จุดเริ่มต้นความสำเร็จของการยศาสตร์ในสถานประกอบการ:หลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Ergonomics: PE)
เผยแพร่เมื่อ: 08/08/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,
Meet the Academic: Ergonomics Make It Simple Series...,
จุดเริ่มต้นความสำเร็จของการยศาสตร์ในสถานประกอบการ
หลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม
(Participatory Ergonomics: PE)
“การมีส่วนร่วม” เป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นระดับแผนกหรือระดับองค์กร เนื่องจากโครงสร้างขององค์กรในยุคนี้มีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นแบบแนวนอน (Horizontal Structure) มากขึ้น เกิดรูปแบบโครงสร้างใหม่ๆ ที่เน้นการใช้ทีมงาน การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ร่วมกัน จะช่วยให้พนักงานในองค์กรเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) จากการร่วมคิดร่วมตัดสินใจจนนำไปสู่ข้อสรุป/มาตรการที่สมเหตุสมผลและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ทำให้ผู้มีส่วนร่วมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นตกลงยอมรับ (Commitment) และยินยอมปฏิบัติตาม (Compliance) ด้วยความเต็มใจและสบายใจ
งานการยศาสตร์ในโรงงานหรือในองค์กรใดๆ จะสำเร็จราบรื่นได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน ปัจจุบันหลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Ergonomics: PE) ได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน และมีการนำมาใช้ในการผลักดันให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการยศาสตร์อย่างแท้จริง
การยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม(Participatory Ergonomics: PE) คือ การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย ทุกแผนกในหน่วยงาน ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการยศาสตร์ ผ่านการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจการศึกษาปัญหาร่วมวางแผน ร่วมลงมือปฏิบัติโดยจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในการแก้ไขปัญหา เพิ่มโอกาสในการยอมรับของผู้ปฏิบัติงาน
ขั้นตอนการดำเนินงานการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Ergonomics: PE) มีดังนี้
1. กำหนดความสำเร็จ(Choosing success)
โดยผู้บริหารจะต้องแสดงความมุ่งมั่นเพราะเป็นที่สิ่งจำเป็นที่จะทำให้การยศาสตร์แบบมีส่วนร่วมนั้นยั่งยืน ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมุ่งมั่นของผู้บริหารกระบวนการที่จะแสดงความมุ่งมั่นของผู้บริหารออกมา คือ การสื่อสารความมุ่นมั่นไปสู่พนักงานด้วยการจัดประชุมชี้แจงประกาศนโยบาย ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้พนักงานเห็นคุณค่าของการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาผู้บริหารจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้คณะกรรมการดำเนินการ ทั้ง บุคคล เวลา สถานที่ และงบประมาณ
2. กำหนดแนวทางการดำเนินการ (Picking a winning team)
หลักสำคัญของการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม คือการที่คณะกรรมการดำเนินตามหน้าที่ได้แก่
การสื่อสารกับพนักงานที่อาจไม่เข้าใจ ระบุพื้นที่ที่ต้องดำเนินการปรับปรุง และพิจารณาในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่จะปรับปรุง ในส่วนจำนวนสมาชิกนั้นไม่จำเป็นต้องมากและควรมีการจัดประชุมย่อยเดือนละ 1 ครั้ง ๆ ละ 2-3 ชั่วโมง หรือบางระยะอาจมีการประชุมบ่อยขึ้นโดยอยู่บนพื้นฐานข้อเสนอแนะของพนักงาน อาจจะเรียกคณะกรรมการนี้ว่า “คณะกรรมการปรับปรุงการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม” ซึ่งควรประกอบไปด้วย ตัวแทนจากทุกฝ่าย ทุกแผนกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา
3. อบรมทีมทำงาน (Team training)
เป็นการอบรมให้แก่คณะกรรมการจากขั้นตอนที่ 2 โดยควรมีระยะเวลาในการอบรมไม่เกิน1 วัน และครอบคลุมหัวข้อดังนี้
3.1 กรอบของการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานปรับปรุงด้านการยศาสตร์
3.2 ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากปัญหาด้านการยศาสตร์
3.3 ปัจจัยเสี่ยงด้านการยศาสตร์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ
3.4 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ผลกระทบต่อสุขภาพกับปัจจัยเสี่ยงด้านการยศาสตร์
3.5 แนวคิดเกี่ยวกับการบาดเจ็บและความผิดปกติต่อระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง
3.6 เครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ ที่จำเป็นต้องใช้ตามหลักของปัจจัยเสี่ยง
3.7 ตัวอย่างปัญหาด้านการยศาสตร์ที่พบจากการใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์
3.8 ตัวอย่างแนวทางการปรับปรุงด้านการยศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
4. กำหนดปัญหา (Targeting problems)
4.1 ทบทวนสถิติการบาดเจ็บ เวลาที่สูญเสียจากการบาดเจ็บ เพื่อชี้บ่งรูปแบบของการบาดเจ็บ
4.2 วิเคราะห์สถานีงานด้วยเครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์เพื่อให้ทราบถึงระดับความเสี่ยงของงาน
4.3 ประชุมร่วมกับพนักงานเพื่ออภิปรายปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือข้อร้องเรียน
5. ระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการแก้ไข (Brainstorming solutions)
เป็นขั้นตอนที่ตรวจจะให้ฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุงเข้ามามีส่วนร่วม (ถ้าไม่ได้เข้าเป็นคณะกรรมการตั้งแต่แรก) เนื่องจากมีความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพงาน หลังจากที่ปัญหาด้านการยศาสตร์ได้ผ่านกระบวนการบ่งชี้อันตรายแล้ว สมาชิกและคณะกรรมการทุกคนควรมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ประธานในที่ประชุมควรวางกรอบให้บรรยากาศเป็นไปในทางสร้างสรรค์สนับสนุนแนวคิดให้มีความท้าทายต่อปัญหา และพยายามอภิปรายซ้ำในข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน (ควรมีการบันทึกทุกความคิดเห็นเก็บไว้)
6. ลงมือปฏิบัติ (Taking action)
จะต้องมีการมอบหมายผู้รับผิดชอบดำเนินงานให้ชัดเจนถึงการปรับปรุงสภาพงานในแต่ละส่วน คณะกรรมการควรแจ้งให้พนักงานและหัวหน้างานทุกคนรับทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและควรมีการรับฟังข้อเสนอแนะที่อาจจะส่งผลต่อกระบวนการทำงานในปัจจุบัน
7. รวบรวมข้อเสนอแนะ (Gathering feedback)
ควรมีการทิ้งช่วงระยะเวลาหลังจากการด าเนินการปรับปรุงสภาพงานไปแล้วเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ความคุ้นเคยก่อนที่จะประเมินผลหรือแสดงความรู้สึกใดๆ คณะกรรมการควรมีการเตรียมเอกสารหรือช่องทางเพื่อให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อดีและข้อเสียของการปรับปรุงที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ได้รับข้อเสนอที่มีประโยชน์อาจนำมาทำตามขั้นตอนที่ 5-7 ซ้ำอีกครั้งหนึ่งจนกว่าจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้การยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Ergonomics: PE) มาใช้งานจริงในสถานประกอบการ ได้แก่
(1) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงสภาพงานโดยใช้หลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วมเพื่อลดความเสี่ยงบริเวณหลังส่วนล่างในพนักงานแผนกลอกยางของโรงงานยางพาราแผ่นรมควันแห่งหนึ่งในจังหวัดจันทบุรี” การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงบริเวณหลังส่วนล่าง ก่อนและหลังการปรับปรุงสภาพงาน และเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานโดยใช้หลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (ParticipatoryErgonomic: PE) ในคนงานแผนกลอกยาง ผลการศึกษา พบว่า จากการนำการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม Participatory Ergonomic (PE) มาปรับปรุงสภาพงานลอกยางพาราแผ่นสามารถลดความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ลงมาได้ ความเสี่ยงหลังส่วนล่างจากการประเมินด้วย REBA และความรู้สึกปวดหลังส่วนล่างลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต(p-value < 0.05)
(2) การศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลของโปรแกรมการมีส่วนร่วมตามหลักการยศาสตร์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านอาชีวอนามัยของพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” ซึ่งวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้ คือ การพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้แบบมส่วนร่วมตามหลักการยศาสตร์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านอาชีวอนามัยของพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และประเมินผลโปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักการยศาสตร์ สามารถลดปัจจัยสิ่งแวดล้อมการทำงานและสุขภาพของพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผลการศึกษา พบว่า โปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมตามหลักการยศาสตร์สามารถลดปัจจัยเสี่ยงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และช่วยเพิ่มปัจจัยสนับสนุนของสิ่งแวดล้อมด้านจิตสังคมได้
(3) การศึกษาวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงสภาพงานโดยใช้หลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วมเพื่อลดความเสี่ยงที่มือของคนงานในโรงงานผลิตและประกอบชุดสายไฟในรถยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง” การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงที่มือจากการทำงานของคนงานในโรงงานผลิตและประกอบชุดสายไฟ โดยใช้หลักการทางด้านการยศาสต์แบบมีส่วนร่วม ผลการศึกษา พบว่า หลักการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Ergonomic: PE) สามารถนำมาใช้ในกระบวนการปรับปรุงสภาพงานเพื่อลดความเสี่ยงที่มือของคนงานพันสายไฟได้ โดยผลการประเมินความเสี่ยงที่มือตามแนวทางของ ACGIHof HAL พบว่า มือซ้ายของคนงานส่วนใหญ่จากระดับความเสี่ยงมากกว่าค่า TLV ร้อยละ 83.33 ลดลงเหลือ ร้อยละ54.16 และมือขวาจากระดับความเสี่ยงมากกว่าค่า TLV ร้อยละ 95.83 ลดลงเหลือ ร้อยละ 45.83 และจากผลการประเมินความเสี่ยงที่มือตามแนวทางของ Strain Index (SI) พบว่ามือซ้าย ระดับ SI อยู่ระหว่าง 3 ถึง 7 ร้อยละ 54.16 หลังปรับปรุงผลไม่มีการเปลี่ยนแปลง มือขวา ระดับ SI มากกว่า 7 คิดเป็น 100.00 ลดลงเหลือ ร้อยละ 62.50
ดังนั้นเพื่อลดปัญหาหรืออาการบาดเจ็บเกี่ยวกับกล้ามเนื้อในผู้ปฏิบัติงาน หรือเกิดปัญหา Ergonomics อื่นๆ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ควรมีการนำการยศาสตร์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Ergonomics: PE) ไปปรับใช้ในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและด้วยแนวทางที่กล่าวมา ผู้เขียนเชื่อว่าความสำเร็จในการดำเนินงานการยศาสตร์ในสถานประกอบ/องค์กรของท่านจะเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม