Occupational Health and Safety Program: เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร? เพียงใด ?ในส่วนที่เป็นการตรวจสุขภาพพนักงาน – Normal Health and Special Health Check-up
เผยแพร่เมื่อ: 15/09/2563....,
เขียนโดย คุณสืบศักดิ์ ชนะชัยสุวรรณ
Know how & How to in HSE Management Series...,
Occupational Health and Safety Program
เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร? เพียงใด?
ในส่วนที่เป็นการตรวจสุขภาพพนักงาน
Normal Health and Special Health Check-up
ใน EP ที่แล้วมีบางส่วนที่ผมได้ใส่ตัวอย่างการบริหารงานที่เกี่ยวกับสุขภาพของพนักงาน ในแผนงานที่อยู่ในส่วนที่เป็น OGSM – Medical Services Management โดยปกติเป็นการทำงานร่วมกับของ ทีม HRD และ Health and Safety Personnel มีทั้ง Normal and Special Health ,Health Surveillance และ HealthImpact Prevention / Protection Management ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งในส่วนที่นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมาย รวม 7 ฉบับดังนี้
1. พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
2. พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
3. พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
4. พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551
5. พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2553
6. กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ. 2547
7. ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดสารเคมีอันตรายที่ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง พ.ศ. 2552
โดยสรุปจากทั้ง 7 ฉบับมีสิ่งที่นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังนี้
นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่ผ่านการอบรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
- นายจ้างต้องจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด และให้นายจ้างบันทึกผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างในสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างตามผลการตรวจของแพทย์ทุกครั้งที่มีการตรวจสุขภาพ
- นายจ้างต้องเก็บบันทึกผลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างตามข้อ 3 รวมทั้งข้อมูลสุขภาพอื่นที่เกี่ยวข้อง และพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา โดยให้เก็บไว้ ณ ที่ทำการของนายจ้างไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันสิ้นสุดของการจ้างแต่ละราย และนายจ้างมอบสมุดสุขภาพประจำตัวให้แก่ลูกจ้างเมื่อสิ้นสุดการจ้าง
- กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและกำหนดนิยาม “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” หมายความว่า งานที่ลูกจ้างทำเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ให้กำหนดสารเคมีอันตรายที่นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงาน ในงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สารเคมีอันตรายในกลุ่มสารทำละลายอินทรีย์ สารเคมีอันตรายในกลุ่มก๊าซ และสารเคมีอันตรายในกลุ่มฝุ่นหรือฟูมหรือผงโลหะ สารเคมีอันตรายในกลุ่มกรด สารเคมีอันตรายในกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืช สารเคมีอันตรายในกลุ่มอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้รายชื่อของสารเคมีให้ตรวจสอบได้ในกฎหมาย
โดยสรุป การตรวจสุขภาพของลูกจ้างมีสาระสำคัญ หลักๆ ดังนี้
1. ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยตรวจครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน และ ตรวจครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ในกรณีที่ลูกจ้างหยุดงาน 3 วันติดต่อกันเนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้นายจ้างขอความเห็นแพทย์ หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพ ก่อนให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน
- ในกรณีสภาพของงานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงนั้น มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระยะเวลาอื่น ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามระยะเวลานั้น --> โดยปกติการจะจัดให้พนักงานตรวจร่างกายตามความเสี่ยงนั้นยังต้องขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่พนักงานปฏิบัติงานในสถานที่ทำงาน จากผลการตรวจวัดระดับของสารเคมี ระดับความดังของเสียง ระดับความส่องสว่างของแสง และอีกหลายความเสี่ยง ถ้าระดับสารเคมีต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยมาก ๆ (Far Below Standard) ยังจำเป็นที่บริษัท ต้องจัดให้มีการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงหรือไม่ หลายแห่งใช้ข้อมูลที่ว่าด้วยเรื่องการตรวจร่างกายสำหรับทุกคนในแผนกเดียวกันทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อปัจจัยเสี่ยงในระดับเดียวกัน โดยปกติแล้วผู้ที่ปฏิบัติงานใกล้แหล่งสารเคมี มากที่สุด หรืออยู่ในแนวการแพร่กระจายตัวของสารเคมีเช่นอยู่ใต้ลมหรือการระบายอากาศจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายสำหรับความเสี่ยงต่อสารเคมีนั้น โดยใช้ข้อมูลของการตรวจวัดระดับของสารเคมีในสถานที่ปฏิบัติงานตามผลการตรวจวัดของระดับสารเคมีว่ายังอยู่ในระดับที่ต้องมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ (Action Level)
- ในกรณีเปลี่ยนลักษณะงานของลูกจ้างที่มีอันตรายแตกต่างจากเดิม ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างทุกครั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันเปลี่ยนงาน --> ส่วนนี้ที่พบในทางปฏิบัติ ยังมีการละเลยจากนายจ้าง มิได้จัดทำตามกฎหมายในบางแห่ง และมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ราชการค่อนข้างยาก ซึ่งไม่มีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน ส่วนสำคัญของข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ของพนักงานในการทำงานในตำแหน่งงานต่าง ๆ และความเสี่ยงในงานนั้นต้องได้รับการบันทึกครบถ้วน หากข้อมูลการตรวจร่างกายตามปัจจัยเสี่ยงตกหล่น ขาดหายไปจากสมุดสุขภาพของพนักงาน
2. ในการตรวจสุขภาพดังกล่าวทุกครั้งจักต้องบันทึกรายละเอียดการตรวจเกี่ยวกับผลการตรวจสุขภาพ โดยให้แพทย์ระบุความเห็นที่บ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และให้นายจ้างเก็บผลการตรวจไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการจ้าง
3. ให้นายจ้างแจ้งผลการตรวจสุขภาพแก่ลูกจ้าง ดังนี้
- กรณีผลตรวจผิดปกติ ให้แจ้งลูกจ้าง ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่ทราบผลการตรวจ
- กรณีผลตรวจปกติ ให้แจ้งลูกจ้าง ภายในระยะเวลา 7 วันนับแต่ทราบผลการตรวจ
- กรณีพบความผิดปกติ หรือลูกจ้างอาจมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาทันที และทำการตรวจสอบหาสาเหตุของความผิดปกติเพื่อป้องกันต่อไป นอกจากนี้ยังให้นายจ้างจัดส่งผลการตรวจสุขภาพนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบ --> ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะต้องนำไปใส่ในสมุดสุขภาพของพนักงานนั้นอาจไม่ครบถ้วน เนื่องจากเป็นเอกสารที่เป็นกระดาษ ไม่ใช่แบบ Digital และไม่มีข้อมูลที่ link ไปที่ ฐานข้อมูลสุขภาพของพนักงานทั้งในบริษัทและโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลยากขึ้นและช้า ซึ่งหลายแห่ง บริษัทนั้น ๆ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบ รวดเร็ว สามารถพิมพ์สมุดสุขภาพได้ทันที หรือส่งรายงานเปรียบเทียบกับกฎหมาย หรือระหว่างปีก่อนๆ ได้ทันที และสามารถส่งเป็น Digital Files ให้พนักงานได้ง่าย
- เมื่อลูกจ้างสิ้นสุดการจ้างให้นายจ้างมอบสมุดสุขภาพประจำตัวแก่ลูกจ้างผู้นั้นด้วย --> ส่วนนี้เช่นกัน ในทางปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติกันเป็นส่วนมาก หลายบริษัท ไม่สนใจใส่ไว้ใน Exit Clearance เวลาพนักงานลาออก มีแค่ตามเรื่องอุปกรณ์ต่าง ๆที่พนักงานต้องคืนเมื่อพ้นสภาพการเป็นพนักงานทำให้ส่วนนี้หายไปจากข้อมูลที่ต้องจัดการให้มีในสมุดสุขภาพของพนักงาน โดยนายจ้าง
โดยปกติการตรวจร่างกายพิเศษให้พนักงานที่ทำงานในสภาพการทำงานที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เรียกว่าปัจจัยเสี่ยงซึ่งต้องกระทำโดยแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านอาชีวเวชศาสตร์ หรือที่เราชอบเรียกกันว่า Occ Med. (Occupational Medical Doctor) ในงานการบริหารส่วนนี้เรามองว่า เป็น Planed Inspection แบบหนึ่งแต่ทำกับคน นอกเหนือจากการดำเนินการในส่วนที่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือหรืออุปกรณ์ โดยเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงานที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงานตามปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มีคำถามในเวลาที่ผมไปสอนในการอบรมให้ลูกค้าในบริษัทต่าง ๆ เช่น เราควรติดตามอาการที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานอย่างไร ผมสอนเรื่องนี้ด้วยครับ เรียกว่า Health Symptoms Survey (HSS) ที่เราต้องมีการถามรายละเอียดจากพนักงานและติดตามผลที่เกิดขึ้นเป็นประจำเพื่อเก็บข้อมูลครับ โดยเริ่มเก็บข้อมูลทุกๆ ไตรมาส เพื่อดูแนวโน้มและโอกาสที่จะมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้จริงกับพนักงาน
จากประสบการณ์ในการทำงานมากว่า 30 ปี ในระยะหลังๆ ผมนำข้อมูลจากหลายส่วนมาวิเคราะห์และนำมาวางแผนการจัดการที่เรียกว่า Employee Health Impacts & Issues Forecasting (EHIIF) กล่าวคือ งานทั้งหมดอย่างที่กล่าวมา ต้องทำพร้อมกับแผนก ฝ่าย ส่วน อื่น ๆ ในองค์กร เพื่อความสอดคล้องกันของข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ครับ เช่น
1. ข้อมูลความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ทำโดยหัวหน้างานและพนักงาน ร่วมตรวจสอบโดยฝ่ายบุคคลและฝ่ายความปลอดภัย (Regularly Update :Annually หรือ มีการเปลี่ยนสถานที่ปฏิบัติงาน เปลี่ยนอุปกรณ์ สารเคมี ในการปฏิบัติงาน เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนขบวนการผลิต – ทั้งหมดนี้บริหารงานภายใต้ Change Management System)
2. ข้อมูลผลการตรวจ การประเมินจาก Industrial Hygiene Monitoring ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ตัดสินใจ ในการวางแผนการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
3. ข้อมูลจากการตรวจร่างกายพนักงาน ทั้งแบบปกติและตามความเสี่ยงในงาน ตั้งแต่ก่อนเริ่มเข้าปฏิบัติงานในบริษัท หรือก่อนการเริ่มงานใหม่ในบริษัทเมื่อมีการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนขบวนการผลิตและอื่น ๆ
4. ข้อมูลการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานของพนักงานในบริษัท จากผลการตรวจ ที่มีนัยสำคัญเกี่ยวเนื่องกับข้อมูลจากส่วนที่ 1
5. การสรุปผลจากข้อมูลในทั้ง 4 ส่วนที่เราเรียกว่า “Hazards and Health Surveillance Interpretation” (Occupational Health Hazards and Risks Interpretation from Result of Industrial Hygiene Monitoring versus Health /Special Health Check-up)
ขอบคุณที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้นะครับ ผมขอประชาสัมพันธ์นะครับ วันเสาร์ที่ 19 กันยายน นี้ 13:30-15:30 น. ทาง ZOOM Meeting ในหัวข้อ “กฎหมายตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงในฝัน” จัดโดย ส.อ.ป ส่วนคราวหน้า กรุณารออ่านเหมือนเดิมนะครับ จะมาในหัวข้อ “QHSSE Life Cycle for Projects/Constructions” นะครับ