การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ...มีสำคัญอย่างไร
เผยแพร่เมื่อ: 30/11/2563
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย (ธีรวิโรจน์) เทศกะทึก
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ...มีสำคัญอย่างไร?
สวัสดีค่ะ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ที่รักทุกท่าน วันนี้ผู้เขียนได้มาพบปะพูดคุยกับ จป.ทุกท่านอีกเช่นเคย เราพูดกันมาเสมอว่าปัจจุบันมีการนำสารเคมีมาใช้ประโยชน์มหาศาล อาจทำให้ผู้ประกอบอาชีพที่อยู่ในความดูแลด้านสุขภาพของเรามีโอกาสรับสัมผัสกับสารเคมีจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทของ จป. ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า ทุกท่านได้มองเห็นความสำคัญถึง “ความปลอดภัยของสารเคมีต่อสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก” ประกอบกับมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพให้มีความปลอดภัยจากสารเคมีในสถานประกอบการ จึงยิ่งมองเห็นความสำคัญของเครื่องมือ (Tool) ที่เราเรียกว่า “การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ (Health Risk Assessment, HRA). มาใช้ในการทำนายผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพผู้ประกอบอาชีพอย่างแพร่หลายมากขึ้น
หากจะขอท้าวความถึงอดีตสักเล็กน้อย ถึงช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทราบว่า นักวิชาการทั่วโลกเริ่มมีความกระตือรือร้น พยายามนำเอาวิธีการประเมินความเสี่ยงสุขภาพ มาใช้คาดการณ์ เชื่อมโยง วิเคราะห์ระดับการรับสัมผัสสารเคมี (Exposure rating) ที่อาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ (Severity/Health effect/Hazard rating) ได้ และจัดลำดับความเสี่ยงจากสารเคมีต่อสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายและการจัดการความเสี่ยงจากสารเคมีในการทำงานที่มีผลต่อสุขภาพผู้ประกอบอาชีพมากขึ้น
จากคำถามข้างบนที่ผู้เขียนระบุว่า “การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ...มีสำคัญอย่างไร” เหตุใดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานต้องรู้ ท่านคะ ทุกท่านมีคำตอบในใจ ตรงกับผู้เขียนไหมคะ? ซึ่งการทำ HRA มีความสำคัญมากในแง่ของประโยชน์ของเขา นั่นคือ อันดับแรก จะทำให้เราทราบปัญหา เกี่ยวกับระดับสิ่งคุกคามจากสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพผู้ประกอบอาชีพ อันดับถัดมา สามารถใช้เป็นหลักฐานต่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากการทำงานจากสารคมี รวมทั้งมีระบบในการติดตามเฝ้าระวังสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในการทำงานและ สุขภาพผู้ประกอบอาชีพได้อย่างดี ข้อมูลนี้ใช้เพื่อการวางแผน และแก้ไขปัญหาจัดการสารเคมีและดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพได้ นอกจากนั้นข้อมูลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพทำให้ข้อมูลมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหาร ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล เพื่อก่อให้เกิดความโปร่งใสในต่อผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย
ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ เป็นการแสดงบทบาทของ จป. โดยการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ประกอบด้วย 1) ปฏิบัติตามแนวทางของพระราชบัญญัติความความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 32 เพื่อประโยชน์ในการควบคุม กำกับ ดูแลการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้นายจ้าง (1) จัดให้มีการประเมินอันตราย (2) ศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีผลต่อลูกจ้าง (3) จัดทำแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและ จัดทำแผนการควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ และ 2) ดำเนินการ“กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556” หมวด 8 การดูแลสุขภาพอนามัย ระบุว่า “จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของลูกจ้างในกรณีที่มีการใช้สารเคมีอันตราย ในกรณีที่ผลการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของลูกจ้างอยู่ในระดับที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ให้นายจ้างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย” และ 3) ตามแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ตาม “กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการประเมินความเสี่ยงด้านสารเคมีต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม และ 4) สามารถนำเอากฎหมายความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับขีดจำกัดสารเคมี 2560 มาใช้ในการทำประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ ได้อีกด้วย
กล่าวโดยสรุป จะเห็นว่าการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ เป็นเครื่องมือหนึ่ง เพื่อใช้ในการคาดการณ์โอกาสการรับสัมผัสสารเคมีที่อาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีความสำคัญในการจัดการดูแลสารเคมีในสิ่งแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพผู้ประกอบอาชีพให้ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป ในครั้งหน้า เราจะมาพูดคุยกันถึง “แนวทางในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ” พบกันอีกครั้งในเดือนหน้านะคะ สวัสดีค่ะ