การเริ่มต้นจัดทำแผนงานโครงงาน OHS-MS ISO 45001:2018 เน้นการมีส่วนร่วม

เผยแพร่เมื่อ 16/10/2563
เขียนโดย คุณวิบูลย์ เตชะไพศาลกุล
นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาองค์กร

 

การเริ่มต้นจัดทำแผนงานโครงงาน

OHS-MS ISO 45001:2018 เน้นการมีส่วนร่วม

ภาพรวมระบบ  ISO 45001:2018มีความแตกต่างจาก ISO 14001 หรือ ISO 9001 อย่างไร?

 

          ระบบ ISO 45001 หรือ ชื่อเต็ม Occupational Health and Safety Management System Requirement หรือ ข้อกำหนดระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นมาตรฐานที่พัฒนาและประกาศใช้โดยองค์กร ISO (International Organization for Standardization) เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2518 (พ.ศ. 2561) นับว่าเป็นมาตรฐานที่คนในวงการ ISO รอกันมานานมาก ผู้เขียนนั้นเริ่มต้นจัดทำระบบมาตรฐานความปลอดภัยครั้งแรก เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว โดยใช้มาตรฐาน OHSAS 18001 ที่ประกาศฉบับแรกเมื่อปี 1999 และ ฉบับที่สอง ปี 2007 เป็นแนวทาง ทั้งนี้เนื่องจากในตอนนั้น มีแหล่งข่าวว่าองค์กร ISO กำลังพิจารณาว่าจะออก ISO ด้านการจัดการความปลอดภัย ซึ่งมาตรฐาน ISO ด้านการจัดการอื่นที่มีอยู่แล้วและได้รับการยอมแล้วในตอนนั้น ก็คือ ISO 9001:1994 และ ISO 14001:1996 แต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่ออกมาสักที จึงจำเป็นต้องใช้มาตรฐาน OHSAS 18001:1999 ดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรฐานของ BSI (British Standard Institute) มาใช้แทนนับจากเวลานั้นเป็นต้นมา

          เหตุผลที่องค์กร ISO ยังไม่ออกมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยนั้น เดาว่าน่าจะมาจากสาเหตุหลักที่มาตรฐานฯของแต่ละประเทศหรือแต่ละอุตสาหกรรมนั้นมีความแตกต่างกันมาก โดยหลักการพื้นฐานของ มาตรฐานที่จะเป็นมาตรฐาน ISO โดยผ่านการโหวตยอมรับจากนานาประเทศได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้คำว่า “Generic” หรือ สามารถประยุกต์ได้ในทุกขนาดองค์กร ทุกประเภทอุตสาหกรรม และสามารถนำไปใช้ได้ในทุกแห่งทุกที่ทั่วโลก หรือ อาจกล่าวได้ว่า OHSAS 18001ที่นำมาใช้ในอดีตที่ผ่านมาดังกล่าวเป็นเพียงมาตรฐานเฉพาะถิ่น(Local Standard) ไม่เป็นมาตรฐานนานาชาติ (International Standard) นั่นเอง

          ความจริงแล้วมาตรฐานของทั้ง ISO 14001 และ OHSAS 18001 ต้องกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานคู่แฝดกันเลยทีเดียว ดังภาพที่ 1  ที่แสดงการเปรียบเทียบระหว่างมาตรฐานทั้งสอง จะเห็นว่าได้มีการเรียงตัวข้อกำหนดแทบจะเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามีมุมมองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ISO 14001 จะเน้นในภาพผลกระทบต่อชุมชม (Community) หรือ ต่อชุมชนโลก ซึ่งเป็นภาพใหญ่ (Macro) แต่ระบบ OHSAS 18001 หรือ ISO 45001 ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยในปัจจุบันจะเน้นในภาพผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน (Workers) หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การปฏิบัติงานหรือดูแลขององค์กร ซึ่งเป็นภาพเล็กกว่า (Micro) ในอดีตนั้นการสร้างมาตรฐานที่ผ่านมานั้น ส่งเสริมให้องค์กรสามารถนำมาตรฐานสามารถนำมาตรฐานมาบูรณาการกันได้ (Integrated Management System) วัตถุประสงค์เพื่อให้มีความสะดวก ลดความยุ่งยาก การลดค่าใช้จ่าย รวมถึงความมีประสิทธิผลในการนำระบบมาตรฐานหลายฉบับมาประยุกต์ใช้ในองค์กร

ภาพที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบข้อกำหนด OHSAS 18001:2007 กับ ISO 14001:2004

ที่มา BS OHSAS 18001:2007

 

          การพิจารณาว่ามาตรฐานใดเป็นอย่างไร?โดยหลักการพื้นฐานต้องพิจารณาไปที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือ ผู้มีส่วนได้เสีย (Interested Parties) เป็นหลัก หรือเรียกว่า การมุ่งเน้นไปที่ (Focusing) เช่น ISO 9001 ซึ่งเป็นระบบคุณภาพนั้นก็จะมุ่งเน้นผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกค้า (Customer) หรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Users) ในขณะที่ระบบ ISO 14001 ก็จะพิจารณาจากผลกระทบจากการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน หรือ ผลกระทบต่อโลก ในขณะที่  ISO 45001 หรือ OHSAS 18001 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกิดจากปฏิบัติงานขององค์กรเช่นกัน แต่อาจจะสร้างผลกระทบจากสภาพที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) หรือกระบวนการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Action) ต่อผู้ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมขององค์กรหรือ สถานการณ์ที่ไม่ได้ควบคุมโดยองค์กร และเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ปฏิบัติงานนั้นเอง

          อย่างไรก็ตามการจัดทำมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งนั้นย่อมไม่เพียงพอ เพราะเป็นเพียงการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Interested Parties) เฉพาะด้านเท่านั้น แม้ว่าองค์กรจะได้จัดทำทั้ง ISO 9001 และ ISO14001 รวมถึงISO 45001 แล้วก็ตาม แต่นั้นก็ย่อมบอกได้ว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องด้วยในท้ายที่สุดแล้ว การทำให้องค์กรมีระบบการจัดการภายในที่อยู่บนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) องค์กรจำเป็นอย่างยิ่งต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติภาพตามหลักแนวทางของ Triple Bottom Line หรือ “เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม” ที่นำเสนอแนวคิดโดยนักเขียนชื่อดังจอห์น เอลคิงตัน (John Elkington) กล่าวว่าองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงการประเมินผลประกอบการทางเศรษฐกิจได้เพราะเป็นวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญของทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ดังนั้นบางองค์กรจึงอาจเป็น QHSE+C ซึ่งก็คือ Quality, Health and Safety, Environment และ Cost โดยที่อาจมีมาตรฐานด้านการเงินเข้ามา อย่าง COSO-ERM Framework 2017 (Enterprise Risk Management) ทีมาจากองค์กร COSO (The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการบัญชีและการตรวจสอบของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นแบบของระบบการเงินและการบัญชีที่ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น

          หัวใจของระบบ ISO 45001:2018 คืออะไร?
                    
มาตรฐาน ISO 45001 นั้นผู้ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม หรือวงการ ISO ถือว่าไม่ใช่เป็นมาตรฐานใหม่ แต่เป็นมาตรฐานที่มีโครงสร้างที่พัฒนามาจากระบบมาตรฐานหลักอย่าง ISO9001 หรือ มาตรฐาน ISO 14001 ที่ถือว่าคู่แฝดดังกล่าวข้างต้น และ เป็นมาตรฐานที่ถือว่ามีความแตกต่างนิดเดียว ดังนั้นองค์กรใดที่จัดทำมาตรฐาน ISO 9001 และ/หรือ ISO 14001 นั้นสามารถทำได้ง่าย ด้วยเหตุของหลักการ High-Level Structure หรือ HLS ซึ่งประกอบด้วย10 ข้อหลัก คือ
                              1. Scope
                              2. Normative reference
                              3. Term and Definition
                              4. Context of the organization
                              5. Leadership
                              6. Planning
                              7. Support
                              8. Operation
                              9. Performance evaluation
                              10. Improvement
                    ซึ่งไม่ว่ามาตรฐานใดที่เป็นตระกูลด้าน MS (Management System) จากองค์กร ISO เช่น QMS (ISO 9001), EMS (ISO 14001) หรือ แม้กระทั่ง OHS-MS (ISO 45001) ก็พัฒนาด้วยโครงสร้างนี้เท่านั้น

          เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้เขียนจะอธิบายประกอบภาพที่ 2 ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดว่า ข้อกำหนดที่เป็นสีแดงนั้นจะเป็นข้อกำหนดที่ปรากฎเฉพาะ ISO 9001 เท่านั้น ในขณะที่สีเขียวจะเป็นข้อกำหนดที่ปรากฎเฉพาะ ISO 14001 และ ถ้าต้องจัดทำ ISO 45001 องค์กรก็จะทำเพียงพัฒนาข้อกำหนดในส่วนของสีเขียว และเพิ่มส่วนที่เป็นข้อกำหนดสีฟ้าเท่านั้นครับ โดยที่ข้อกำหนดสีขาวหรือไม่มีสีนั้นจะเป็นข้อกำหนดแบบ HLS ที่เราสามารถร่วมระบบ โดยสามารถสร้างหรือจัดทำเพียงครั้งเดียวก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายมาตรฐานอื่นๆได้ง่ายในรูปแบบการบูรณาการ ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมสารสนเทศเอกสาร (Control of documented information) ในข้อ 7.5.3 หรือ การตรวจติดตามภายใน (Internal audit) ในข้อ 9.2 หรือ ในกรณี การพิจารณาข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Determination of legal requirements and other requirements) ตามข้อกำหนด 6.1.3 และ การเตรียมพร้อมฉุกเฉินและการตอบสนอง (Emergency preparedness and response ) ตามข้อกำหนด 8.2 นั้น ทั้งระบบ ISO 14001 และ ISO 45001 มีความคล้ายคลึงกันมากถึงมากที่สุด

ภาพที่ 2 แสดงการบูรณาการข้อกำหนดของทั้ง 3 ระบบ ISO 9001, ISO 14001 และ ISO 45001

 

           ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การพิจารณาว่ากิจกรรมใดหรืออะไรเป็นหลักภายใต้ISO 45001 นั้นต้องพิจารณาว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นนั้นใคร เช่นถ้าบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วยจากการทำงานหรือเป็นการซ้อมอพยพในสภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากสภาพหรือการปฏิบัติที่ไม่ปลอดภัย เช่น กรณีเครนล้ม ก็จะเป็น ISO 45001 ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องผลพลอยได้จากกระบวนการ (By Product) ที่หลุดออกจากกระบวนการผลิตหรือการปฏิบัติงาน แล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ขยะ น้ำเสีย พลังงาน มลภาวะอากาศ ก็จะเป็น ISO 14001

           อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะสอบถามผู้เรียนว่ามีเข้าใจระบบ ISO 45001 อย่างถ่องแท้หรือไหม? และสามารถแยกความแตกต่างได้อย่างไร? กับระบบ ISO 9001 ซึ่งเป็นเรื่องคุณภาพ กล่าวคือ ถ้าสมมุติขณะที่เรากำลังใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แล้วเกิดไฟช็อตหรือระเบิดจนทำให้เกิดบาดเจ็บที่หน้าและใบหู จะเป็นเรื่องอะไร? ระหว่างคุณภาพผลิตภัณฑ์ ISO 9001 หรือเรื่องความไม่ปลอดภัย ISO 45001 ปรากฏว่าส่วนมากมักจะตอบผิด เพราะคิดว่าเป็นเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001 ทั้งที่จริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญของคุณภาพผลิตภัณฑ์ เนื่องด้วยลูกค้าที่แท้จริงของระบบการจัดการคุณภาพก็คือ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ(Users)นั่นเอง ในขณะที่ ISO 45001 จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและผู้อื่น ที่เกิดจากผลกระทบจากกิจกรรมของตนเอง รวมถึงการส่งเสริมและปกป้องสุขภาพร่างกายและจิตใจ

           ความแตกต่างจาก OHSAS 18001:2007 ถ้ามีแล้วต้องทำอะไรเพิ่ม?
           
ISO 45001ถูกพัฒนาเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้กับทุกองค์กรโดยไม่คำนึงถึงขนาด ประเภทอุตสาหกรรม หรือลักษณะของธุรกิจออกแบบมาเพื่อให้สามารถบูรณาการ (Integrate) กับระบบการจัดการที่มีอยู่เดิมขององค์กร (Exiting MS) และ เนื่องจากใช้รูปแบบ High-Level Structure อย่างที่กล่าวมา ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบระบบการจัดการมาตรฐานของตระกูล ISO อื่นๆ เช่น ISO 9001 และ  ISO 14001ทำให้มีความง่ายและสะดวกเป็นอย่างมาก ผู้ที่มีความรู้ด้าน ISO มักจะไม่มีปัญหาในการพัฒนาระบบ ISO 45001 เพราะเพียงแค่ยึดแนวทางของข้อกำหนดเดิมๆ ดังที่กล่าวมาก็จะสามารถพัฒนาระบบ ISO 45001 ได้โดยง่าย โดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีความรู้ลึกซึ้งด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือ การต้องจบปริญญาตรีด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยก็จะสามารถพัฒนาระบบ ISO 45001 ได้ไม่ยากนัก เนื่องจากผู้ที่ต้องการจัดทำ ISO 45001 เพียงศึกษาด้านข้อกำหนดและข้อกฎหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องและบังคับใช้แล้วนำมาประยุกต์ใช้ควบคุมกระบวนการและพื้นที่ (Control Measures) บวกกับความรู้ด้านการจัดการแบบ PDCA (Plan-Do-Check-Act) ก็สามารถจัดทำมาตรฐานได้ด้วยตัวเองและผ่านการรับรองแบบสบายๆ

           ผู้เขียนได้สร้างภาพที่ 3 ที่แสดงข้อกำหนดเฉพาะ ISO 45001 (สีฟ้า) ที่องค์กรต้องทำเพิ่มจากระบบ ISO เดิมที่มีอยู่ เช่น ISO 9001 ได้แก่ (สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมใน EP.อื่นๆในภายหลัง)
                      
ข้อ 5.4 การให้คำปรึกษาและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน (Consultation and participation of workers)
                      
ข้อ 6.1 การปฏิบัติเพื่อระบุความเสี่ยงและโอกาส (Actions to address risks and opportunities)
                                 - 
ข้อ 6.1.2 การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยงและโอกาส (Hazard identification and assessment of risks and opportunities)
                                 - 
ข้อ 6.1.3 การพิจารณาข้อกำหนดทางกฎหมายและข้อกำหนดอื่นๆ (Determination of legal requirements and other requirements)
                                 - 
ข้อ 6.1.4 การดำเนินการวางแผนปฏิบัติ (Planning action)
                      
ข้อ 8.1 การวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงาน (Operational planning and control)
                                 - 
ข้อ 8.1.2 การกำจัดอันตรายและลดความเสี่ยง OH&S (Eliminating hazards and reducing OH&S risks)
                                 - 
ข้อ 8.1.3 การจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management of change)
                                            + 
ข้อ 8.1.4.2 ผู้รับเหมา หรือ ผู้รับจ้างตามสัญญา (Contractors)
                                            + 
ข้อ 8.1.4.3 การจัดจ้างภายนอก (Outsourcing)
                      
ข้อ 8.2 การเตรียมพร้อมฉุกเฉินและการตอบสนอง (Emergency preparedness and response)
                      
ข้อ 9.1 การเฝ้าติดตาม ตรวจวัด การวิเคราะห์ และการประเมินผล (Monitoring, measurement, analysis and performance evaluation)
                                 - 
ข้อ 9.1.2 การประเมินความสอดคล้อง (Evaluation of compliance)

           จะเห็นได้อย่างชัดว่าการพัฒนาระบบ ISO 45001 เพิ่มเติมจากระบบเดิมอย่าง ISO 9001 หรือ ISO 14001 นั้นไม่มีความยากเกินไป แต่ในมุมมองของผู้เขียนแล้วง่ายมาก เพราะถ้าเรามีระบบความปลอดภัยอยู่แล้ว ที่หมายถึง เรามีการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอยู่แล้ว และมีการประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยพร้อมแผนการควบคุมที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลแล้ว การต่อยอดไปที่ระบบ ISO 45001 ไม่เป็นภาระที่มากนัก และมักจะใช้เวลาไม่นานมากเพราะหลายโครงการของผู้เขียนเองก็สามารถจัดทำระบบ ISO 45001 หรือ OHSAS 18001 ที่ผ่านมาสามารถจบได้ภายใน 1-2 เดือนเท่านั้น

           ส่วนคำถามที่สำคัญก็คือ ถ้าเรามี OHSAS 18001:2007 อยู่แล้วต้องการพัฒนาเป็นระบบ ISO 45001:2018 จะต้องดำเนินการอย่างไร? คำตอบก็คือ...ไม่แตกต่างเลยครับและทำได้ง่ายมาก เนื่องจาก OHSAS 18001 ตั้งแต่ รุ่น 1999 และปรับเปลี่ยนเป็น 2007 ก็แทบจะเหมือน ISO 14001:1996 และ ISO 14001:2004 ตามลำดับ (สังเกตได้จากภาพที่ 1) มีโครงสร้างข้อกำหนดแทบเหมือนกัน และ องค์กร ISO เองก็จัดพิมพ์เอกสารแนะนำมาตรฐาน ISO 45001 ว่าเป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาโดยการพิจารณามาจากระบบมาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อื่นๆ เช่น OHSAS 18001 หรือ  ILO-OSH 2001 และ ใช้วิธีการเน้นที่ความเสี่ยง (risk-basedapproach) เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งความประสิทธิผลและการชี้บ่งโอกาสการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเหมือนระบบ ISO อื่นๆ

ภาพที่ 3 แสดงข้อกำหนดเฉพาะ ISO 45001 (สีฟ้า) ที่ต้องทำเพิ่มจากระบบ ISO เดิม เช่น ISO 9001

          ผู้เขียนแนะนำว่า ถ้าต้องการพัฒนาระบบ หรือ Upgrade OHSAS18001:2007 ให้กลายเป็น ISO 45001:2018 มีความแตกต่างที่สำคัญเพียง 2 ข้อหลัก คือ
                    
ข้อ 4 Context of the organization บริบทขององค์กร
                              - 
ข้อ 4.1 การทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กรและบริบทขององค์กร (Understanding the organization and its context)
                              - 
ข้อ 4.2 การทำความเข้าใจกับความต้องการและความคาดหวังของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Understanding the needs and expectations of workers and other interested parties)
                    
ข้อ 6 การวางแผน (Planning)
                              - 
6.1 การปฏิบัติเพื่อระบุความเสี่ยงและโอกาส (Actions to address risks and opportunities)

          โดยที่ข้อกำหนด ISO 45001 ที่เพิ่มเติมจาก OHSAS 18001 นั้น ISO วางแนวทางว่าระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S) ที่ดีและมีประสิทธิผลจำเป็นต้องสอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กร โดยองค์กรต้องพิจารณาปัจจัยที่อาจเป็นประเด็นที่มาจากภายนอกและภายใน (Internaland External Context) รวมถึงการทำความเข้าใจกับความต้องการและความคาดหวังของผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่มีส่วนได้เสีย(Interested Parties) เพื่อนำไปสู่การกำหนดความเสี่ยงและโอกาสที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการบรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวัง (intended outcome) ของระบบการจัดการ OH&S อธิบายง่ายๆ ก็คือ องค์กรที่มีระบบ OHSAS 18001 แล้ว ก็แค่เพียงเพิ่มระบบการจัดทำกลยุทธ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามข้อกำหนดข้อ 4.1 และ ข้อ 4.2 และ ให้ดำเนินการชี้ประเด็นความเสี่ยง/โอกาสสำหรับระบบการจัดการ OH&S ตามข้อกำหนด ข้อ 6.1(สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน EP.2) เท่านั้นครับ นอกนั้นสามารถใช้โครงสร้างและวิธีการควบคุมอันตรายและการเจ็บป่วยของระบบ OHSAS 18001 เดิมได้เลยครับ...เห็นไหมครับว่าง่ายมาก

          จะเริ่มต้นระบบ ISO45001 ได้อย่างไร?การมีส่วนร่วมนั้นทำอย่างไร โดยไม่โดดเดี่ยว?
          
การเริ่มต้นระบบ ISO 45001 นั้นเหมือนกับระบบตระกูล ISOอื่นๆ ที่ต้องเริ่มต้นมาจากความมุ่งมั่นของผู้บริหาร (Strong Commitment) ซึ่งโดยมากมักจะมีเหตุอุปสงค์จากปัจจัยภายนอกเข้ามาให้องค์กรต้องดำเนินการจัดทำระบบ ISO 45001 ซึ่งปกติมักจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากระบบ ISO 45001 เป็นประเด็นอย่างที่กล่าวข้างต้นคือ เป็นระบบที่มุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยและการมีสุขภาพที่ดีจากการทำงานภายใต้องค์กร ดังนั้นการสร้างผลกระทบไปที่ลูกค้าในเรื่องคุณภาพจึงมีประเด็นน้อยจนทำให้ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญ

          จากประสบการณ์ผู้เขียนนั้น องค์กรที่ดำเนินการจัดทำระบบการจัดการความปลอดภัยมักจะเป็นอุตสาหกรรมหรือองค์กรขนาดใหญ่ หรือ กลุ่มที่ดำเนินการทางธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจาก ในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีประเด็นอ่อนไหวต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ปลอดภัยหรือก่อให้เกิดโรคต่อคนงาน หรือ ผู้ปฏิบัติงาน อีกประเด็นที่สำคัญขององค์กรที่ดำเนินการทางด้านการจัดการความปลอดภัยมักจะเป็นองค์กรหรือสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงหรือการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ มีผลต่อความสูญเสียอย่างมาก หรือ ภาพลักษณ์เชิงลบต่อองค์กรซึ่งสามารถสร้างผลกระทบในภาพกว้างได้มาก ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงต่อการลงทุน (Risk Investment) ที่นักลงทุนหรือเจ้าของธุรกิจไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง

          ในภาคอุตสาหกรรมที่เสี่ยงอย่าง อุตสาหกรรมก่อสร้างและมีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายนั้น การนำระบบ ISO 45001 ไปประยุกต์ใช้ยังมีการตอบสนองที่น้อยมาก และส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญ แม้ว่าจะมีระบบ ISO 9001 แล้วก็ตาม แต่ส่วนมากก็จะไม่ต่อระบบเป็น ISO 45001 หรือ ISO 14001 เนื่องจากอาจพิจารณาว่าเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ผู้เขียนมีพื้นฐานด้านงานก่อสร้างพยายามผลักดันเรื่องนี้มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าเป็นเรื่องยากลำบากมาก สาเหตุที่สำคัญนั้นน่าจะมาจากผลกระทบจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้างจะสร้างผลกระทบที่คนงาน หรือแม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากแต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ทำให้โครงการต้องได้รับความเสี่ยงในระดับที่ไม่สามารถเดินโครงการได้ต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะมีการหยุดโครงการบ้างแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบที่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอย่างน้ำมันและก๊าซ หรือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ถ้ามีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยแล้ว นั่นหมายถึงความหายนะขององค์กรเลยทีเดียวเพราะหมายถึงการเกิดขึ้นของอุบัติเหตุที่ร้ายแรง และบ่อยครั้งมักจะมีคนเสียชีวิตและทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมากจนอาจต้องถูกต่อต้านจากสังคมและยกเลิกโครงการในท้ายที่สุด

          จากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าเราอยู่ในองค์กรที่ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่สร้างผลกระทบที่รุนแรง นั้นหมายถึงการดำเนินการระบบ ISO 45001 นั้นจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก อย่างยิ่งและมีโอกาสสูงที่โครงการจะล้มกลางคัน หรือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลในหน่วยงานภายในเท่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้ จป. หรือ ผู้ที่รับผิดชอบโครงการอาจต้องดำเนินการโครงการอย่างโดดเดี่ยว ท้อแท้จนอาจต้องยกเลิกโครงการไปในที่สุด ทีนี้หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่า แล้วจะทำอย่างไร...คำตอบของทางที่เป็นไปได้ก็คือ ถ้าไม่มีอุปสงค์จากภายนอกในเชิงธุรกิจแล้ว สิ่งที่ทำได้คือการชี้นำให้เห็น Pro (ข้อดี) มากกว่า Con (ข้อด้อย) ซึ่งเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ ISO 45001 โดยที่ต้องนำเสนอและชี้ให้ผู้บริหารได้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เป็นระบบและสามารถเชื่อมต่อเชิงกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสามารถลดความสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นจำนวนมาก สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาวได้ ผู้เขียนแนะนำว่า จป. สามารถดำเนินการพัฒนาระบบ ISO 45001 โดยที่ไม่จำเป็นต้องขอการรับรองจากหน่วยรับรอง (Certified Body) ซึ่งเมื่อในอนาคตมีความจำเป็นต้องได้รับการรับรองแล้วก็สามารถดำเนินการขอการรับรองได้โดยง่าย สุดท้ายที่แนะนำให้ จป. ควรดำเนินการก็คือการทำงานพัฒนาระบบ OH&S ให้อยู่ในรูปคณะทำงาน (Working Committee) ดูตัวอย่างภาพที่ 4 และลงนามอนุมัติโดยผู้บริหารสูงสุด ด้วยเรื่องความปลอดภัยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกแห่งทุกที่ภายในสถานประกอบการ ดังนั้นการทำงานเป็นทีมงานทั้งแต่งตั้งผู้แทนจากทุกฝ่ายทั้งส่วนสำนักงาน และส่วนโรงงาน หรือ พื้นที่ผลิตหรือหน่วยงานติดตั้งก่อสร้างนอกสถานที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด

 

ภาพที่ 4 ตัวอย่างการจัดทำหนังสือแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาระบบ ISO 45001:2018

          แนวทางภาพรวมของการพัฒนาระบบ ISO 45001:2018 นั้น ผู้เขียนขอสรุปแนวทางดำเนินการระบบ ISO 45001:2018 โดยมีแนวทางประเด็นที่สำคัญคือ
                    
1) จัดทำแผนการพัฒนาระบบ ISO 45001:2018 โดยมีรายการกิจกรรมและกรอบเวลาที่ชัดเจน ดูตัวอย่าง ภาพที่ 5 แสดงภาพของแผนงานการพัฒนาระบบ ISO 45001 จากระบบเดิม OHSAS 18001

ภาพที่ 5 แสดงตัวอย่างพัฒนาระบบ ISO 45001:2018 จาก OHSAS 18001

 

                    2) จัดทำกลยุทธ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยทำการวิเคราะห์บริบทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับ OH&S โดยการประเมินความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนบริบทภายในและภายนอก (internal/External Context) ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขององค์กร
                    
3) กำหนดขอบเขต/ขอบข่ายของระบบOH&Sที่ชัดเจน เพื่อพิจารณาประเด็นหรือวัตถุประสงค์ระบบการจัด OH&S บรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังบนพื้นฐานบริบทองค์กร ประเด็นของผู้มีส่วนได้เสีย และ พื้นฐานความเสี่ยงจากการปฏิบัติขององค์กร
                    
4) จัดทำนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านOH&S ขององค์กร และสื่อสารให้บุคคลภายใต้การดูแลขององค์กร รวมถึงบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ลูกค้า ผู้ส่งมอบภายนอก ผู้มาเยี่ยม เป็นต้น เพื่อให้เป็นกรอบความคิดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยองค์กร
                    5
) กำหนดกรอบเวลาที่ต้องการนำระบบจัดการไปสู่การปฏิบัติและวางแผนวิธีการที่จะบรรลุผล โดยเฉพาะการปฏิบัติการชี้บ่งและประเมินความเสี่ยง การจัดทำแผนลดและแผนการควบคุมความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลให้เกิดความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
                    6
) มั่นใจว่าการปฏิบัติงานด้านการควบคุมความเสี่ยงอยู่ภายใต้พันธสัญญา(Obligation) หรือ ข้อกำหนด ระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และมีการประเมินความสอดคล้องเป็นประจำ
                    7
) กำหนดและจัดหาองค์ความรู้ความสามารถ ทักษะ และ/หรือทรัพยากรเพิ่มเติมใดๆ ที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความเสี่ยงที่ได้รับการชี้บ่งอย่างพอเพียงเพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยจะสามารถที่นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล
                    8
) ดำเนินการการตรวจสอบ และ ตรวจติดตามภายในอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงการปฏิบัติเชิงการแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และการนำประเด็นที่ได้ไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน

          สุดท้ายก่อนที่จะจบในบทความชุดแรก ผู้เขียนขอแนะนำประเด็นของแนวทางปฏิบัติจากประสบการณ์ที่ผ่านมาให้กับ จป. หรือ องค์กรควรที่จะพิจารณาและปฏิบัติตามในการพัฒนาระบบ ISO 45001:2018 ให้เกิดความสำเร็จและสามารถนำไปใช้ภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผลดังนี้
                    
1) ความเป็นผู้นำ ความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ และ ความสำนึกรับผิดชอบของผู้บริหารสูงสุด
                    
2) ควรมีการพัฒนาและการส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร (Safety Culture)
                    
3) ให้มีระบบการสื่อสารที่ประสิทธิผลชัดเจน ภาษา และเป็นสองทาง
                    
4) ควรมีระบบการให้คำปรึกษา(Consultation) ในเรื่องการจัดการ และการมีส่วนร่วม (Participation) ในการควบคุมความเสี่ยง กับผู้ปฏิบัติงานทุกคน
                    
5) ควรมั่นใจว่ามีการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นและพอเพียง การจัดทำงบประมาณOH&S และเสนอต่อผู้บริหารให้ชัดเจน เหมือนโครงการอื่นๆ
                    
6) ควรกำหนดนโยบาย OH&S ให้เข้ากันได้กับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และทิศทางขององค์กร
                    
7) ควรกำหนดวิธีการหรือกระบวนการที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลที่ใช้ชี้บ่งและควบคุมความเสี่ยง(Risk)และโอกาส(Opportunity) OH&S
                    
8) ควรประเมินสมรรถนะและตรวจติดตามระบบจัดการ OH&S อย่างต่อเนื่อง
                    
9) ควรบูรณาการของ OH&S-MS ในกระบวนการทางธุรกิจขององค์กร ไม่ควรแยกระบบออกมา
                    
10) ควรกำหนดวัตถุประสงค์OH&S ที่สอดคล้องกับนโยบาย OH&S บนพื้นฐานสิ่งอันตราย (Hazards)  ความเสี่ยงOH&S และโอกาส OH&S

          ในบทความถัดไป (EP.2) ผู้เขียนจะนำเสนอแนวทางการจัดทำทิศทางกลยุทธ์องค์กรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ประเมินบริบทและผู้มีส่วนได้เสีย) ที่จำเป็นต่อการจัดทำระบบ ISO 45001:2018 และถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญในการจัดทำระบบการจัดการมาตรฐาน ISO ในปัจจุบัน...โปรดติดตามครับ

 

Visitors: 419,931