การจัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) เพื่อลดปัญหาการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
เผยแพร่เมื่อ: 08/11/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เรื่อง การจัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)
เพื่อลดปัญหาการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
การนั่งทำงานนานๆ หลายคนเริ่มมีอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” มาเยี่ยมบ้างแล้ว ทั้งปวดหลัง ปวดคอ ปวดตา รู้หรือไม่ว่าอาการเหล่านี้จะนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทและทำให้กระดูกสันหลังคดได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอาจเกิดอันตรายและโรคเนื่องจากการทำงานได้
การจัดโต๊ะทำงานหรือการออกแบบโต๊ะทำงานสัมพันธ์กับความสบายในการนั่งทำงานของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล การออกแบบโต๊ะทำงานที่ไม่ดีจะเพิ่มความเสี่ยงการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของกระดูกสันหลังคอเอว แขน และขา รวมทั้งปัญหาสายตาจากการมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหรืองานที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เก้าอี้ที่ใช้โดยทั่วไปมักทำให้เกิดอาการปวดหลังและไม่สบายตัวขณะนั่งซึ่งเป็นผลมาจากการนั่งปล่อยตัวตามธรรมชาติเป็นเวลานานเกินไป ทำให้เกิดความดันภายในหมอนรองกระดูกสันหลังหรือในบางครั้งผู้ใช้งานอาจบอกว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนบนและคอซึ่งเกิดจากท่าทางการนั่งมองจอคอมพิวเตอร์ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานหรือการใช้งานแขนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น การใช้แป้นพิมพ์ การใช้เมาส์และการเขียนหนังสือ
หลายคนที่นั่งทำงานนานๆ แล้วรู้สึกปวดหลัง ปวดคอ ปวดตา อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของโต๊ะทำงานหรือสถานที่ทำงานไม่เหมาะสมกับร่างกาย รวมไปถึง “การนั่งผิดท่า” ที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ โดยเริ่มที่การจัดโต๊ะทำงานใหม่ และจัดโต๊ะทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ซึ่งควรคำนึงประเด็นดังต่อไปนี้
1. โต๊ะทำงานไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเราคนเดียว แต่มันถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน ดังนั้นการใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงต่อวันบนโต๊ะตัวนี้ ย่อมเกิดความไม่สบายตัวแน่นอน สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้โดย
>> การปรับระดับความสูงของเก้าอี้ ซึ่งระดับความสูงที่เหมาะสมคือ ข้อศอกต้องทำมุม 90 องศากับโต๊ะ
>> ขาวางแบบตั้งฉากให้เท้าราบกับพื้น หากเท้าลอยจากพื้น สามารถหาแท่นวางเท้ามารองเอาไว้ได้ ซึ่งแนะนำให้เลือกแบบปรับระดับได้จะได้สบายเท้ามากขึ้น
2. ลักษณะโต๊ะทำงานที่แนะนำ คือมุมข้อไหล่กางน้อยกว่า 15 –20 องศา และยกข้อไหล่น้อยกว่า 25 องศาข้อศอกวางบนที่รองแขนและงอประมาณ 90–100 องศาการที่มุมงอข้อศอกน้อยกว่า 100 องศา จะช่วยลดภาระการทำงานต่อเนื่องของกล้ามเนื้อบ่าได้
3. หน้าจอ ควรอยู่ห่างจากตัว1 ช่วงแขน และขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับเดียวกับระดับสายตา หากหน้าจอไม่สามารถปรับระดับความสูงได้ สามารถเสริมฐานหน้าจอได้โดยใช้แท่นวางหรือกระดาษสัก 2-3 รีม มาทำเป็นฐานวางหน้าจอ ส่วนใครที่ใช้แล็ปท็อปก็สามารถเสริมฐานรองได้เช่นกัน แต่คงต้องใช้คีย์บอร์ดและเมาส์เสริมแยกต่างหาก
4. การวางแป้นพิมพ์ในระดับต่ำเกินไป อาจทำให้บริเวณข้อมือและแขนท่อนล่างเกิดการบาดเจ็บได้จากกล้ามเนื้อ เส้นประสาทและเอ็นกล้ามเนื้อถูกกดทับดังนั้นขณะนั่งทำงานควรจะให้ระดับของมือ แขน ข้อศอกและงานที่ทำอยู่ในระดับเดียวกันโดยระยะห่างระหว่างมือกับงานที่ทำควรอยู่ในช่วงน้อยกว่า 3 นิ้ว แต่ไม่เกิน10 นิ้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ใช้งานรู้สึกสบายมากที่สุดและระยะห่างระหว่างผิวใต้โต๊ะทำงานหรือใต้แป้นพิมพ์กับต้นขาควรห่างประมาณ 1-2 นิ้ว เพราะถ้าขณะนั่งทำงานไม่มีระยะห่างนี้จะทำให้ผู้ใช้งานถูกจำกัดท่าทางในการนั่งและขาดอิสระในการขยับขา ดังนั้นการนำถาดรองแป้นพิมพ์ที่มีลักษณะลาดไปทางด้านหน้าเข้ามาใช้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อเพิ่มระยะห่างเหนือต้นขา
5. ตำแหน่งการวางคีย์บอร์ดและเมาส์ ควรอยู่จุดเดียวกับที่มือวางอยู่ในระดับข้อศอก 90 องศา และไม่ควรต้องเอื้อมไปหาอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อลดการปวดหัวไหล่ที่ต้องขยับมากเกินไป
6. การนั่งเก้าอี้ ศีรษะควรตั้งตรง สายตาขนานกับพื้น แผ่นหลังชิดติดกับพนักพิง เอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ตัวตรง ไม่แอ่นหรือก้มและที่สำคัญคือ ไม่นั่งไขว้ขา เพราะเสี่ยงจะทำให้กระดูกสันหลังคดได้
7. ขณะนั่งมุมของข้อสะโพก เข่าและข้อเท้าควรอยู่ในมุมประมาณ 90 องศาข้อศอกงอประมาณ 90องศาและเท้าวางติดพื้น
นอกจากการจัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์(Ergonomics)แล้ว ควรทำอะไรอีกบ้าง ?
1. การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานส่งผลให้เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อซึ่งส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมา ควรแบ่งเวลาพักในการทำงานทุกๆชั่วโมงเป็นเวลาประมาณ 10 นาที
2. ลุกเดินบ้าง อย่าอยู่แต่กับที่ ไม่ว่าจะลุกไปเติมน้ำหรือลุกไปเข้าห้องน้ำก็ได้
3. ลองยืดเส้นยืดสายบ้าง อาจจะเป็นการบริหารคอ หมุนหัวไหล่ หรือบิดตัวก็ช่วยได้
4. พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง เพราะเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ไปนานๆ ก็จะทำให้ดวงตาล้าได้ ลองหลับตาดูสัก 5 นาที หรือกรอกตาเป็นวงกลม
5. หมั่นทำความสะอาดและจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ บริเวณที่ใช้งานบ่อยๆ หรือมีผู้อื่นสัมผัสบ่อย
ปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดจากค่านิยมในการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนท่าทางของคนในปัจจุบันซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดล้าของกล้ามเนื้อและเมื่อเกิดอาการเหล่านี้บ่อยครั้งจะทำให้มีอาการปวดเรื้อรังตามมา ดังนั้นการจัดโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันและลดปัญหาทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้อย่างถาวร