กรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเอเชีย
เผยแพร่เมื่อ: 26/11/2563 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่อง กรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเอเชีย
สำหรับในตอนนี้ จะกล่าวถึงกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศแถบเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ประเทศญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่น ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นอย่างสูงว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-town) ญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการสร้างเมือง Eco Town จำนวน 4 แห่ง ใน ปี ค.ศ. 1997 ได้แก่ เมืองอีดะ เมืองคิตาคิวชู เมืองคาวาซากิ และเมืองกิฟุ ในปัจจุบันมีโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งสิ้น 26 โครงการทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ ได้แก่การกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และการจัดการของเสียที่มุ่งเน้นการมีของเสียเป็นศูนย์ (Towards Zero Waste) โดยการแลกเปลี่ยนของเสียอุตสาหกรรมหรือ waste Exchange ตามหลัก 3Rs โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อลดอัตราการฝังกลบของเสียให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี รวมทั้งการสร้างความสมดุลของ 3 Es ( Economy, Energy & Environment) เนื่องจากทางรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดมากเกินไปและขาดการวางแผนที่ดี ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคพลังงานที่มากเกินพอดี ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนและภัยธรรมชาติ ดังนั้นการจัดการสมดุลของ 3Es ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นกุญแจสำคัญสู่กลไกการพัฒนาแบบยั่งยืน ความสำเร็จของโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้จาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1) ความร่วมมือของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น 2) การมีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการปรับตลาดเข้าสู่สังคมที่มีวงจรการใช้วัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การขยายตลาดธุรกิจเชิงนิเวศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว 4) การใช้เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และ 5) การอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาวัสดุ และบูรณาการการจัดการของเสีย
ดังนั้นนโยบายการสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบ Eco Town นั้น มีการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการส่งเสริมการการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Effective recycling) และเป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด (Zero emission) รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำกลับวัตถุดิบมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด (Design for Environment) เพื่อเป็นการลดการกำจัดของเสียโดยวิธีการฝังกลบให้มีปริมาณน้อยที่สุด สำหรับส่วนประกอบโดยภาพรวมของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบ Eco Town ในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีการจัดตั้งศูนย์กลางหรือโรงงานคัดแยกรีไซเคิลขยะมูลฝอยแบบครบวงจรสำหรับของเสียหลายประเภทด้วยกัน เช่น โรงงานรีไซเคิลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงงานรีไซเคิลหลอดไฟ โรงงานรีไซเคิลโลหะ แก้ว พลาสติก โรงงานรีไซเคิลขยะอินทรีย์ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์พัฒนางานวิจัยด้านการจัดการของเสียและการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีและข่าวสาร และศูนย์พัฒนาธุรกิจของขยะรีไซเคิล จากข้อมูลงบการลงทุนสำหรับ Eco Town ของ เมืองคิตาคิวชู ที่เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องนั้นได้ใช้งบประมาณของการลงทุนประมาณ 43,000 ล้านเยน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล ปัจจุบันนี้ประเทศญี่ปุ่นมีการส่งเสริมเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแบบ Eco Town เพื่อมุ่งสู่แนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคตแบบ Low carbon city ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ภายในเมือง และส่งเสริมให้แพร่กระจายภายในประเทศญี่ปุ่น ดังรูปที่ 1
ตัวย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับในวงกว้าง เป็นตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้แก่ โครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เมืองคาวาซากิและเมืองคิตะคิวชู
รูปที่ 1 Japan's Eco-Town Program
ประเทศจีน
การดำเนินงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศจีน ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ที่พยายามบูรณาการ (Integrate) มิติเชิงเศรษฐกิจ ให้เข้ากับมิติเชิงสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานหลักการของนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม การเผยแพร่หลักการแนวคิดดังกล่าวจะทำการเผยแพร่ผ่านในลักษณะของบนลงล่าง โดยรัฐหรือส่วนปกครองที่มีอำนาจจะเป็นผู้วางแผนและส่งผ่านนโยบายไปยังส่วนล่างถัดไป ครอบคลุมในส่วนของภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริหาร และอื่นๆ และพัฒนาไปสู่แนวทางการจัดการแบบ 3+1 (Small circle, Medium circle, Great circle และ Waste disposal and recycle) จนกระทั่งหลังปี ค.ศ.1990 ประเทศจีนได้ผลักดันหลักแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านโมเดลแบบต่างๆ ทำให้เกิดเป็นโครงการต้นแบบการจัดตั้งอุทยานสิ่งแวดล้อม (Environmental park) 5 แบบ คือ
1) นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบแห่งชาติ (National eco-industrial demo park)
2) พื้นที่ต้นแบบ circular economy (Circular economy demo-zone)
3) เขตประกอบการเพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร (Resource reproduction processing zone)
4) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมแห่งชาติ (National environmental scientific and technological Industry park) และ
5) หน่วยสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมแห่งชาติ (National environmental industry base) จีนมีโครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่ได้รับการสนับสนุนจาก SEPA จำนวน 15 โครงการ กระจายไปตามหัวเมืองอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ มีทั้งโครงการที่บริหารโดยรัฐและโดยวิสาหกิจเอกชน ในจำนวนโครงการนำร่องทั้ง 15 โครงการนั้น ยังแบ่งออกเป็นโครงการพัฒนาระดับกลาง คือ ระดับอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Park) จำนวน 13 โครงการ และโครงการระดับมหภาค 2 โครงการ คือ โครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ 1 โครงการ และโครงการมณฑลอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ 1 โครงการ โดยพื้นฐานแล้ว โครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศทั้ง 15 โครงการข้างต้น จะดำเนินตามแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนเป็นวงจรปิด โดยการสร้างภาวะการพึ่งพากันระหว่างอุตสาหกรรม (Industrial Symbiosis) และการสร้างห่วงโซ่อุปทานวงปิด (Closed-loop Supply Chain) ขึ้นภายในระบบ
ตัวอย่างโครงการอุทยานอุตสาหกรรมกุ้ยกัง (Guigang Eco-industrial Cluster) เป็นโครงการแรกที่ได้รับการอนุมัติจาก SEPA เมื่อปี ค.ศ.2001 ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทกุ้ยถัง (Guitang Group) ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของและเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของเมืองกุ้ยกัง มีการดำเนินธุรกิจหลายประเภท ตั้งแต่ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เยื่อกระดาษและกระดาษ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย และธุรกิจการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์ ระบบนิเวศอุตสาหกรรมมีลักษณะคือการใช้อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นพื้นฐาน และมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและกลั่นแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ และอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวล เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีการบริหารสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ และนำไปสู่การริเริ่มโครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกังขึ้น ซึ่งผลจากการดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันบ่งชี้ว่า กลุ่มกุ้ยถังได้รับประโยชน์หลายประการจากโครงการกุ้ยกัง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงนิเวศ อาทิ การประหยัดต้นทุนวัสดุและพลังงาน การลดต้นทุนด้านการควบคุมบำบัดของเสียและมลพิษ การลดภาวะกดดันจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงประโยชน์ในเชิงภาพลักษณ์ด้วย
จุดแข็งของอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกังคือ การสร้างภาวะพึ่งพาระหว่างวิสาหกิจต่าง ๆ ในเครือกุ้ยกังและชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยกลยุทธ์การออกแบบและบริหารห่วงโซ่อุปทานวงปิดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดโครงข่ายการส่งมอบของเสียระหว่างวิสาหกิจมีความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ซึ่งศูนย์กลางของระบบห่วงโซ่อุปทานของเสียหรือผลพลอยผลิตภัณฑ์คืออุตสาหกรรมน้ำตาล อันเป็นอุตสาหกรรมหลักของกลุ่มกุ้ยถัง โดยของเสียจากอุตสาหกรรมน้ำตาลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สายน้ำตาล (Sugar Chain) และ สายกระดาษ (Paper Chain) ดังรูปที่ 2
รูปที่ 2 แผนภาพการพึ่งพาระหว่างวิสาหกิจและระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิดในโครงการอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศกุ้ยกัง
สำหรับในตอนหน้า จะได้พบกับกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทยที่นำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้นะคะ