แผนการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้าง (Construction Readiness Plan : CRP)

เผยแพร่เมื่อ: 02/12/2563....,
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัย ความมั่นคง ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

บริษัทเอกชน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน

 

แผนการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้าง (Construction Readiness Plan : CRP)

 

สำหรับโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ที่อาจมีอันตราย และความสูญเสียเกิดขึ้นได้มากมาย โดยที่เราไม่คาดคิด สิ่งหนึ่งที่ผมและผู้รับเหมา (จำเป็นต้อง) ใช้เพื่อลดความเสี่ยง และควบคุม บริหารจัดการความปลอดภัยในงานก่อสร้าง นั่นก็คือ แผนการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้าง (Construction Readiness Plan : CRP) ซึ่งวันนี้ผมจะเอาเคล็ดลับของการเขียนแผนดังกล่าวนี้มาบอกทุกท่านครับ

ประโยชน์ของ แผนการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้าง (Construction Readiness Plan : CRP)

1. ช่วยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ล่ะกิจกรรม เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนแผน/วิธีการทำงาน หรือ กำหนดมาตรการป้องกัน และจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. มอบหมายและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ สำหรับ ของบุคคลากรในตำแหน่งที่สำคัญในโครงการก่อสร้าง ซึ่งในขั้นตอนนี้ ต้องทำการประเมิน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ (Competency) ของบุคคลากรแต่ล่ะตำแหน่งด้วยว่ามีคุณสมบัติเพียงพอ หรือเหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นหรือไม่

3. เข้าใจขอบเขตการทำงานที่ได้รับมอบหมาย(Scope of work) อย่างชัดเจน เพื่อการกำหนด แผนการดำเนินงานก่อสร้าง (ConstructionProject Schedule) เพื่อลดข้อผิดพลาดในการเริ่มกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ และควบคุมระยะเวลาการทำงานของแต่ละกิจกรรมย่อยให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลให้ส่งมอบโครงการได้ทันตามกำหนดเวลา

4. ลดความผิดผลาดในการประสานงาน ลดรายจ่ายที่เกินความจำเป็น โดยการ วางแผนกำลังคนในแต่ล่ะลักษณะงาน (ประเภทและจำนวนของช่าง และจำนวนคนงาน)  ขนาดและจำนวนเครื่องจักรแต่ล่ะประเภท ให้เข้างานตรงตามความเหมาะสมของงาน

 ข้อกำหนดทั่วไปที่ระบุใน แผนการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้าง (Construction Readiness Plan : CRP) มีดังนี้

 1.) ข้อมูลโครงการ (Project Information)  ชื่อโครงการ ที่ตั้งโครงการ และข้อมูลเบื้องต้นของโครงการก่อสร้างนั้นๆ

2.) แผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้าง (ConstructionProject Schedule) เพื่อกำหนดวันเริ่มและวันสิ้นสุดของแต่ล่ะกิจกรรมในโครงการก่อสร้าง ซึ่งบางกิจกรรมอาจทำพร้อมๆกัน เหลื่อมกัน หรือ ต้องรอให้อีกกิจกรรมจบก่อน จึงจะเริ่มกิจกรรมได้

3.) บุคลากร (Competency person)/ แผนผังองค์กร (Organize Chart)   กำหนดบุคคลากรในตำแหน่งที่สำคัญ พร้อมทั้งแนบเอกสารแสดงทักษะความรู้ ความชำนาญในตำแหน่งนั้นๆ พร้อมทั้งวิธ๊การติดต่อ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมลล์

4.) ขอบเขตการทำงาน (Scope of work) บรรยายลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายของโครงการนั้นๆ ตลอดจนลักษณะของอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับมอบหมายให้ทำการก่อสร้าง

5.) แผนผังโครงการ  (Site Layout) แผนผังแสดงพื้นที่  สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ว่ามีอาคารหรืออะไรอยู่ตำแหน่งไหนบ้าง ทั้งนี้หากเป็นงานปรับปรุง หรืองานทุบรื้อถอน ก็ควรแสดงแบบตามที่ได้ก่อสร้าง (As – Built drawing) เดิมด้วยทั้งอาคาร และท่อ สายสัญญาณ สายไฟที่อยู่ใต้ดิน

6.) เป้าหมายด้านความปลอดภัย (Goal/Target) เช่น เป้าหมายด้านอุบัติเหตุ ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม หรือการรายงานต่างๆ เพื่อให้ทุกคนรับทราบ แล้วตั้งเป้าหมาย กำหนดแผนงานร่วมกันเพื่อการบรรลุเป้าหมายของโครงการ

7.) ข้อกำหนด กฏบังคับ ข้อห้ามต่างๆ การให้รางวัล และมาตรการลงโทษ(Rule, Reward & Penalty)  เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมให้ทุกคนปฏิบัติตาม  ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนที่ทำความดีเป็นแบบอย่าง  และป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ซ้ำขึ้นอีก

8.) ขั้นตอนวิธีการทำงาน (Method statement) โดยเฉพาะงานที่มีความเฉพาะเจาะจง ควรอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

9.) อันตรายและการควบคุม (Risk Assessment & Hazard Control)  ค้นหาความเสี่ยงจากกิจกรรมต่างๆ แล้วหามาตรการควบคุม อุปกรณ์ที่เหมาะสม หรือลดความเสี่ยงให้น้อยลง

10.) แผนการจัดไซต์งาน และการกั้นพื้นที่ (Construction site setup & Zoning)  กำหนดการแบ่งพื้นที่ทำงาน พื้นที่พักผ่อน และวัสดุที่ใช้ในการกั้นแบ่งพื้นที่ ตลอดจนป้ายเตือน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในไซต์งาน

11.) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Management)  การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ของเสีย น้ำเสีย และมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆพื้นที่ก่อสร้าง

12.) การจัดการด้านความมั่นคง (Security Management)  เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด การจัดให้มี รปภ. การล๊อคประตู และมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

13.) การจัดการด้านสุขภาพอนามัย  (Health Management)  การจัดการด้านสุขภาพ อนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อ หรือการเจ็บป่วยต่างๆ ในไซต์งานก่อสร้าง

14.) แผนฉุกเฉิน (Emergency Plan)  การจัดทำและซ้อมเหตุฉุกเฉิน เพื่อความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องหากเกิดเหตุการ์ณที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุ เพลิงไหม้ สารเคมีหกล้นรั่วไหล หรือการก่อวินาศกรรม ต่างๆ

15.) แบบฟอร์ม และการรายงานที่ใช้ในโครงการ  (Form & Report) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจ และเลือกใช้แบบฟอร์มได้อย่างถูกต้อง จัดส่งรายงานอย่างถูกต้องและตรงตามที่กำหนด

 

หวังว่าทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว จะนำคำแนะนำเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อการวางแผนความพร้อมก่อนเริ่มงานก่อสร้างในหน่วยงานของท่านนะครับ ทั้งนี้ การวางแผนและการจัดเตรียมไซต์งานก่อสร้างให้ปลอดภัย จะช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ อย่างน้อย 20%  อีกทั้งยังช่วยลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น และช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถส่งมอบงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนดอีกด้วยครับ

Visitors: 415,060