สวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ / เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ตอนที่ 2)
เผยแพร่เมื่อ: 26/10/2563 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่อง สวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ตอนที่ 2)
สำหรับในตอนนี้ จะกล่าวถึงกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
กรณีศึกษาการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของต่างประเทศ
การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศเดนมาร์ก
ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมพึ่งพาซึ่งกันและกัน (industrial symbiosis) ซึ่งเป็นการประยุกต์จากอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (industrial ecology) ตัวอย่างที่เป็นต้นแบบการแลกเปลี่ยนวัสดุอุตสาหกรรม (industrial symbiosis) ที่เก่าแก่ที่สุดและประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ เมืองคาลันบอร์ก (Kalundborg) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มโรงงานที่มีการดำเนินงานแบบเกื้อกูลกัน
การแลกเปลี่ยนวัสดุอุตสาหกรรมของเมืองคาลันบอร์ก (Kalundborg’s industrial symbiosis) เป็นการดำเนินงานที่เกื้อกูลกันในด้านการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycling of water) การส่งต่อพลังงาน (transfer of energy) และการนำของเสียอุตสาหกรรมมาใช้ใหม่ (recycling of waste products) รวมมากกว่า 35 โครงการ ระหว่างกลุ่มบริษัท 8 บริษัทกับเทศบาลเมืองคาลันบอร์ก
กรณีของคาลันบอร์กนี้ เกิดจากคู่ธุรกิจเจรจาตกลงกันในการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานร่วมกัน ทั้งนี้กลุ่มโรงงานดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม และไม่มีการบริหารจัดการร่วมกันแต่อย่างใด คู่ธุรกิจที่จับมือร่วมมือกันในช่วงเริ่มต้น เช่น เทศบาลเมืองคาลันบอร์ก กับสเตทออยล์ รีไฟเนอรี (Statoil refinery) หรือ เอสโซ่ (Esso) ในปัจจุบัน โดยสเตทออยล์ รีไฟเนอรีต้องการขยายกำลังการผลิต จึงมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้นในกระบวนการผลิต เทศบาลเมืองคาลันบอร์กจึงติดต่อขอซื้อน้ำจากเทศบาลข้างเคียงมาเสริมเพื่อขายให้แก่สเตทออยล์ รีไฟเนอรี เกิดธุรกิจที่ยังประโยชน์ให้แก่กันและกัน ต่อมา จึงมีการจับคู่ธุรกิจในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรน้ำ พลังงาน และกากของเสียอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามมา
ตัวอย่างการใช้กากอุตสาหกรรมเป็นวัตถุดิบของอีกโรงงานหนึ่ง เช่น ขี้เถ้าจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง จะถูกนำไปใช้ในการผลิตซีเมนต์และคอนกรีตสำเร็จรูป ยิปซัมจากโรงงานจะถูกใช้ในการผลิตกระเบื้องแผ่นเรียบ (plasterboards) ของเสียจากการผลิตอินซูลินจะถูกนำไปผลิตปุ๋ย เป็นต้น สำหรับตัวอย่างด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรพลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ผ่านการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำ การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมีผลทำให้บริษัทที่ร่วมมือกันมีผลกำไรสูงขึ้น
ปัจจุบันเทศบาลเมืองคาลันบอร์กอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้โรงงานใหม่ๆ เข้าสู่ระบบการเกื้อกูลกันของเมืองคาลันบอร์ก (Kalundborg symbiosis) มากขึ้น และร่วมมือกันปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมตลอดถึงการจัดหาพลังงานทางเลือกต่างๆ โดยใช้หลักการของความยั่งยืนและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลให้เทศบาลเมืองคาลันบอร์กเป็นเทศบาลอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งใหม่ (new green industrial municipality) ในปี 2020 ประกอบด้วย การส่งเสริมการนำแหล่งพลังงานใหม่มาใช้ในกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมกับเทศบาลเมืองคาลันบอร์ก เช่น ชีวมวล (biomass) ก๊าซชีวภาพ (biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy) ความท้าทายนี้นำมาสู่รูปแบบใหม่ของระบบการเกื้อกูลกันของเมืองคาลันบอร์ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการในด้านการตั้งโรงไฟฟ้าสีเขียวคือ กลุ่มพลังงาน “DONGEnergy” ซึ่งมุ่งที่จะใช้ความร้อนที่ ไม่ทำให้เกิดโลกร้อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ สำหรับใช้ในเมืองคาลันบอร์ก โครงการ KINEC มุ่งที่จะใช้เทคโนโลยีสำหรับการผลิตไฟฟ้าใช้ชีวมวลเป็นพลังงาน โดย DONG ใช้ของเสียจาก NOVO Nordisk และ NOVO zymes และก๊าซจากการบำบัดน้ำเสียในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดการระบายก๊าซ CO2 ได้ 700,000 – 800,000 ตันภายในปี 2020
โครงการ KINEC อาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการนำชีวมวลและกากของเสียต่างๆ มาใช้ ประกอบด้วย เทคโนโลยี Renescience, Pyroneer Inbicom และนวัตกรรมอื่นๆ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวมวลและกากของเสีย เริ่มจากเทคโนโลยี Renescience ซึ่งเป็นการคัดแยกชีวมวลและกากของเสียเพิ่มประสิทธิภาพการนำกลับไปใช้ใหม่ และการเผาไหม้ที่สมบูรณ์สะอาดยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า กระบวนการนี้ใช้เอ็นไซม์ย่อยสลายอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายได้ กระบวนการที่สอง คือ Pyroneer เป็นชื่อของเทคโนโลยีใหม่ของการความร้อนจากก๊าซจากชีวมวล (thermal gasification of biomass) โดยแปรรูปชีวมวลและกากของเสียด้วยต้นทุนต่ำให้เป็นก๊าซที่เผาไหม้ได้เพื่อใช้แทนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ กากที่เหลือของชีวมวลและของเสียยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ เนื่องจากยังมี phosphorus และ alkaline materials อยู่ และกระบวนการสุดท้าย คือ Inbicom เป็นการเปลี่ยนชีวมวลที่เหลือเป็น Biothanol โดยโรงงานสาธิตสามารถผลิตเอธานอลจากชีวมวลได้ 4 ตัน/ชั่วโมง หรือใช้ฟาง 30,000 ตัน/ปี กระบวนการใช้กากของเสียเป็นวัตถุดิบใหม่เป็นรูปแบบของ circular economy โดยพยายามหมุนเวียนกากของเสียไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอื่นๆ ต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่อาศัยหลักการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ต้องใช้หลากหลายศาสตร์ในการเชื่อมโยงให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering Sciences) สังคมศาสตร์ (Social Sciences) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Sciences) จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการพัฒนา “อย่างยั่งยืน”
สำหรับในตอนหน้า จะได้พบกับกรณีศึกษาของการดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรม/เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศแถบเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้ นะคะ