การออกแบบสถานีงานตามหลักการยศาสตร์เพื่อลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการทำงาน
เผยแพร่เมื่อ: 08/10/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เรื่อง การออกแบบสถานีงานตามหลักการยศาสตร์
เพื่อลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บจากการทำงาน
การออกแบบงาน สถานที่ทำงาน และอุปกรณ์ในการทำงานที่เหมาะสมนั้นย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยความสุข รู้สึกสบาย ปราศจากความเครียด ความกังวล อุบัติเหตุและความเมื่อยล้าอันเนื่องมาจากการทำงาน และขณะเดียวกันก็ยังทำให้กิจกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มผลผลิตขึ้นตามลำดับ ถ้าสถานที่ทำงานหรืออุปกรณ์ในการทำงานมีการออกแบบที่ไม่เหมาะสม ปรับแต่งได้ไม่เข้ากับขนาดรูปร่างและคุณลักษณะต่างๆ ของตัวผู้ปฏิบัติงานแล้ว ย่อมจะส่งผลทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอาจเกิดอันตรายและโรคเนื่องจากการทำงานได้
ความสำคัญของการออกแบบสถานีงานตามหลักการยศาสตร์
การปรับปรุงสถานีงานจะช่วยให้ท่าทางการทำงานดีขึ้น แต่การออกแบบสถานีงานตามหลัก การยศาสตร์ถูกยกให้เป็นวิธีการรักษาประสิทธิภาพแรงงาน และเพิ่มระดับประสิทธิภาพแรงงานของสถานประกอบการ ในที่ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องใช้แรงกายและความเหนื่อยยาก การออกแบบสถานีงานตามหลักการยศาสตร์ มีผลกระทบที่สำคัญต่อการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและประสิทธิภาพของการผลิต นอกจากผลทางประสิทธิภาพแล้ว การออกแบบสถานีงานตามหลักการยศาสตร์ยังส่งผลต่อสุขภาพการทำงานความปลอดภัยในทางบวก และยังช่วยสงวนรักษาความสามารถในการใช้งานของผู้ปฏิบัติงานได้
“การออกแบบสถานที่ปฏิบัติงาน ควรเริ่มต้นด้วยการคำนึงถึงตัวผู้ปฏิบัติงานที่จะปฏิบัติงานเป็นหลัก ผู้ออกแบบควรแน่ใจว่าเมื่อมีการออกแบบสถานที่ปฏิบัติงานนั้นแล้ว จะสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในท่าทางการทำงานที่ถูกต้องและเหมาะสม มีความสุข สะดวกสบาย และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มกำลังความสามารถ”
ต่อไปนี้เป็นหลักการทั่วไปในการออกแบบงานและสถานที่ปฏิบัติงานตามหลักการยศาสตร์ โดยเป็นหลักการง่ายๆ คือ หลักที่เรียกว่า NEWS ดังนี้
ซึ่งหลักการ NEWS มีรายละเอียดดังนี้
1. ต้องมุ่งเน้นให้สถานที่ปฏิบัติงานนั้นเอื้อต่อการทำงานแบบพลวัต (Dynamic) โดยพยายามหลีกเลี่ยงการออกแบบงานหรือสถานีงานที่จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าเร็วขึ้น อันจะส่งผลให้การทำงานด้อยประสิทธิภาพลง เช่น ไม่ควรออกแบบให้พื้นที่ผิวปฏิบัติงานมีระดับความสูงมากเกินไปหรือน้อยเกินไปกว่าความสูงระดับข้อศอก
2. การกำหนดระดับความสูงของพื้นผิวปฏิบัติงานนั้นขึ้นกับขนาดสัดส่วนร่างกายของผู้ปฏิบัติงานเองและประเภทหรือชนิดของงาน โดยมีหลักพิจารณา คือ
- ถ้างานเบา ต้องการความประณีตแม่นยำความสูงของพื้นผิวงานให้อยู่สูงกว่าระดับความสูงจากพื้น - ข้อศอกในท่ายืนหรือท่านั่งเล็กน้อย
- ถ้างานออกแรงหนักพอสมควร ให้อยู่เท่ากับระดับพื้น-ข้อศอก
- ถ้าออกแรงมาก ให้อยู่ต่ำกว่าระดับพื้น - ข้อศอก
3. ออกแบบแล้วต้องให้ท่าทางการทำงานของผู้ปฏิบัติงานอยู่ในลักษณะดี อยู่ใกล้ชิ้นงานไม่มีการเอื้อมที่มากเกินไป
4. ควรหลีกเลี่ยงการออกแบบที่ทำให้ข้อต่อกระดูกร่างกายกางทำมุมสูงสุด เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้าเร็ว
5. ควรออกแบบเพื่อให้ได้ใช้มือทั้งสองข้างทำงานสมดุลกันและอย่าพยายามกำหนดให้มือข้างใดข้างหนึ่งทำงานเสมือนเป็นอุปกรณ์ในการยกถือนิ่งวัตถุชิ้นงาน (Holding device)
6. ควรออกแบบให้มือทั้งสองข้างเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ และสมมาตรกัน
7. ออกแบบโดยคำนึงถึงความสามารถในการทำงานของนิ้วแต่ละนิ้วหลีกเลี่ยงการออกแบบที่เป็นภาระที่มากเกินไปกับนิ้วใดนิ้วหนึ่ง
8. หลีกเลี่ยงการออกแบบงานที่จะเป็นภาระที่มากเกินไป (Over Load)ให้กับระบบกล้ามเนื้อของร่างกาย
9. ควรออกแบบให้สามารถใช้เท้าในการทำงานได้ดีพอๆกับการใช้มือ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถขณะทำงาน
10. หลีกเลี่ยงการออกแบบที่จะทำให้เกิดท่าทางการทำงานที่ฝืนธรรมชาติ
11. ออกแบบให้มีที่ว่างมากพอที่จะเปลี่ยนอิริยาบทในการทำงานได้พอสมควร
12. ปุ่ม คันบังคับ หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้งานบ่อยๆควรออกแบบให้อยู่พื้นที่การทำงานปกติ
13. ควรออกแบบโดยอุปกรณ์นั้นควรจะสามารถปรับได้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในท่าทางที่เหมาะสมได้ตลอดเวลา
14. ควรออกแบบโดยคำนึงถึงคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ด้วยโดยการเผื่อเนื้อที่ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก
15. ควรออกแบบให้เป็นไปตามหลักแรงโน้มถ่วงของโลก
16. อบรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานรู้จักเปลี่ยนอิริยาบทให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสมได้
17. การวางผังจุดปฏิบัติงานต้องคำนึงถึงความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารด้วย
ดังนั้นการออกแบบสถานีงานโดยหลักการยศาสตร์จึงได้รับการยอมรับให้เป็นขั้นต้นของการออกแบบและถูกพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการออกแบบสถานีงาน เนื่องจากการออกแบบที่เหมาะสมจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และยังเป็นตัวเลือกแรกสำหรับการควบคุมสาเหตุของความเครียดในที่ทำงานได้ การประยุกต์ใช้หลักการยศาสตร์เพื่อออกแบบให้เกิดความสัมพันธ์กันของคนและเครื่องจักร รวมทั้งการแสดงข้อมูลของกระบวนการ การควบคุมอุปกรณ์ แผงหน้าปัด ต้องได้รับการพิจารณาออกแบบอย่างดีที่สุดตามหลักทางการยศาสตร์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน และการออกแบบและแสดงขั้นตอนการปฏิบัติงานนั้นควรให้เรียบง่ายที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อลดผลกระทบของสถานที่ทำงานที่มีต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และสามารถที่จะลดหรือกำจัดปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความผิดพลาด และลดผลที่ตามมาจากความผิดพลาดนั้นได้