Introduction to Indoor Air Quality
เผยแพร่เมื่อ: 20/08/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารุญ เกตุสาคร
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Introduction to Indoor Air Quality: IAQ
Episode 1 ที่ผ่านมานั้นเป็นการแนะนำถึงคุณภาพอากาศภายในอาคารโดยภาพรวมสำหรับ Episode 2 เราจะมาพูดถึงแหล่งกำเนิดมลพิษ ประเภทของสิ่งคุกคามและวิธีการควบคุมทั่วไป หลักการระบายอากาศ คุณภาพอากาศภายในอาคารและระบบการระบายอากาศกันครับ
- มลพิษในอาคารมีแหล่งกำเนิดหลักอยู่ 2 ทางคือ
1. จากภายนอกอาคาร
เช่น ควันเสียรถยนต์ โครงการก่อสร้าง มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียง ไอเสียที่ดูดออกจากภายในอาคารเองที่แขวนลอยใกล้กับช่องอากาศเข้า
2. จากภายในอาคาร
น้ำยาทำความสะอาด การซ่อมแซมอาคาร สารทำละลาย เครื่องเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เครื่องถ่ายเอกสาร หมึกพิมพ์ เครื่องใช้สำนักงานบางประเภท การสูบบุหรี่ การทำอาหาร เป็นต้น
- ประเภทของมลพิษ
1) เกิดจากชีววัตถุ (Biological) เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ของเสียจากคน (น้ำมูกจากการจาม เสมหะจากการไอ) เป็นต้น
2) เกิดจากสารเคมี (Chemical) เช่น น้ำยาทำความสะอาด สารทำละลาย เชื้อเพลิง กาว การเผาไหม้ ไอระเหยจากเฟอร์นิเจอร์ สีทาผนัง เป็นต้น
3) ฝุ่นละออง (Particle and Aerosol) มีทั้งที่เป็นรูปแบบของแข็งหรือละอองน้ำที่มีมวลเบาและแขวนลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งเกิดจากฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การพิมพ์ การถ่ายเอกสาร กระบวนการผลิต การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ เป็นต้น
ฝุ่นละออง (Particle and Aerosol)สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้นั้นต้องมีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ถ้าสงสัยว่า 10 ไมครอน นั้นมีขนาดเล็กขนาดไหนเราลองเปรียบเทียบขนาดของฝุ่นละอองกับเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมของเรานั้นจะเห็นได้ว่าฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมาก ๆ (พิจารณาตามภาพที่ 1 และ 2)
ภาพที่ 1 การเปรียบเทียบขนาดของฝุ่นละอองกับเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม
ภาพที่ 2 ขนาดของมลพิษแต่ละชนิด
- วิธีการควบคุมทั่วไปโดยใช้หลักการระบายอากาศ
โดยทั่วไปวิธีการควบคุมโดยใช้หลักการระบายอากาศมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ลดปริมาณสิ่งสกปรกและเป็นความเป็นพิษที่ผสมอยู่ในอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
2) ให้ภาวะอากาศหรืออุณหภูมิและความชื้นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
3) ให้มีการเคลื่อนไหวของอากาศภายในอาคารพอเพียงที่จะระบายความร้อนจากตัวคนเพื่อความรู้สึกสบาย
4) ป้องกันการติดไฟ การระเบิดที่เกิดจากความเข้มข้นของมลพิษ
- ระบบการระบายอากาศ
ก่อนที่เราจะดำเนินการควบคุมหรือแก้ปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารได้นั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจในระบบการระบายอากาศภายในอาคารกันก่อนนะครับว่ามีกี่ประเภทอะไรบ้าง ระบบการระบายอากาศภายในอาคารประกอบด้วย 4 ระบบใหญ่ๆ คือ
1) Dilution Ventilation
ระบบระบายอากาศโดยการดึงอากาศบริสุทธิ์เข้ามาเจือจางจะใช้หลักการ Air Change
2) Local Exhaust Ventilation
ระบบระบายอากาศโดยการดึงอากาศเสียเฉพาะที่
3) Dilution and Local Exhaust Ventilation
ระบบระบายอากาศโดยวิธีการดึงอากาศเสียเฉพาะที่และดึงอากาศบริสุทธิ์เข้ามาเจือจาง
4) Recirculation Air Ventilation
ระบบระบายอากาศโดยการนำอากาศที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วไหลเข้ากลับมาบริเวณที่ทำงานเพื่อการประหยัดพลังงานในกรณีที่บริเวณที่ทำงานมีการปรับสภาวะอากาศ
ภาพที่ 3 ระบบการระบายอากาศภายในอาคาร[1]
โดยทั่วไปเครื่องกรองอากาศ เครื่องทำความเย็น และพัดลม มักรวมกันอยู่ในห้อง/พื้นที่หนึ่ง เรียกว่า “Air house” หรือ Air Supply Unit หรือ Air Handling Unit; AHUถ้าอากาศภายในห้องบางส่วนถูกนำกลับเข้ามาสู่ระบบอีกเพื่อประหยัดพลังงานจะต้องมีระบบนำอากาศกลับเข้าสู่ AHU ซึ่งเรียกว่า Return System
ถ้าต้องการทราบคุณภาพอากาศภายในอาคารว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือกฎหมายกำหนดหรือไม่นั้นย่อมจำเป็นต้องมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารตามพารามิเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งจะขอกล่าวในรายละเอียดในตอนต่อไป ถ้าภายในอาคารมีค่าพารามิเตอร์เกินค่ามาตรฐานหรือกฎหมายกำหนดอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ภายในอาคารก่อให้เกิดอาการต่างๆ หรือเกิดการเจ็บป่วยเนื่องมาจากเหตุอาคารได้ และถ้าต้องการลดหรือควบคุมมลพิษภายในอาคารให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เราสามารถเลือกใช้เทคนิคการระบายอากาศโดยนำอากาศจากภายนอกที่ผ่านระบบการทำความสะอาดแล้วเข้ามาเจือจางมลสารภายในอาคารโดยใช้หลัก Air Change Rate Per Hour : ACH ได้ ดังนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องเข้าใจหลักการทำงานของระบบการระบายอากาศภายในอาคารเพื่อจะได้เลือกวิธีการประเมินคุณภาพอากาศได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับระบบการระบายอากาศของแต่ละประเภท
- อ้างอิง
[1] U.S. Environmental Protection Agency. (2017).Indoor Air Quality (IAQ): Animation Series Visual Reference Modules for the Indoor Air Quality Building Education and Assessment Model. RetrivedAugust18, 2020, from https://19january2017snapshot.epa.gov/indoor-air-quality-iaq/animation-series-visual-reference-modules-indoor-air-quality-building_.html