การเตรียมลูกจ้างก่อนเข้ารับการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพ: การตรวจการได้ยินทางอาชีวอนามัย
เผยแพร่เมื่อ: 12/08/2563....,
เขียนโดย อาจารย์แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเตรียมลูกจ้างก่อนเข้ารับการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพ
การตรวจการได้ยินทางอาชีวอนามัย
หลายคนอาจสงสัยว่าการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพการได้ยินทางอาชีวอนามัย (audiometry) นั้นทำไปเพื่ออะไร? ในทางการแพทย์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จำเป็นต้องใช้ผลเหล่านี้มาประกอบเพื่อประเมินความพร้อมในการทำงาน (Fitness for work) ตลอดจนใช้ประเมินความเหมาะสมก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) ของลูกจ้างที่ทำงานบางประเภท เช่น ขับขี่รถบรรทุก รถสาธารณะใช้เฝ้าระวังหูเสื่อมจากการสัมผัสเสียงดังในบางลักษณะงานที่มีเสียงดังมากๆ ใช้เพื่อเป็นผลประเมินการเข้าร่วมมาตรการอนุรักษ์การได้ยินของลูกจ้างตามกฏหมายกำหนด ตลอดจนยังนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินสูญเสียสมรรถภาพทางกายจากการทำงานให้ลูกจ้างอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การแปลผลได้ถูกต้อง การเตรียมตัวก่อนการเข้ารับการตรวจการได้ยินทางอาชีวอนามัยจึงมีความสำคัญมาก และ มีหลักปฏิบัติ ดังนี้
- งดสัมผัสการได้ยินที่เสียงดังมาก เป็นเวลาอย่างน้อย14ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะหูเสื่อมชั่วคราว อันจะนำไปสู่การแปลผลว่าผิดปกติ (ผลบวกลวง) ได้
- งดออกกำลังกายก่อนการตรวจ
- งดการพูดคุยเสียงดัง และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะนั่งรอตรวจ เพื่อป้องกันการรบกวนผู้ที่กำลังเข้ารับการตรวจในขณะนั้น
- หากผู้รับการตรวจป่วยด้วยโรคหวัด โดยมีอาการมาไม่เกิน 3 วัน หรือ มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหู ควรเลื่อนการตรวจออกไปก่อน เนื่องจาก ตัวโรคดังกล่าวจะทำให้การได้ยินลดลง ส่งผลให้แปลผลว่าผิดปกติ (ผลบวกลวง) ได้
ในกรณีที่พบว่า ลูกจ้างเตรียมตัวก่อนตรวจไม่เหมาะสม เช่น ไม่ได้งดสัมผัสเสียงดังก่อนตรวจ หรือ กำลังป่วยอยู่แนะนำว่าควรเลื่อนการตรวจออกไป หรือ ส่งปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากหากยังฝืนทำไป ผลตรวจที่ได้อาจไม่สามารถนำไปแปลผลเพื่อดำเนินการต่อได้จริง
โดยทั่วไป ลูกจ้างที่สามารถฟังคำสั่งและปฏิบัติตามขั้นตอนในการตรวจได้อย่างเข้าใจถือว่าไม่มีข้อห้ามในการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน