่ดี จะทำให้เกิดความเครียด ควรฝึกควบคุมอารมณ์ คิดก่อนทำ และทำอย่างเหมาะสม จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์และไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา
                    
5. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน จะช่วยให้รู้สึกมีความสุขในการทำงานและช่วยให้ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ
                    
6. การบริหารเวลา การบริหารเวลาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                    
7. การแก้ปัญหาอย่างถูก ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาที่สาเหตุ หาสาเหตุที่แท้จริงให้ได้ แล้วแก้ตรงนั้น       
                    
8. การปรับเปลี่ยนความคิด ลองปรับเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เช่น คิดอย่างใช้เหตุผล คิดหลายๆ แง่มุม
                    
9. การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" จิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยให้เอาชนะความเครียดได้ การสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ทำได้โดยการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอว่า "เราต้องทำได้"
                    
10. การรู้จักยืนยันสิทธิ์ของตน ความเครียดอาจเกิดได้จากการยอมอ่อนข้อหรือเกรงใจผู้อื่นมากเกินไปจนทำให้ตัวเองเดือดร้อน หากรู้จักยืนยันสิทธิของตนเสียบ้าง จะช่วยให้เป็นที่เกรงใจของผู้อื่นมากขึ้นและเครียดน้อยลง

          ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดจากการทำงานขึ้น เราจึงควรบริหารจัดการงานและดูแลจิตใจตัวเองอย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยให้ชีวิตจมอยู่กับความกดดันและความเครียดจากการทำงานการทำงานต่างๆ ก็จะมีประสิทธิภาพ เกิดความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น และยังทำให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย

Visitors: 414,995