จะทำอย่างไรเมื่อต้องขุดดินใกล้กับท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน หรือสายไฟ สายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน
เผยแพร่เมื่อ: 02/11/2563....,
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัย ความมั่นคง ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
บริษัทเอกชน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน
จะทำอย่างไร เมื่อต้องขุดดินใกล้กับท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน
หรือสายไฟ สายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน
ในงานก่อสร้างโดยทั่วไป งานขุดดินมักจะเป็นงานที่เกิดขึ้นในลำดับต้นๆ ที่ต้องทำหลังจากเคลียพื้นที่ ถมดินและบดอัดตามแบบที่กำหนด หรือตามมาตรฐานทางด้านวิศวกรรม ซึ่งงานขุดดิน (Excavation) หรือหลุมลึก (Deep hole) จะมีอันตรายแอบแฝงอย่างหนึ่งซึ่งอาจไม่ได้ระบุไว้ในแบบเดิม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการก่อสร้างใหม่ทับพื้นที่เดิมที่เคยมีสิ่งปลูกสร้างเดิมอยู่ (อาจระบุไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน หรืออาจไม่สามารถติดตามหาแบบก่อสร้างเดิมกลับมาได้) อย่างเช่น แบบท่อ และสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน ท่อน้ำ ท่อลม สายไฟ สายสัญญาณ ซึ่งอุบัติเหตุจากการขุดดินไปโดน หรือตัดขาดท่อ และระบบสายสัญญาณใต้ดินเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในงานก่อสร้าง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก สิ่งต่อไปนี้
- แบบก่อสร้าง As built drawing มีความผิดพลาด โดยแบบดังกล่าวนี้ คือ แบบที่เขียนขึ้นจากการก่อสร้างจริง ภายหลังที่ได้ดำเนินการก่อส้างเสร็จไปแล้ว โดยยกตัวอย่างของความผิดพลาด เช่น แนวท่อและสายสัญญาณไม่ได้ระบุตำแหน่งอย่างถูกต้อง ความลึกของการวางท่อไม่ตรงตามแบบ ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ที่ทำการขุดเจาะดิน เข้าใจผิดว่าใต้ดินที่จะขุดบริเวณนั้นเจาะปลอดภัย ไม่มีท่อ หรือระบบสายสัญญาณใดๆ จึงเป็นสาเหตุให้ เครื่องจักรที่ใช้ในการขุด ชน กระแทก กดทับ ตัดขาดระบบท่อ และสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน
- ทักษะความชำนาญของผู้ควบคุมเครื่องขุดไม่เพียงพอ นอกจจากความผิดพลาดของแบบ As-Built แล้วนั้นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจาก ทักษะความชำนาญ และประสบการ์ณของผู้ควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ขุดได้เช่นกัน
- การเลือกใช้เครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่เกินไป/ไม่เหมาะสมกับงาน เช่น ในงานขุดหลุมที่ไม่ลึกมาก (ลึก <50cm.) หรือรางน้ำที่มีหน้ากว้างขนาดเล็ก หากไม่เลือกใช้เครื่องจักรที่ขนาดเหมาะสมแล้ว อาจทำให้เกิดความผิดพลาด แรงกดไปยังท่อและสายสัญญาณที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง ซึ่งถ้าหากท่อหรือสายไฟสายสัญญาณบริเวณนั้นไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เกิดการชำรุด แตกร้าว หรือรั่วขึ้นได้ โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อข้องอต่างๆ
- สิ่งที่อยู่ในท่อมีอันตรายมีพิษ ติดไฟง่าย ระเบิดได้ หรืออาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคน หรือทำลายสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เรามักจะเอาลงท่อ แล้วฝังไว้ใต้ดินส่วนใหญ่เนื่องมาจากสิ่งนั้นมักมีความเป็นพิษ หรือ อันตรายสูง หากเกิดแรงกระแทก เกิดประกายไฟ หรือ รั่วออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการวางแผน และปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอนที่ได้ระบุเอาไว้ ของที่อยู่ในท่อใต้ดินและมีอันตราย/มีความเสี่ยงสูง หรือเมื่อรั่วออกมาแล้วสร้างผลกระทบต่องานก่อสร้าง ต่อชุมชนรอบๆบริเวณ อย่างเช่น ก๊าซไวไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซอัดแรงดันสูง ท่อน้ำประปา สายไฟ สายสัญญาณ ฯลฯ
การป้องกันอันตรายเมื่อจำเป็นต้องขุดดินหรือเจาะพื้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบท่อ และสายไฟสายสัญญาณต่างๆ ที่อยู่ใต้ดิน
1. ไม่ทำการขุดในบริเวณนั้นได้หรือไม่ โดยเปลี่ยนที่การออกแบบ เช่น เปลี่ยนจากการขุดดินเพื่อฝังท่อสายสัญญาณ เปลี่ยนมาใช้ระบบ WIFI โดยไม่ต้องมีการขุด และไม่ต้องมีการเดินท่อใต้ดิน
2. หากจำเป็นต้องขุด ให้พิจารณาต่อว่าสามารถตัดแยกพลังงาน และล๊อคระบบของที่อยู่ใต้ดินนั้นได้หรือไม่ เช่น หากจำเป็นต้องทำการขุดดินใกล้กับบริเวณที่มีท่อน้ำมันเชื้อเพลิงฝังอยู่ใต้ดิน (ซึ่งประเมินความเสี่ยงแล้วอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากไฟไหม้) ให้เลือกพิจารณาดำเนินการไล่ไอน้ำมันให้ออกจากท่อทั้งหมดกลับไปยังภาชนะบรรจุ (Purging) แล้วปิดวาวล์ตัดแยกระบบ พร้อมกับล๊อคกุถญแจ แขวนป้ายเตือนห้ามใช้งานทันที (Lock out – Tag out)
3. หากจำเป็นต้องขุดและไม่สามารถตัดแยกระบบได้ ให้พิจารณาดำเนินการต่อ โดยใช้วิธีปฏิบัติต่อไปนี้
3.1) พิจารณาจากแบบตามที่ได้ก่อสร้างจริง (As-built drawing) โดยถ้าเป็นไปได้ควรพูดคุยสอบถามกับผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานที่ได้เคยก่อสร้างพื้นที่ตรงนั้น เพื่อใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการลดความเสี่ยง
3.2) ใช้เครื่องสแกนตรวจหาแล้วระบุแนวท่อ หาโลหะ หรือระบบสายไฟ สายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน เนื่องจากท่อโลหะ หรือ สายไฟบางประเภทสามารถตรวจจับหาแนวท่อได้ด้วยเครื่องสแกน
3.3) สังเกตุป้าย และสัญลักษณ์ต่างๆในบริเวณนั้น ปกติแล้ว ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน ท่อไฟ สายสัญญาณ ผู้ก่อสร้างมักจะทำป้ายหรือสัญลักษณ์เตือนไว้ อย่างเช่น ป้ายเตือน “แนวท่อก๊าซ” เตือนอันตรายจากแนวท่อก๊าซ หรือ สัญลักษณ์รูปตัว “E” บนพื้น/บ่อพัก แสดงถึงระบบไฟฟ้า หรือในบางกรณีผู้รับเหมาก่อสร้างจะวาง detector tape เพื่อบอกแนวของท่อที่อยู่ใต้ดิน เพื่อย้ำเตือนให้รู้ และป้องกันอุบัติเหตุจากท่อที่อยู่ใต้ดิน
3.4) หากมั่นใจว่าในบริเวณนั้นมีท่อ หรือระบบสายไฟสายสัญญาณใต้ดินแน่นอน แต่ไม่มั่นใจในความลึกของท่อ และระบบสายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน ให้วางแผนการเลือกวิธีในการขุดโดย หากมั่นใจว่าท่ออยู่ลึกมาก สามารถใช้เครื่องจักรขุดออกได้ในชั้นความลึกด้ายบน จนไปถึงชั้นที่ใกล้กับระดับท่อ ให้เปลี่ยนมาใช้คนเป็นผู้ขุดต่อ เพื่อลดความเสี่ยงจากเครื่องจักรหนักอย่างรถขุด (Excavation หรือที่คนไทยเรียกติดปากแบบผิดๆ ว่า แบคโฮ) แต่ถ้าระดับความลึกของท่อตื้นมากๆ อาจต้องใช้คนขุดก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีท่อและสายสัญญาณแล้วจึงใช้เครื่องจักรขุดต่อ
3.5) หากเป็นการขุดดินที่ใกล้กลับก๊าซไวไฟ หรือ น้ำมันเชื้อเพลิง จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดก๊าซตลอดระยะเวลาการทำงานด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีก๊าซไวไฟ หรือน้ำมันไหลรั่วซึมออกมาจากท่อ ทั้งนี้หากใช้คนเป็นผู้ขุดหลุมลึกเกินกว่า 1.5เมตร ก็ต้องวัดปริมาณความเข้มข้นของอ๊อกซิเจน ก๊าซคาร์บอนมอนน๊อคไซด์ที่มาจากควันท่อไอเสียของเครื่องยนต์และเครื่องจักร และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S หรือก๊าซไข่เน่า) ที่มาจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์นานๆ
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางหากมีความจำเป็นต้องขุดดิน โดยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือผลกระทบต่อชุมชนที่มาจากระบบท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน สายไฟ สายสัญญาณที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งนอกจากมาตรการป้องกันก่อนเกิดเหตุแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะจัดทำแผนฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุ (Emergency Plan) และแผนฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ (Recovery plan) อีกด้วย เพื่อลดความรุนแรง และฟื้นฟูหลังเกิดเหตุการณ์ให้เร็วที่สุดหวังว่าแนวทางและคำแนะนำเหล่านี้จะมีประโยชน์กับทุกท่านและนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัตงาน และไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบพื้นที่ทำการขุดของเรากันนะครับ