การตรวจสายตาเพื่อเฝ้าระวังภาวะสุขภาพทางงานอาชีวอนามัย
เผยแพร่เมื่อ: 12/10/2563....,
เขียนโดย อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การตรวจสายตาเพื่อเฝ้าระวังภาวะสุขภาพทางงานอาชีวอนามัย
ปัญหาภาวะสายตาที่พบได้ในคนทำงาน ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาเข ตาบอดสี สายตาในผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะสุขภาพหรืออันตรายจากการทำงานตามมาได้ เช่น ภาวะสายตามองไม่คมชัด ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อตามากกว่าปกติขณะทำงาน เกิดภาวะสายตาล้า (eye strain) ภาวะตาบอดสีที่ไม่ได้รับการตรวจพบ ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นได้ เช่น นักบิน คนขับรถไฟ คนขับรถเมล์ คนขับรถโดยสารขนส่งสาธารณะ
การตรวจสายตาเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพทางอาชีวอนามัยแบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่ การมองเห็นความคมชัดของภาพ การมองภาพ 3 มิติ การแยกสี ลานสายตา ความสมดุลของกล้ามเนื้อตา
ข้อควรระวังขณะทำการตรวจ คือ ท่านั่งขณะทำการตรวจ (body posture) นั่งหลังและศีรษะตรงตลอดการทำตรวจเนื่องจากหากท่านั่งไม่ถูกต้อง จะมีผลต่อการอ่านค่าสายตาได้ หากพนักงานสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ให้สวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ขณะรับการตรวจ
การแปลผลการตรวจสายตาที่ผิดปกตินั้น ทางอาชีวอนามัยจะแปลผลแตกต่างกันตามลักษณะกลุ่มงาน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
1) งานธุรการและเสมียน
2) งานตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน
3) งานควบคุมยานพาหนะ
4) งานควบคุมเครื่องจักร
5) งานช่างและฝีมือ
6) งานกรรมกร
ในกรณีที่ผลตรวจสายตาทางอาชีวอนามัยผิดปกติ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์อาจพิจารณาตรวจซ้ำ หรือ พิจารณาส่งพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน โดยจักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือการตรวจที่ละเอียดขึ้นเป็นลำดับต่อไป นอกจากนี้ หากพบปัญหาภาวะสายตามองไม่คมชัดในพนักงานหลายคนในแผนกเดียวกัน นอกจากปัญหาสายตาในผู้สูงอายุแล้วยังสามารถนำไปสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบความเข้มแสงในการทำงานได้อีกด้วย
ความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองสายตาทางอาชีวอนามัยบางประเภทถือเป็นข้อห้ามร้ายแรงในการปฏิบัติงาน เช่น ค่าลานสายตาที่ผิดปกติเกินเกณฑ์กำหนดในคนขับรถโดยสารขนส่งสาธารณะ ตาบอดสีประเภทรุนแรงในอาชีพนักบิน เพราะจะเกิดอันตรายจากการปฏิบัติงานทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้