การประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (Health Risk Assessment)

เผยแพร่เมื่อ: 03/12/2563....,
เขียนโดย อาจารย์ดร.พว.วุชธิตา คงดี
ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

 

การประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (Health Risk Assessment) 

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า Health promotion in the Workplace เป็นกระบวนการส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงาน ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างและสังคม ในการที่จะปรับปรุงและส่งเสริมสุขภาพของบุคคลในที่ทำงานให้ดีขึ้น โดยไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการป้องกันผลกระทบและอันตรายจากการทำงานเท่านั้น แต่มองในภาพองค์รวมทั้งหมดของคนทำงานที่มีผลต่อสุขภาพทั้งด้านกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ รวมถึงปัจจัยทางสังคม และปัจจัยส่วนบุคคลของคนทำงานเองด้วย

the combined efforts of employers, employees and society to improve the health and well-being of people at work.”

 แต่ก่อนที่จะสามารถดำเนินการส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงานได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ จป.วิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในงานก่อนเสมอ โดยต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญหลายๆ ด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนทำงานจากสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางสภาวะแวดล้อมในสถานที่ทำงาน

การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ (health risk assessment; HRA) หมายถึงการศึกษา “โอกาส” หรือ “ความน่าจะเป็น” ของผลกระทบจากสิ่งคุกคาม (hazard) ปัจจัยเสี่ยง สารเคมี ขั้นตอนการทำงาน และสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของคนทำงาน เพื่อจะให้ได้รู้ว่าความเสี่ยงนั้นมากน้อยเพียงใดและนำข้อมูลการประเมินไปบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยง (Risk Management) และจัดการผลกระทบดังกล่าวให้เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการหรือมาตรการในการปรับปรุง/ป้องกันและการส่งเสริมสุขภาพของคนทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรต่อไป

 

ในปี ค.ศ. 1983 องค์กร National Research Council แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพไว้เป็น 4 ขั้นตอน ซึ่งลำดับขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงแบบนี้ ได้รับการยอมรับในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง การดำเนินการแต่ละขั้นตอน มีดังนี้

1. การบ่งชี้สิ่งคุกคาม (hazard identification)  ซึ่งเป็นขั้นตอนในการบ่งชี้ว่าสิ่งใด หรือสภาวะใดเป็นปัจจัยคุกคามต่อสุขภาพ นั่นคือ หากคนทำงานสัมผัสสิ่งนั้นหรือสภาวะนั้นแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพขึ้นได้ ซึ่งในแต่ละโรงงาน หรือแต่ละสถานประกอบการย่อมมีสิ่งคุกคามที่แตกต่างกัน จึงเป็นหน้าที่สำคัญของ จป. วิชาชีพที่ต้องบ่งชี้สิ่งคุกคาม ว่าสิ่งใดคือ สิ่งคุกคามต่อสุขภาพพนักงานในองค์กรของตน เช่น การตรวจหาสารตะกั่วในเลือดจำเป็นต้องตรวจในพนักงานอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจในพนักงานอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากพนักงานก่อสร้างไม่มีข้อบ่งชี้ในการได้รับสารตะกั่ว เป็นต้น จึงไม่จำเป็นต้องจัดให้มีในรายการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ควรจัดให้มีการตรวจสมรรถภาพปอด หรือ Pulmonary Function Testing (PFT) แทน เพราะมีตัวบ่งชี้สิ่งคุกคามปอด คือการสัมผัสฝุ่นจากงานก่อสร้าง เป็นต้น                 

2. การประเมินขนาดการสัมผัสกับผลกระทบที่เกิดขึ้น (dose-response assessment) เป็นขั้นตอนการประเมินว่าการสัมผัสสิ่งคุกคามนั้นมีขนาดการสัมผัส (dose) ในแต่ละระดับมากน้อยเพียงใดและจะทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพขึ้นอย่างไร ในขั้นตอนนี้จะทำให้ทราบว่าสิ่งคุกคามที่เราพิจารณานั้น มีความรุนแรงหรือมีความสามารถในการก่อผลกระทบต่อสุขภาพได้มากเพียงใด และทำให้พอทราบว่าการสัมผัสสิ่งคุกคามในขนาดเท่าใดที่น่าจะเป็นระดับที่ปลอดภัย ระดับใดที่จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือระดับที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน

       ตัวอย่างการประเมินการสัมผัส

  • การตรวจสุขภาพก่อน ขณะ และหลังทำงาน
  • ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวเวชศาสตร์(Occupational Health Examinations) เช่น การตรวจหาสารเบนซีนและโทลูอีน (Benzene & Toluene) การตรวจหาสารตะกั่ว เป็นต้น
  • การเฝ้าคุมการสัมผัส เช่น การเฝ้าคุมที่ตัวบุคคล การเฝ้าคุมที่ตัวกลางหรือสถานที่
  • แบบจำลองการสัมผัส เช่น แบบจำลองการปลดปล่อย  แบบจำลองการสัมผัสในประชากร

      3. การประเมินการสัมผัส (exposure assessment) เป็นการประเมินระดับการสัมผัสที่แต่ละคนทำงานได้รับว่ามากหรือน้อยเพียงใด โดยคำนึงถึงขนาดการสัมผัส (dose) ระยะเวลาที่สัมผัส (duration) ช่องทางการสัมผัส (route of exposure) เช่น ทางการหายใจ ทางผิวหนัง ทางการกิน เป็นต้น ซึ่งสามารถประเมินการสัมผัสได้หลายวิธี เช่น การเดินสำรวจโรงงาน (walkthrough survey) การนำผลตรวจสุขภาพรายบุคคล ผลตรวจสุขภาพในกลุ่มเสี่ยงทางอาชีวเวชกรรม นำมาทำการวิเคราะห์รายงานผลสุขภาพในระดับบุคคล และวิเคราะห์ในภาพรวมของโรงงานหรือภาพรวมขององค์กร (Corporate Health Report) เพื่อประเมินระดับการสัมผัสที่พนักงานแต่ละคนได้รับว่ามากน้อยเพียงใด

4. การอธิบายลักษณะของความเสี่ยง (risk characterization) เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์ โดยนำข้อมูลจากทั้ง 3 ขั้นตอนก่อนหน้ามาประเมินว่าการสัมผัสสิ่งคุกคามนั้น ถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด

 

สรุปแล้วการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพนั้น หมายถึงการประเมินสิ่งคุกคาม (hazard identification) ต่อสุขภาพของคนทำงาน เป็นการประเมินการสัมผัส (exposure assessment) ประเมินขนาดสัมผัสกับการตอบสนอง (dose-response assessment) และหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของการสัมผัสกับโอกาสของการเกิดผลเสียต่อสุขภาพ การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพนั้นมีความสำคัญอย่างมากในทางอาชีวอนามัยซึ่งจะช่วยให้ จป.วิชาชีพ สามารถนำข้อมูลจากการประเมินนี้ ไปใช้ในทางปฏิบัติร่วมกับการพิจารณาในเชิงนโยบายขององค์กรเพื่อนำไปปรับปรุง ป้องกัน หรือส่งเสริมสุขภาพให้กับพนักงาน และเพื่อควบคุมให้ระดับของสิ่งคุกคามนั้นอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อคนทำงานต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ คือ การจัดการความเสี่ยง (risk management) จป.วิชาชีพและผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการจัดการความเสี่ยงนั้นจะต้องเลือกวิธีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม และดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย อีกกระบวนการหนึ่งที่ จป.วิชาชีพควรคำนึงถึง คือต้องมีการสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) ที่ได้จากประเมิน ให้พนักงานทราบ เพื่อให้พนักงานเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้น ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญอีกหนึ่งหน้าที่ของ จป. ที่จะต้องสื่อสารให้พนักงานในองค์กรเกิดการตะหนักรู้ในอันตรายที่จะเกิดจากความเสี่ยงนั้น แต่ก็ต้องไม่ทำให้พนักงานเกิดความตื่นตระหนกมากเกินไป และต้องทำให้พนักงานผู้ที่ได้รับความเสี่ยงนั้นมีความรู้ สามารถดูแลตัวเอง และรับมือกับความเสี่ยงนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย จึงจะนับว่าได้ว่าการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพนั้นมีประโยชน์อย่างแท้จริง

 

ที่มา

จุฑารัตน์ จิโน. 2562. ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ. หนังสือแรกเริ่มเรียนรู้อาชีวเวชศาสตร์.

Gordis L. 1988. Epidemiology and Health Risk Assessment. New York: Oxford University Press.

National Research Council. 1983.Risk assessment in the federal government: Managing the process. Washington, D.C.: National Academy Press.

The European Network for Workplace Health Promotion

Visitors: 414,616