ปฏิบัติงานในห้องเย็น…อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ
เผยแพร่เมื่อ: 05/09/2563....,
เขียนโดย คุณณัฐนิชา ทองอ่วม, Health Matters for JorPor Series...,
หัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย สายโรงงานอุตสาหกรรม
“ปฏิบัติงานในห้องเย็น…อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ”
ในตอนบ่ายวันหนึ่งขณะสอนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้างทั่วไปฯ ผู้เข้าอบรมท่านหนึ่งขอปรึกษาปัญหาหนักใจที่เก็บเงียบมา 2 วัน กับผู้เขียน…ซึ่งพอฟังจบ ถึงกับต้องถอนหายใจเบาๆกันเลย
"อาจารย์คะแฟนหนูอยู่อีกบริษัทหนึ่ง เค้าทำงานในห้องเย็น (Cold storage) เมื่อวานซืนเค้าได้เข้าไปจัดของในห้องแช่แข็ง (Frozen storage) อุณหภูมิห้อง – 18 องศาเซลเซียส กับเพื่อนในแผนกอีก 3 คน แล้วเพื่อนออกไปหมดเผลอปิดประตูห้อง ทำให้แฟนหนูต้องกดปุ่มฉุกเฉินในการเปิดประตูแต่มันเปิดไม่ออก ทั้งทุบ ทั้งดึง ทั้งดัน จนเจ็บข้อมือและปวดแขนมาก จนเวลาผ่านไป 20 นาที ที่ติดอยู่ในห้องแช่แข็งเพื่อนมาเปิดประตูจากด้านนอกให้เพราะสังเกตว่าแฟนหนูหายไป ยังดีนะคะที่สวมชุดป้องกันความเย็นครบชุดไม่อย่างนั้นคงแย่แน่ๆ เพราะปกติถ้าเข้าไปหยิบของแฟนหนูบอกว่าเค้าจะไม่สวมชุดกันเพราะเข้าไปแป๊บเดียว เมื่อออกจากห้องแช่แข็งมาได้ เพื่อนๆต่างโทษกันไปมาว่าใครปิดประตู จนกระทั่งเรื่องถึงหัวหน้างาน !!!
หัวหน้างานของแฟนหนู บอกว่าให้ลาป่วยได้เพื่อไปหาหมอตรวจดูข้อมือและแขนที่ปวดโดยใช้สิทธิประกันสังคม และสั่งให้เงียบๆไว้ ไม่ต้องรายงานใครเดี๋ยวเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนหมอที่รักษาพอทราบเรื่องที่เล่ามา เค้าแนะนำให้ไปแจ้งความค่ะ … หนูควรทำอย่างไรดีคะ? แล้วแฟนหนูจะอันตรายไหมคะนี่ ?”
ผู้เขียนเคยเจอแบบนี้ในหลายๆสถานประกอบการที่ผู้ปฏิบัติงานไม่รายงานให้ จป.วิชาชีพ หรือหน่วยงานความปลอดภัยทราบ เนื่องจากไม่อยากโดนสอบสวนเหตุการณ์ เพราะเมื่อสอบสวนเสร็จก็ต้องมาทำแผนจัดการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ที่เค้าคิดว่า คือ “ภาระ” ก่อนที่จะตอบคำถามน้องคนนี้ จะขออธิบายอันตรายจากความเย็นให้อ่านกันสักนิดก่อนนะคะ
1. “ความเย็น” ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อ (Cold Burn) คือ เกิดผลึกน้ำแข็งในเซลล์ของเนื้อเยื่อที่ถูกความเย็น มีการทำลายระบบไหลเวียนในหลอดเลือดฝอย ซึ่งการอุดตันที่เกิดขึ้นจากระบบไหลเวียนเลือดนี้ไม่อาจกลับคืนดีได้ดังเดิมแม้เนื้อเยื่อจะได้รับความอุ่นเป็นปกติแล้วก็ตาม
- ผลของความเย็นต่อร่างกายเฉพาะที่ เช่น ผิวแห้งและแตก , chilblain or pernio , Immersion foot or trench foot
- การบาดเจ็บจากความเย็นชนิดรุนแรง เช่น Frostnip , Frostbite
2. “ความเย็น” ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง (Hypothermia)
การที่อุณหภูมิร่างกายลดลงนั้นจะทำให้การทำงานของสมองช้าลง การตัดสินใจช้า หรือหมดความรู้สึก และเสียชีวิตในที่สุด อาการเตือนในระยะแรกๆ จะมีการเจ็บปวดที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า แสดงถึงอันตรายของความเย็น ในระหว่างที่มีการสัมผัสกับความเย็น ผู้เขียนเคยพบว่าบางโรงงานมีคนที่เกิดอาการเจ็บปลายนิ้วเกือบ 30 คน แต่ จป.วิชาชีพ ไม่เคยรู้เลย !!! และเมื่อเกิดการสั่นอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายลดลงถึง 35◦C ถือได้ว่าบอกอันตรายที่จะเกิดขึ้นจึงควรให้หยุดการสัมผัสความเย็นทันที
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ…พออ่านแล้วรู้ได้เลยใช่ไหมว่าการทำงานในห้องเย็น ทำให้ จป.วิชาชีพ อย่างพวกเราใจเย็นต่อไปไม่ได้อีกแล้ว นี่ยังไม่รวมอันตรายจากสารทำความเย็นเลยนะคะ ดังนั้น เราต้องหามาตรการมาควบคุมเพื่อให้ทุกคนทำงานได้อย่างปลอดภัย อาทิเช่น การควบคุมลมในระบบปรับอากาศ (wind chill temperature) , กำหนดระยะเวลาการเข้าไปทำงานในห้องเย็นตามหลักของ ACGIH , ชุดป้องกันความเย็นที่เหมาะสมกับอุณหภูมิห้อง , ตรวจตราความปลอดภัยอุปกรณ์ต่างๆในห้องเย็น , วางแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและการฝึกซ้อมฯ รวมไปถึงการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ปฏิบัติงานห้องเย็น
ที่มา : Thermal Stress, Cold Stress, 1999 TLVs and BEIs, pages 159-167, ACGIH, Cincinnati, OH
หลังจากอธิบายอันตรายจากความเย็นและหลักการทำงานในห้องเย็นให้น้องฟังไปแล้ว ผู้เขียนจึงให้ความเห็นส่วนตัว มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
- ให้แฟนของน้องไปที่หน่วยงานความปลอดภัยของบริษัท และเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ จป.วิชาชีพ ฟัง เพื่อสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงและป้องกันไม่ให้เหตุนี้เกิดขึ้นอีก (เนื่องจากบริษัทที่แฟนน้องทำอยู่มีทีมความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มงวดและเข้มแข็งอยู่แล้วแต่หัวหน้างานให้ปกปิดการรายงานเพราะกลัวความผิด)
- สำหรับหัวหน้างาน คงไม่ต้องให้อาจารย์บอกนะคะว่าควรทำงานร่วมกันต่อไปอีกได้ไหม คงต้องให้ผู้บริหารของบริษัทพิจารณาเองในเรื่องกรณีปกปิดเหตุการณ์นี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น ตักเตือนตามบทลงโทษของบริษัท ปรับแก้ไขระบบการรายงานใหม่ สร้างทัศนคติเชิงบวกแก่พนักงานทุกระดับเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการรายงาน เป็นต้น
และสุดท้ายสำหรับแฟนของน้อง เมื่อรายงานทุกอย่างให้ จป.วิชาชีพ ทราบแล้ว คงได้รับการเฝ้าระวังเรื่องภาวะสุขภาพต่อเนื่องต่อไป เพราะ “โรคจากความเย็น” ถือว่าเป็น “โรคจากการทำงาน” ใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนในการรักษา ไม่ใช่สิทธิประกันสังคมค่ะ