สารตัวนี้ใช่ไหม ที่ทำให้ฉันเป็นมะเร็ง จป.จะตอบอย่างไรดี?

ผยแพร่เมื่อ: 30/9/2563....,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก 
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 

Meet the Academic: Toxicology for jorpor series...,

"สารตัวนี้ใช่ไหม ที่ทำให้ฉันเป็นมะเร็ง"

จป.จะตอบอย่างไรดี?

          ปัจจุบันมีการนำสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งมาใช้ประโยชน์ในงานอุตสาหกรรมกันอย่างแพร่หลาย ทราบกันดีว่าสารก่อมะเร็งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งจากการทำงานได้ อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดมะเร็งเกิดได้จากปัจจัยภายทั้งในและภายนอกร่างกาย โดยสารก่อมะเร็งเป็นปัจจัยภายนอกร่างกาย การพูดคุยในวันนี้ ผู้เขียนจะขอพูดถึงการจำแนกกลุ่มสารก่อมะเร็ง ตามด้วยตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับสารก่อมะเร็งที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) อาจจะพบได้ และตบท้ายด้วยตัวอย่างโครงการในการเฝ้าระวังสุขภาพจากสารก่อมะเร็ง ตามลำดับ

          องค์กรในต่างประเทศที่จำแนกกลุ่มสารก่อมะเร็งมีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น องค์กรนานาชาติในการวิจัยสารก่อมะเร็ง (IARC, International Agency for Research on Cancer) ได้ให้นิยามไว้ ว่า“สารก่อมะเร็ง” (Carcinogen) หมายถึง สารเคมีที่สามารถชักนำทำให้เกิดมะเร็งได้ มีการจำแนกกลุ่มสารก่อมะเร็งตามความพอเพียงของหลักฐาน ประกอบด้วย กลุ่ม1)  สารก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ เช่น สารเบนซีน แร่ใยหิน สารหนู กลุ่ม 2)  กลุ่ม 2A (Probably) และกลุ่ม 2 B (Possibly) ต่อการเกิดมะเร็งในมนุษย์  กลุ่ม 3เป็นสารเคมีที่ไม่ถูกจำแนก และกลุ่ม 4เป็นสารที่ไม่น่าจะใช่สารก่อมะเร็งในมนุษย์ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆที่จำแนกกลุ่มสารก่อมะเร็งอีกด้วย เช่น สมาคมนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (The  American  of  Governmental – Industrial  Hygienists, ACGIH)  โครงการพิษวิทยาแห่งชาติ (National  Toxicology  Program; NTP) ตามลำดับ

          ในประเทศไทยมีการจำแนกสารก่อมะเร็งจากการทำงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง “กำหนดชนิดของโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2550” ระบุว่าสารก่อมะเร็งมี 16 ชนิดด้วยกัน ประกอบด้วย 1) แอสเบสทอส (ใยหิน) 2) เบนซิดีน และเกลือของสารเบนซิดีน 3) บิสโครโรเมทธิลอีเทอร์ 4) โครเมียมและสารประกอบของโครเมียม 5) ถ่านหิน 6) เบต้า – เนพธีลามีน 7) ไวนิลคลอไรด์ 8) เบนซีนหรืออนุพันธ์ของเบนซีน 9) อนุพันธ์ของไนโตรและอะมิโนของเบนซีน 10) รังสีแตกตัว 11) น้ำมันดิน หรือผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิน เช่น น้ำมันถ่านหิน น้ำมันเกลือแร่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมัน เช่น ยางมะตอย พาราฟินเหลว 12) ไอควันจากถ่านหิน 13) สารประกอบของนิกเกิล 14) ฝุ่นไม้ 15) ไอควันจากเผาไม้ และ 16) โรคมะเร็งที่เกิดจากปัจจัยอื่น ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน ตามลำดับ

          ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารก่อมะเร็ง อาจเจอคำถามแบบนี้ จป.ควรจะตอบคำถามอย่างไรดี  “จป.คะสารเคมีชนิดนี้เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่คะ” คำตอบที่ดีที่สุด  คือ ควรตอบว่า “ใช่ หรือไม่ใช่สารก่อมะเร็ง” โดยอธิบายตามเกณฑ์การจำแนกสารก่อมะเร็งที่ศึกษาในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ โดยองค์กร IARC /ACGIH/NTP ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการค้นข้อมูลจาก IARC ของปีล่าสุด (ค.ศ. 2020) โดยการค้นชื่อสารเคมี และการจำแนกกลุ่มสารก่อมะเร็งได้จากเวปไซต์ https://monographs.iarc.fr/agents-classified-by-the-iarc/ 2) ท่านก็สามารถไขข้อสงสัยได้อย่างถูกต้อง

          คำถามหนึ่งที่อาจจะเจอค่อนข้างบ่อยเช่นกัน คือ “จป.คะ สารเคมีที่รับสัมผัสเป็นสาเหตุในการเป็นมะเร็งที่หนูเป็นอยู่หรือปล่าวคะลักษณะคำถามแบบนี้ ผู้ประกอบอาชีพที่ป่วยเป็นมะเร็ง อาจมีข้อสงสัยว่าการรับสัมผัสสารเคมีที่ผ่านมา ว่าเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งของเขาหรือไม่ คำตอบที่จป.สามารถตอบได้ คือ “การค้นหาสาเหตุของการเป็นมะเร็งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลำบาก เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง ที่สำคัญการศึกษาทางระบาดวิทยาต้องเป็นการศึกษาในคนกลุ่มใหญ่ ดังนั้นการจะหาคำตอบในบุคคลที่ป่วยเป็นมะเร็งเพียง 1 ราย ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางระบาดวิทยาได้ นอกจากนั้น การเกิดมะเร็งจากสารก่อมะเร็ง ประเภทของเนื้องอกมักจะสัมพันธ์กับการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งและระยะเวลาของการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งที่เหมาะสม รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานต่างๆต้องมีน้ำหนักที่มากพอ”

          การจัดทำโครงการเฝ้าระวังสุขภาพจากสารก่อมะเร็ง แสดงถึงถึงความจริงใจในการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพอย่างแท้จริงได้ ทำได้โดยการประเมินการรับสัมผัสสารก่อมะเร็งในบรรยากาศการทำงาน การตรวจติดตามทางชีวภาพ รวมทั้ง การประเมินโรคระยะเริ่มแรกโดยแพทย์ เป็นต้น  ตัวอย่างเช่น การเฝ้าระวังการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในผู้ที่รับสัมผัสสารก่อมะเร็งชนิด เบตา แนพทิลเอมีน (Beta-naphthylamine) และสารเบนซีดิน (Benzidine) นอกจากประเมินความเข้มข้นสารในบรรยากาศการทำงานตามกฎหมายกำหนดแล้ว แพทย์มักให้ตรวจปัสสาวะ โดยการประเมินเลือดออกในปัสสาวะ  (Hematuria)  เพื่อประเมินการเป็นมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะในระดับเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตามผลการทดสอบอาจผิดพลาดได้ อาจมีการศึกษาเซลล์วิทยาทางปัสสาวะ (Urine cytology) เพื่อประเมินมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ เทคนิคนี้มีความไวและความจำเพาะสูงมาก และ 3) เทคนิคอื่น ๆ ที่ก้าวหน้ามากกว่า  เช่น  Flow cytometry  และ  Quantitative  fluorescence  image  analysis  แต่ยังพบว่าไม่มีความเที่ยงเท่าที่ควร เป็นต้น

          กล่าวโดยสรุป หวังอย่างยิ่งว่า หาก จป.เจอคำถามต่าง ๆแล้วสามารถตอบคำถามผู้ประกอบอาชีพได้อย่างชัดเจนและมั่นใจ ที่สำคัญ..เพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพทุกคน จป. จะต้องจัดทำโครงการเฝ้าระวังสุขภาพจากสารก่อมะเร็ง และหามาตรการในการป้องกันสารก่อมะเร็งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิในสถานประกอบการ เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งจากการทำงานอย่างยั่งยืน..จะดีที่สุด

Visitors: 415,036