เครื่องมือในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย

เผยแพร่เมื่อ: 28/09/2563....,
เขียนโดย คุณปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย
ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย THE SAFETY COACH

 

เรื่อง เครื่องมือในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย

          ในอดีตเราใช้หลัก 3E คือ Engineering Education และ Enforcement ในการป้องกันอุบัติเหตุ เรามีความเชื่อว่า 3 สิ่งนี้มาป้องกันอุบัติเหตุได้ แต่แล้วทั้ง 3 สิ่งนี้ กลับยังแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ จนเกิดเครื่องมืออีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า BB หรือ  Behavior based ซึ่งปัจจุบันเราเรียกกันว่า BBS หรือ Behavior based Safety โดย BBS อาศัยการเสริมแรงบวกในการสร้างพฤติกรรม “ทำให้ คนอยากทำ มากกว่าบังคับให้ทำ” สิ่งนี้สามารถนำไปสู่พฤติกรรมความปลอดภัยได้ 

          การช่วยให้คนตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยนั้น สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสอนการ การโค้ช และ การให้เขามีประสบการณ์ด้วยตนเอง การให้เขามีประสบการณ์ด้วยตัวเองนั้น ส่งผลได้ดีมาก โดยเฉพาะเมื่อตัวของเขาเอง ได้รับผลผลกระทบโดยตรง เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุกับตนเอง หรือ ครอบครัว หรือ คนที่ตนเองรัก เขาก็จะมีพฤติกรรมความปลอดภัยของตนเองเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ

          เพื่อนบ้านผมคนหนึ่ง คุณแม่ของเขาเสียชีวิต เนื่องจากตกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และไม่ได้สวมใส่หมวกกันน็อค สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เพื่อนบ้านของผมคนนี้ สวมใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง ในขณะขี่มอเตอร์ไซค์ และให้ลูกทั้งสองคนสวมหมวกกันกระแทกทุกครั้ง ในขณะที่ขี่จักรยานในหมู่บ้าน การเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนใกล้ตัว หรือ ประสบการณ์ของผู้อื่น ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ส่วนการสอนนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่การสอน ต้องแยกให้ออกจากการบอก เพราะการบอกแบบตรง ๆมากเกินไป ทำให้คนเรียนไม่ได้คิด เหมือนที่เราอบรมความปลอดภัยให้กับพนักงาน ถ้าเรามีความเข้าใจว่า อบรมตามกฎหมายให้มันจบๆ สุดท้ายมันก็จบไปแบบไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าเรามีกระบวนการในการสอน การมีอุปมาอุปไมยที่ชัดเจน หรือ ให้เขาได้ลองได้มีประสบการณ์ ก็จะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          น้องคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าเขาสนใจเรื่องความปลอดภัย ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน เนื่องจากพี่จป.ที่บริษัท ได้เอาสายไฟมาวางไว้บนพื้น แล้วให้ผมเดินข้ามไปข้ามมา 20 รอบ ปรากฏว่า หลังจากเดินข้ามไปข้ามมาครบแล้ว พี่จป.ถามว่า ถ้าน้องเดินมากกว่านี้อีก 1,000 หลายรอบ จะมีโอกาสสะดุดสายไฟหรือเปล่า? น้องคนนี้ตอบทันทีว่า มีโอกาสสะดุดสายไฟได้แน่ๆครับพี่ พี่จป. ถามต่อว่า แล้วถ้าน้องเข้าไปทำงานในโรงงานเป็นประจำทุกวัน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมั้ย? น้องคนนี้ตอบทันทีว่า มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุครับพี่  “สิ่งที่เราคิดว่ามันไม่เคยเกิด ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น” อุบัติเหตุก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเชื่อว่าเราทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว มันไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ มิได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น เราจึงต้องทำงานอย่างมีสติ และ หมั่นตรวจสอบทั้งการกระทำของ และ สภาพแวดล้อมที่เราทำงานอยู่ด้วยสม่ำเสมอ

          หลังจากที่ผมฟังน้องคนนี้พูดทำให้ผมรู้สึกประทับใจ พี่จป.คนนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีวิธีการสอนที่ชาญฉลาด และทำให้ฉุกคิด จนเกิดความตระหนักรู้ ส่วนกระบวนการ Coach ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการ ที่ช่วยให้ทำให้เกิดความตระหนักรู้อย่างมาก โดยวิธีการตั้งคำถาม แต่อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาเป็นโค้ชนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ในการโค้ช และที่สำคัญมากๆก็คือ หากผู้รับการโค้ช ไม่ยอมให้โค้ช หรือ ไม่มีความรู้และทักษะในเรื่องที่ตัวเองทำงานอยู่นั้น ก็ไม่สามารถโค้ชเขาได้ เราก็จะเป็นต้องหาเครื่องมืออื่นๆมาใช้ในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยต่อไป

          การสอน การให้มีประสบการณ์ และ การโค้ช เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย ลองเลือกดูนะครับว่าองค์กรของเราเหมาะกับเครื่องมือชนิดใดมากที่สุด

 

The Safety Coach

ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย

พฤติกรรมความปลอดภัยสร้างได้ BBS

 

 

Visitors: 419,920