โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

เผยแพร่เมื่อ: 26/08/2563 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

          การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชุมชน ระบบนิเวศน์และสุขภาพของมนุษย์ ในขณะที่อุตสาหกรรมนำความมั่งคั่งและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายและหนึ่งในจำนวนนี้เป็นมลพิษอุตสาหกรรม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากผลกระทบของมลพิษและเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรม หลายประเทศทั่วโลกได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายใต้การดำเนินงานของสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Park, EIP)ที่มีแนวความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมและมลพิษสิ่งแวดล้อม เพื่อความก้าวหน้าของการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าว ยังไม่ประสบความสำเร็จและยังไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย

          การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้เป็นไปในแนวทางอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry) หรืออุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องการเพิ่มผลผลิต และการแข่งขันเชิงธุรกิจทางการค้าแล้ว ยังเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กันไป รวมถึงการร่วมพัฒนาชุมชนรอบข้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย จากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อมุ่งสู่การสร้างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงต้องเร่งปรับตัวพัฒนาทั้งมิติด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ โดยมุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีความปลอดภัย มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด และประการสำคัญ คือ มีความเกื้อกูลกับสังคม และผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบ ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงเป็นกลไกสำคัญในการเติมเต็มความยั่งยืนให้ปรากฎเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

          การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม เป็นเมืองหรือพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยให้มีความเชื่อมโยงของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรมกับกลุ่มโรงงาน องค์กร หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ ให้เจริญเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และการร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังของคนในพื้นที่ โดยสามารถดำเนินการได้ทุกระดับตั้งแต่ ระดับปัจเจกชน เช่น ครอบครัวและโรงงาน (eco family / eco factory) เป็นต้น ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือชุมชน เช่น นิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านหรือตำบล (eco industrial zone / estate) ระดับเมือง (eco town community/ city) หรือเครือข่ายของเมืองหรือจังหวัด

          ลำดับขั้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มจากการพัฒนาภายในสถานประกอบการ หรือโรงงานโดยนำแนวคิดหลักของนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมมาใช้ และพัฒนาจากระดับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประกอบการเดียวกัน (zone/estate) เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่น และขยายตัวไปสู่การเชื่อมต่อกันระหว่างนิคมหลายนิคมในเขตอำเภอ จนกระทั่งเป็นระดับจังหวัด โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน ที่สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการอุปโภคและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่า การพัฒนาเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจึงเริ่มต้นที่ โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนการพัฒนาอย่างยั่งยืน


     โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

          โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industrial Town โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของชุมชน รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อสร้างความสมดุลในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในการพัฒนาเมืองตนแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ที่มีองคประกอบครบทุกมิติผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโรงงานที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ต้องดำเนินงานครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ กายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ ซึ่งครอบคลุมเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้งหมด 14 ประเด็น และคุณลักษณะของโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ประการ แสดงดังภาพ

 


          ในปี 2557 บริษัท ระยอง โอเลฟินส์ จำกัด และ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ได้นำเกณฑ์ของการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาประยุกต์ใช้และยกระดับระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม จนสามารถผ่านเกณฑ์ และได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสองแห่งแรกในประเทศไทย

          ในปี 2558 บริษัทที่เหลือใน ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จำนวน 10 บริษัท 12 โรงงาน ได้ดำเนินการตรวจประเมินตามเกณฑ์โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ได้การรับรองครบทุกโรงงาน 100% แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในกระบวนการจัดการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อาทิ

               - โครงการลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต โดยลดได้ถึงปีละ 3.1 ล้านจิกะจูล เทียบได้กับการใช้ไฟฟ้าในชุมชนมาบตาพุดประมาณ 7 ปี
               - 
โครงการจัดการน้ำโดยนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการใช้ได้มากกว่า 3.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าการบริโภคน้ำของประชากรในมาบตาพุดประมาณ 20 วัน
               - 
โครงการนำของเสียในกระบวนการผลิตมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพให้กับชุมชน เช่น โครงการกากตะกอนจุลินทรีย์มาเป็นปุ๋ยไส้เดือนดิน โครงการบ้านปลา ที่นำท่อ PE100 เหลือใช้มาเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
               - 
โครงการสนับสนุนอาชีพโดยส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เช่น โครงการ “กล้วยหอมแผ่น” ชุมชนมาบชลูด ให้ความรู้เรื่องการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ สร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

          สำหรับในตอนหน้า จะกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของภาคอุตสาหกรรมในระดับนิคมอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม (eco industrial estate)ที่พัฒนาจากระดับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประกอบการเดียวกัน (zone/estate) เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเชิงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่กับสิ่งแวดล้อมโดยรวมและระบบนิเวศท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

Visitors: 414,699