ความปลอดภัยแบบยั่งยืน
เผยแพร่เมื่อ: 29/09/2563....,
เขียนโดย คุณบัญชา ศรีธนาอุทัยกร
ผู้จัดการสมาคมฯ / สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ, SHAWPAT
เรื่อง ความปลอดภัยแบบยั่งยืน
หลังจากประเทศไทยได้มีการพัฒนาสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ในช่วงพ.ศ.2520-2529 โดยเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งขยายการผลิตในสาขาเกษตรกรรมและปรับปรุง โครงสร้างอุตสาหกรรมให้สามารถขยายการผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อการกระจายรายได้ ตลอดจนการมีงานทำในส่วนภูมิภาค ขณะเดียวกันมีการกำหนดมาตรการและปรับปรุงระบบการบริหารงานของรัฐเพื่อเร่งฟื้นฟูการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นฐานะดุลการชำระเงิน และการขาดดุลงบประมาณ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะค้ำจุนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายในประเทศ ทำให้โครงสร้างสัดส่วนรายได้ประชาชาติมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1) สัดส่วนรายได้ภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง
2) สัดส่วนรายได้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3) ภาคบริการไม่มีรูปแบบรายได้ที่แน่ชัด
อีกทั้งทำให้โครงสร้างการจ้างงานมีการเปลี่ยนแปลง คือ
1) สัดส่วนการจ้างงานภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง
2) สัดส่วนการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3) สัดส่วนการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะการขนส่งและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าเพิ่มมากขึ้น
การพัฒนาประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของแรงงานขึ้น ซึ่งเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจากหลักฐานความเป็นมาในความเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศข้างต้น ได้แสดงถึงความมั่งคั่งของประเทศและประชาชน แต่ในทางกลับกันปรากฎการดังกล่าวก็แสดงถึงการขาดความเอาใจใส่ในการดูแลและการบริหารจัดการความปลอดภัยของแรงงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือ อุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยของคนทำงาน แรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ผมขอใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอความคิดเห็นต่อการดำเนินงานเพื่อคุณภาพชีวิตนี้กับทุกภาคส่วนที่เป็นหุ้นส่วนของสังคมไทย
การป้องกันอุบัติเหตุ โรคจากการทำงาน และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนในสังคมไทย ได้รับการเรียนรู้จากต่างประเทศและนำมาบูรณาการ นำสู่การปฏิบัติตาม ข้อจำกัด ข้อเท็จจริง และความความยากง่ายในการดำเนินการของผู้กำหนดนโยบายและผู้เกี่ยวข้อง
(1) โครงการ Zero Accident และการประกวดสถานประกอบการดีเด่น เป็นกิจกรรมแรกๆที่สังคมไทยนำมาใช้ ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่ระบบการดำเนินการด้วยความสมัครใจและมีบันทึกผลการประสบอุบัติเหตุที่น้อย หรือเป็นศูนย์ ในเชิงปฏิบัติย่อมมีสถานประกอบกิจการที่ยังไม่ตระหนัก และจากความรุนแรงของปัญหาความไม่ปลอดภัยจึงทำให้เกิด
(2) นโยบาย Safety Thailand ความริเริ่มนี้นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตระหนักและปฏิบัติตามกฏหมายความปลอดภัยต่างๆ ที่มีให้เกิดประสิทธิผล แต่การดำเนินการให้เกิดผลจากการปฏิบัติได้อย่างแท้จริงตามเจตจำนงค์ของผู้ร่างนโยบายเหล่านี้ยังขาด “หัวใจ ของความสำเร็จ” ที่ทำให้นโยบายนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เหมือนว่ายังขาดอะไรไปบางอย่าง
(3) กลยุทธ์ Vision Zero นับว่าเป็นการยกระดับการดำเนินการอีกขั้นที่จะมุ่งไปสู่หัวใจที่แท้จริงของการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอน จาก Zero Accident สู่ Zero Harm และ Vision Zero “วิสัยทัศน์สู่ความปลอดภัย คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนที่สุด” ในที่สุด
วัตถุประสงค์ที่มีจุดหมายเดียวกันแต่แตกต่างกันรูปแบบการนำเสนอและไปเปลี่ยนแนวคิดให้ “ถูกต้อง” และ “ต่อเนื่องยั่งยืน”ในที่สุด กลยุทธ์ Vision Zero จึงเป็นเครื่องมือของทุกรูปแบบของการดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการตามกลยุทธ์ Vision Zero ยังจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงการ Zero Accident การประกวดสถานประกอบการดีเด่น และนโยบาย Safety Thailand ทั้งในมิติของการบังคับใช้กฎหมายในเชิงบวก และมิติของการต่อยอดสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัยให้ยั่งยืนและเกิดจิตสำนึกอย่างแท้จริง
กลยุทธ์ Vision Zero อาศัยพื้นฐานของการเห็นคุณค่าใน “ชีวิต” และศรัทธาของผู้นำ ใช้ภาวะผู้นำ ที่จะมุ่งมั่นเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุ โรคจากการทำงาน และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน ความมุ่งมั่นของผู้นำขององค์กรจะทำให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย (Self-regulation) ซึ่งเป็นแนวทางและมาตราฐานขั้นต่ำเพื่อความปลอดภัย เกิดการขยายไปสู่ลูกจ้าง/พนักงานของผู้รับเหมาที่มาทำงานในสถานที่ทำงานที่รับผิดชอบจนครอบคลุมธุรกิจที่ต่อเนื่อง (Supplier Chain Management) สู่การเป็นต้นแบบของความปลอดภัย (Big Brother) ถ้ากลยุทธ์ Vision Zero ได้ถูกนำเอาไปใช้เพื่อปรับความตระหนัก (Mindset) ของผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหน่วยเล็กที่สุดของสังคม หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศไทยในที่สุด แน่นอน วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมความปลอดภัย ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ ภายใต้วิถีการทำงานด้วยการรู้และทำให้ปรากฏถึง บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลต้องมีหลากหลายกันไป ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ตั้งแต่หัวหน้าหน่วยงาน ผู้บริหาร นักวิชาการ หัวหน้างาน พนักงาน และ “คนทำงาน” ทุกคน