เครื่องสูบน้ำดับเพลิงตามมาตรฐานสากล (NFPA20)

เผยแพร่เมื่อ: 27/09/2563 ....
เขียนโดย คุณคณาธิศ เกิดคล้าย
อดีตผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

เรื่อง เครื่องสูบน้ำดับเพลิงตามมาตรฐานสากล(NFPA20)

          ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พศ. 2552 ข้อ 11 “การติดตั้งระบบน้ำดับเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับ” ในที่นี้ผู้เขียนขอตรงประเด็นไปที่เครื่องสูบน้ำดับเพลิงซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล NFPA20 ; Standard for Installation of Stationary Pumps for Fire Protection ซึ่งโดยทั่วไปในประเทศไทยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงในโรงงานอยู่ 2 ลักษณะคือ
                    1. เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal Pump) หรือชาวบ้านเรียกปั๊มหอยโข่งนั่นเอง ตามมาตรฐานจะต้องติดตั้งในลักษณะที่ระดับผิวน้ำจากแหล่งเก็บน้ำดับเพลิง หรือถังเก็บน้ำดับเพลิงอยู่สูงกว่าตัวเครื่องสูบน้ำดับเพลิง

รูปที่ 1 เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง(Centrifugal Pump)


                     และ 2. เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบเทอร์ไบน์แนวดิ่ง (Vertical Turbine Pump) จะติดตั้งในลักษณะที่ระดับผิวน้ำของแหล่งน้ำดับเพลิง หรือถังเก็บน้ำดับเพลิงอยู่ต่ำกว่าตัวเครื่องได้

รูปที่ 2 เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบเทอร์ไบน์แนวดิ่ง (Vertical Turbine Pump)

          จากประสบการณ์ในการตรวจสอบโรงงานให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและการเป็นนักวิชาการด้านความปลอดภัยการให้คำปรึกษาในการยกระดับด้านความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น พบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานส่วนมากโดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กนิยมใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง นั่นเป็นเพราะราคาถูกว่ามาก และการถอดซ่อมบำรุงก็สามารถทำได้ง่ายกว่า เช่นการถอดล้างตัวกรอง Strainer ของเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบเทอร์ไบน์แนวดิ่งจะต้องรื้อหลังคาเพื่อยกเครื่องสูบออกจากหลังคาด้านบนตามรูปที่ 2 ซึ่งมีความยุ่งยาก มีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเพิ่มขึ้น ด้วยทั้งสองสาเหตุหลักนี้เองระบบสูบน้ำดับเพลิงของโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กโดยทั่วไปโดยเฉพาะตามต่างจังหวัดบ่อเก็บน้ำดับเพลิงจากสระซึ่งระดับน้ำจะอยู่ต่ำกว่าเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในฐานะนักวิชาการด้านความปลอดภัย การให้คำปรึกษาเพื่อแนะนำให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรฐานสากลถือเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง ผู้เขียนเองจะให้คำแนะนำโดยจะเน้นให้ความรู้กับผู้ประกอบกิจการและใช้บทอนุโลมโดยให้อิงเทียบมาตรฐานสากล โดยก่อนอื่นผู้ให้คำปรึกษาและผู้ประกอบการโรงงานต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมมาตรฐาน NFPA20 “ห้ามติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง โดยมีระดับผิวน้ำดับเพลิงในบ่อเก็บสำรองน้ำดับเพลิงต่ำกว่าตัวเครื่อง” ทั้งนี้เพราะในกรณีย์ระบบดับเพลิงมีการเสื่อมสภาพมีการรั่วซึมของน้ำในตัวเครื่องสูบน้ำแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางอาจจะเป็นที่ซีลตัวเครื่องหรืออุปกรณ์ หากไม่มีน้ำหล่ออยู่ในระบบของเครื่องสูบน้ำนั้น เมื่อเครื่องยนต์ฉุดเครื่องสูบน้ำทำงาน ตัวเครื่องสูบน้ำ (Centrifugal Pump)จะไม่สามารถสร้างสุญญากาศเพื่อสูบน้ำมาจากแหล่งเก็บน้ำด้านล่างได้ จะต้องมีการนำน้ำมาหล่อในเครื่องสูบน้ำ ซึ่งต้องทำให้เสียเวลาจึงไม่เหมาะสมกับการที่จำเป็นจะต้องตอบโต้ภาวะฉุกเฉินโดยฉับพลันทันที

          ฉะนั้นการให้คำปรึกษาและแนะนำผู้ประกอบกิจการโรงงานเมื่อเห็นว่าเครื่องสูบน้ำดับพลิงแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางที่มีอยู่แล้วการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ก็น่าจะเป็นการเหมาะสมกับทางเลือกของโรงงานเอง โดยส่วนตัวผู้เขียนจะแนะนำให้ปรับปรุงติดตั้งถังเก็บน้ำสูงกว่าเครื่องสูบน้ำ (Centrifugal Pump) มีสายยางท่อใสวัดระดับน้ำติดที่ข้างถังให้เห็นชัดเจน ต่อท่อน้ำจากถังที่ติดตั้งเพิ่มปลั๊กอินเข้าตัวเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง และควรมีการตรวจสอบจัดทำ Lock Book เป็นประจำรายสัปดาห์ บันทึกไว้ มีการทวนสอบโดยหัวหน้างาน ก็จะเป็นการยืนยันได้ว่าจะมีน้ำหล่ออยู่ในตัวเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางตลอดเวลา เมื่อมีเหตุฉุกเฉินสามารถพร้อมใช้งานได้ทันทีก็สามารถเทียบเคียงมาตรฐานสากลได้แบบเทียบเคียงครับ และอย่าลืมตรวจเช็คระบบอื่น ๆของระบบดับเพลิงให้พร้อมด้วยนะครับเช่นแบตเตอรี่สตารท์เครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิงและ ฯลฯ เพราะถึงจะติดตั้งระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยมาก็แพงพอสมควร แต่หลายๆโรงงานคงไม่อยากใช้งานระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยสักเท่าไร แต่ถ้าเกิดเหตการณ์ไม่คาดคิดระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยก็ต้องสามารถใช้งานได้โดยทันทีและเมื่อนั้นจะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงทุนไปได้แน่นอนครับ

 

Visitors: 420,764