สามอันตรายหลักจากรถกระเช้าชนิดกรรไกร (Three Major Hazards from Scissor Lift)

เผยแพร่เมื่อ: 22/10/2563....,
เขียนโดย คุณวุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์
กรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
รองประธานอนุกรรมการเทคโนโลยีไฟฟ้าและเครื่องจักรกล สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
อุปนายก สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร (BSA)

สามอันตรายหลักจากรถกระเช้าชนิดกรรไกร

(Three Major Hazards from Scissor Lift)

          ปัจจุบันมีการใช้เครื่องจักรยกคนขึ้นทำงานบนที่สูงในงานอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในเครื่องจักรยกคนที่นิยมใช้กันมากทั้งในโรงงานและงานก่อสร้างคือ รถกระเช้าชนิดกรรไกร เนื่องจากมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงในการทำงาน แต่หากมีการใช้งานที่ไม่ถูกต้องแล้ว ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงกับผู้ปฏิบัติงานได้ จึงจำเป็นยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกร ผู้ควบคุมงาน จป. และผู้ปฏิบัติงานต้องมีความเข้าใจถึงอันตราย ความเสี่ยง และเทคนิคการป้องกันอันตรายเพื่อลดความรุนแรงและการบาดเจ็บ เสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นได้

          อันตรายจากรถกระเช้าชนิดกรรไกร
          
รถกระเช้าชนิดกรรไกร (Scissor Lift, X-Lift) จัดเป็นรถกระเช้าประเภทขับเคลื่อนได้ในตัวเองที่มีการทำงานขึ้น-ลงในแนวดิ่ง โดยกลไกโครงสร้างหลักที่ใช้ในการยกกระเช้าคล้ายกรรไกรและสามารถขับเคลื่อนไปในแนวราบได้ จากสถิติของหน่วยงานบริหารอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (OSHA) พบว่ามีอุบัติเหตุจากรถกระเช้าชนิดนี้มากกว่า 20 กรณีในแต่ละปีที่สามารถป้องกันได้ โดยส่วนใหญ่เกิดจาก 3 กรณีหลัก ดังนี้

  • การป้องกันการตกจากที่สูง
  • เสถียรภาพของรถกระเช้า
  • ตำแหน่งทำงานของรถกระเช้า

          การใช้งานรถกระเช้าชนิดกรรไกรอย่างปลอดภัย
                    
o   ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นยิ่งที่จะต้องเข้าสำรวจพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อชี้บ่งอันตราย เพื่อเลือกใช้ชนิดของรถกระเช้าที่เหมาะสม
                    
o   ผู้บังคับรถกระเช้าชนิดกรรไกรต้องทำการประเมินการควบคุมที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตกจากที่สูง เสถียรภาพ และตำแหน่งทำงานที่เหมาะสมของรถกระเช้า
                    
o   ผู้บังคับรถกระเช้าชนิดกรรไกรต้องได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบในภาคปฏิบัติ
                    
o   การใช้งานรถกระเช้าชนิดกรรไกรต้องปฏิบัติตามคู่มือของผู้ผลิต ขั้นตอนการปฏิบัติงาน อย่างเคร่งครัด และสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) ตลอดเวลาในการปฏิบัติงาน

          การป้องกันการตกจากที่สูง
          
รถกระเช้าชนิดกรรไกรต้องมีราวกันตกติดตั้งเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานโดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
                    - 
ตรวจสอบสภาพของราวกันตกทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน
                    - 
ขณะทำงานต้องยืนบนพื้นกระเช้าเท่านั้น ห้ามปีน ยืน บนราวกันตกโดยเด็ดขาด
                    - 
ปฏิบัติงานภายในระยะเอื้อมถึงได้โดยสะดวกเท่านั้น ห้ามพิงราวกันตกออกไปด้านนอก

          เสถียรภาพของรถกระเช้า
          
ผู้ปฏิบัติงานต้องแน่ใจว่ารถกระเช้าชนิดกรรไกรตั้งอย่างมั่นคงและจะไม่พลิกคว่ำหรือถล่ม นอกจากนั้น ยังมีข้อควรระวังสำหรับผู้ปฏิบัติงานดังนี้
                    - 
ในการเคลื่อนที่ของรถกระเช้า ต้องปฏิบัติตามคู่มือผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเคลื่อนที่ขณะกระเช้าอยู่ในระดับสูง
                    - 
ให้ปิดกั้นพื้นที่การจราจรของรถและเครื่องจักรอื่น ออกจากพื้นที่การทำงานของรถกระเช้า
                    - 
พื้นที่ปฏิบัติงานต้องมั่นคง ระดับพื้นอยู่ในระนาบ ไม่มีหลุม บ่อ เอียง สิ่งกีดขวาง ขยะ เป็นต้น
                    - 
ใช้งานในพื้นที่นอกอาคาร เมื่อสภาพอากาศไม่มีสภาพลมแรง โดยทั่วไปจะจำกัดความเร็วลมที่เหมาะสมไว้ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (28 ไมล์ต่อชั่วโมง)

 

          โดยทั่วไป รถกระเช้าชนิดกรรไกรมีความมั่นคงในการทำงานสูงมาก แต่การถล่มก็อาจเกิดขึ้นได้ หากว่า
                    - 
ระบบความปลอดภัยในการหยุดยั้งการลดระดับของรถกระเช้าอย่างรวดเร็ว ต้องได้รับการบำรุงรักษาและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
                    - 
ห้ามยกน้ำหนักบนกระเช้าเกินกว่าที่ผู้ผลิตกำหนดโดยเด็ดขาด
                    - 
ห้ามใช้เครื่องจักรอื่น เช่น รถยก (Forklift) ยกรถกระเช้าเพื่อเพิ่มความสูง
                    - 
ในการยกระดับกระเช้าขึ้นทำงาน ต้องเฝ้าระวังการเคลื่อนที่ของรถและเครื่องจักรอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้เคียง

          ตำแหน่งทำงานของรถกระเช้า
          
การจัดวางตำแหน่งเพื่อปฏิบัติงานของรถกระเช้าชนิดกรรไกร เพื่อหลีกเลี่ยงการชนหรือถูกไฟฟ้าเหนี่ยวนำ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
          
การชนของรถกระเช้าชนิดกรรไกรมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ปฏิบัติงาน ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อทำงานในพื้นที่ดังนี้
                    - 
รถกระเช้าขณะเคลื่อนที่ใกล้ผ่านหรือลอดใต้วัสดุหรือสิ่งกีดขวาง
                    - 
รถหรือเครื่องจักรที่เคลื่อนที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้เคียง

          เมื่อมีการใช้รถกระเช้าชนิดกรรไกรใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง มีโอกาสที่จะเกิดไฟฟ้าเหนี่ยวนำ การระเบิดจากการอาร์ก หรือการเผาไหม้จากความร้อนสูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ขณะปฏิบัติงานใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงที่มีกระแสไฟฟ้าไหลและไม่สามารถตัดแหล่งจ่ายไฟฟ้าได้ แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะไม่ได้สัมผัสสายไฟฟ้านั้นก็ตามดังนั้นตำแหน่งในการปฏิบัติงานจึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยโดยการบริหารจัดการดังนี้
                    - 
ควบคุมพื้นที่ปฏิบัติงานไม่ให้รถกระเช้าใกล้สายไฟฟ้ามากเกินไป
                    - 
ใช้ผู้นำทางภาคพื้นดินขณะเคลื่อนที่บนพื้นที่ปฏิบัติงานใกล้สายไฟฟ้า
                    - 
เลือกปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างจากสายไฟฟ้าแรงสูงอย่างน้อย 3.05 เมตร และรักษาระยะห่างจากสิ่งอันตรายเหนือรถกระเช้าทั้งนี้ในกรณีที่เป็นเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ควรตรวจสอบระยะห่างที่เหมาะสมจากคู่มือผู้ผลิตหรือการไฟฟ้าท้องถิ่น
                    - 
หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานใกล้สายไฟฟ้า ให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องผ่านการอบรมความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าก่อนเข้าปฏิบัติงาน

          การบำรุงรักษารถกระเช้า
          
โดยทั่วไป ผู้ผลิตจะให้คำแนะนำเบื้องต้นอย่างน้อยดังนี้
                    - 
ตรวจสอบและทดสอบการควบคุมและการทำงานก่อนเริ่มปฏิบัติงานแต่ละครั้ง
                    - ตรวจสอบสภาพของราวกันตกทุกครั้งก่อนเริ่มงาน
                    - 
ตรวจสอบสภาพเบรก เพื่อหยุดรถกระเช้าในตำแหน่งต่างๆ

          การฝึกอบรมของผู้ปฏิบัติงาน
          
ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างน้อยในหัวข้อหลักดังนี้
                    - 
คำแนะนำของผู้ผลิตในการควบคุมและในขณะเคลื่อนที่
                    - 
วิธีการจัดการวัสดุบนรถกระเช้าและพิกัดยกที่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
                    - 
อันตรายในพื้นที่ปฏิบัติงานขณะทำงานบนรถกระเช้าชนิดกรรไกร
                    - 
รายงานข้อบกพร่องของอุปกรณ์และการบำรุงรักษาที่จำเป็น

References:

 

 

 

Visitors: 414,674