สิบอันดับการฝ่าฝืนกฎหมายด้านความปลอดภัยของ OSHA! (OSHA’s Top 10 Most Cited Violations!)
เผยแพร่เมื่อ: 22/11/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์
กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)
(OSHA’s Top 10 Most Cited Violations!)
สถิติการฝ่าฝืนมาตรการตามกฎหมายด้านความปลอดภัยประจำปี
ตามปกติทางหน่วยงานบริหารอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Occupational Safety and Health Administration (OSHA) จะมีการเก็บข้อมูลสถิติการฝ่าฝืนมาตรการตามกฎหมายด้านความปลอดภัย ซึ่งทาง OSHA เป็นผู้กำกับดูแลกฎหมาย โดยในแต่ละปีจะมีการรวบรวมสถิติไว้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการลดอันตรายและหาแนวทางการป้องกัน
ทาง OSHA ได้แถลงข้อมูล ‘สิบอันดับการฝ่าฝืนกฎหมายด้านความความปลอดภัยประจำปี 2019! (OSHA’s Top 10 Most Cited Violationsfor 2019) อ้างอิงตามข้อมูลในปี 2019(1 ต.ค. 2562 ถึง 30 ก.ย. 2563)ซึ่งพบว่ามีการฝ่าฝืนรวมกว่า 27,000 รายการทีเดียว โดยสามารถแยกเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
1. การป้องกันการตกจากที่สูง– ข้อกำหนดทั่วไป (Fall protection—General Requirements): การอ้างอิง 6,010 รายการ
2. การสื่อสารเกี่ยวกับสารที่เป็นอันตราย (Hazard communication) : การอ้างอิง 3,671 รายการ
3. นั่งร้าน (Scaffolding) : การอ้างอิง 2,813 รายการ
4. การล็อกและติดป้ายเตือน (Lockout/Tagout) : การอ้างอิง 2,606 รายการ
5. การป้องกันระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Protection) : การอ้างอิง 2,450 รายการ
6. บันได (Ladders) : การอ้างอิง 2,345 รายการ
7. รถยกอุตสาหกรรม(Powered Industrial Trucks): การอ้างอิง 2,093 รายการ
8.การป้องกันการตกจากที่สูง– ข้อกำหนดการฝึกอบรม(Fall Protection—Training Requirements) :การอ้างอิง 1,773 รายการ
9. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Machine Guarding) : การอ้างอิง 1,743 รายการ
10. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล –การป้องกันดวงตาและใบหน้า (Personal Protective Equipment: PPE—Eye and Face Protection): การอ้างอิง 1,411 รายการ
มีอะไรเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับสถิติย้อนหลัง?
จากข้อมูลสถิติย้อนหลังในรอบกว่าสิบปีพบว่า หมวดหมู่ข้างต้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การฝ่าฝืนการป้องกันการตกจากที่สูงยังคงครองอันดับที่ 1 อย่างต่อเนื่องมากว่า 9 ปีที่เดียว! และหมวดหมู่ทั้งสิบยังคงเดิมเหมือนกับปี 2018 โดยเพียงแต่มีการสลับลำดับที่ 4 และ 5 เท่านั้น! นั่นหมายความว่าแม้ว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ความสนใจในงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างสูงโดยมีทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานที่เข้มงวด และถึงจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานมีเครื่องมือ อุปกรณ์ การฝึกอบรม รวมถึงความรู้ที่เพียงพอในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน
ความเสียหายจากการฝ่าฝืนมีอะไรบ้าง?
นอกจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านความปลอดภัย ทาง OSHA ได้มีมาตรการปรับสูงกว่า 13,000 เหรียญต่อกรณีการฝ่าฝืนแต่ละราย นอกจากนี้ยังมีการเสียค่าปรับรายวันไปจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎระเบียบของ OSHA โดยหากพบว่าเป็นการฝ่าฝืนโดยเจตนาหรือเกิดเหตุเดียวกันซ้ำค่าปรับดังกล่าวอาจสูงถึง 10 เท่าเลยทีเดียว!ในปีล่าสุด 2020 พบว่าค่าปรับดังกล่าวพุ่งสูงขึ้นถึง 134,937 เหรียญ (ราว 4 ล้านบาท!)
ความเสียหายทางตรงที่เกิดขึ้นจากค่าปรับนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายทางอ้อมที่เกิดขึ้นอีกหลายทาง เช่น ค่าชดเชยให้ผู้ปฏิบัติงาน ค่ารักษาพยาบาล การกระทบต่อการผลิต รวมถึงขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ
บทสรุป
ข้อมูลสถิติลักษณะการฝ่าฝืนกฎระเบียบ อันนำในสู่อันตรายในรูปแบบต่างๆหากมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำมาวิเคราะห์ นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างสูงยิ่ง เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางป้องกัน แก้ไข กำหนดมาตรการที่เหมาะสม รวมถึงการผลักดันกฎหมาย กฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมต่อไป
References:
- https://www.osha.gov/top10citedstandards
- https://ohsonline.com/Articles/2020/07/21/OSHAs-Top-10-Violations-for-2019.aspx?Page=1
- https://www.safetyandhealthmagazine.com/articles/19087-oshas-top-10-most-cited-violations
- https://www.forconstructionpros.com/business/construction-safety/article/21139498/top-10-osha-violations-of-2020
- https://facilityexecutive.com/2019/09/osha-reveals-top-10-workplace-safety-violations-for-2019/
- https://community.intelex.com/explore/posts/2nd-most-common-osha-violation-hazard-communication