หัวใจหลักของงานก่อสร้างที่ทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าหรือ เจ๊งล้มละลาย
เผยแพร่เมื่อ: 02/08/2563....,
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
ผู้จัดการฝ่ายอาชีวอนามัย ความมั่นคง ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
บริษัทเอกชน ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน
หัวใจหลักของงานก่อสร้างที่ทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าหรือ เจ๊งล้มละลาย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีงานก่อสร้างเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าโครงการเล็กมูลค่างานหลักแสน จนถึงโครงการใหญ่หลายร้อยหลายพันล้านบาท โดยมีบริษัทก่อสร้างรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย พอๆกับหลายๆบริษัทที่เจ๊ง ล้มหายตายไปจากธุรกิจก่อสร้าง
อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้บางบริษัทเจริญก้าวหน้า เติบโตขึ้นพร้อมๆกับผลกำไรมหาศาล และอะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้บางบริษัทต้องปิดกิจการลง บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการ์ณของผม ที่เคยเป็นทั้งพนักงานในบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลัก (อยู่หน้างานสัปดาห์ละ 6 วัน) จนมาเป็นผู้บริหารในบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้าง และเป็น Auditor โดยผมมีประสบการณ์ในสายงานก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 15 ปี ร่วมกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมๆแล้วไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท เลยอยากนำความลับและสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแบ่งปัน เพื่อให้ท่านทั้งหลายเลือกกันได้ว่า จะเป็นบริษัทที่จะเติบโตก้าวไปข้างหน้า หรือจะเป็นบริษัทที่กำลังจะปิดกิจการ ด้วยความเชื่ออย่างหนึ่งของผมที่ว่า “การเรียนรู้ตัวอย่างจากประสบการ์ณของผู้ที่ประสบความสำเร็จ จะช่วยย่นระยะเวลา ลดรายจ่าย และไม่จำเป็นที่เราต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง”
หัวใจหลักของงานก่อสร้างที่ผมได้เรียนรู้ มีอยู่ 4 อย่าง และเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องทำ และให้ความสำคัญตามลำดับทุกๆข้อ ห้ามไม่ทำและห้ามให้ความสำคัญข้ามลำดับหรือสลับที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
1. ความปลอดภัย (Safety)
“ความปลอดภัย” เป็นสิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ถ้าหากปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญ ไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย และทำตามมาตรฐานความปลอดภัย ผลที่ตามมาเริ่มตั้งแต่อุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิต เสียชื่อเสียง ทรัพย์สินเสียหาย และนำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดี ชดใช้ค่าเสียหาย ไม่มีลูกค้าไว้ใจเชื่อถือ เลิกจ้างงาน จนกระทั้งต้องลดจำนวนพนักงาน ปิดบริษัท ตัวอย่างมีให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะกรณีอุบัติเหตุใหญ่ๆที่มีผู้เสียชีวิตมากๆ หรือเป็นข่าวดังๆ
แต่ในทางกลับกัน บริษัทที่ให้ความสำคัญกับงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากผู้บริหารมีทัศนคติและความตั้งใจจริง ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และมีบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความสามารถในงานด้านนี้ มีการกำหนดมาตรฐาน และออกแบบวางระบบด้านความปลอดภัยที่ดี ผลที่ตามมาจะไม่ใช่แค่ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า สร้างโอกาสการขยายธุรกิจและเติบโตสร้างรายได้ให้กับองค์กรอีกมาก
2. คุณภาพงาน (Quality)
งานก่อสร้าง นอกจากมีความปลอดภัยแล้ว คุณภาพของงานจะมีความสำคัญเป็นลำดับที่ 2 เพราะหากไม่ใส่ใจในคุณภาพตั้งแต่เริ่มงาน ช่างขาดทักษะ ไม่มีฝีมือ ไม่ทำตามแบบ ขาดการตรวจสอบและควบคุมด้านคุณภาพ ก็ยากที่จะส่งงานให้ผ่านในครั้งแรก และถึงแม้จะส่งงานผ่านก็ต้องส่งคนเข้ามาซ่อม มาแก้ไขงานในช่วงของการรับประกันไม่จบไม่สิ้น (งานก่อสร้างส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขการรับประกันไว้ในระยะเวลา 1 ปี) ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซ่อม การทุบรื้อทิ้ง แก้ไขงานที่ไม่จบไม่สิ้น อาจจะสร้างความเสียหายทั้งชื่อเสียง และผลกำไรที่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะงานที่ต้องทุบรื้อทิ้งทำใหม่ หรือไม่ตรงตามแบบ อาจส่งผลให้ผู้รับเหมาบางรายขาดทุนย่อยยับไปเลยก็มีนะครับ
3. กำหนดเวลา (Time)
เวลา ในงานก่อสร้างมีค่าแค่ไหน ผู้รับเหมาที่เคยเร่งงาน เพิ่มคน เพิ่ม OT (ทำงานนอกเวลา) 7 วัน 24 ชั่วโมง จะเข้าใจเป็นอย่างดีกับความสำคัญของเวลา งานก่อสร้างที่มีการเซ็นสัญญาจะมีเงื่อนไขกำหนดวันส่งมอบงานระบุวันที่ไว้ชัดเจน และหากผู้รับเหมาฯไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด หากการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ถ้าหากความล่าช้าไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ว่าจ้าง หรือเป็นเหตุสุดวิสัย แน่นอนว่าผู้รับผิดชอบคือผู้รับเหมาฯเต็มๆครับ การเพิ่มคนงาน เพิ่ม OT ก็นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกมากเช่นกัน แต่ถ้าเพิ่มคนเพิ่มเวลา เพิ่มเครื่องจักร จนไม่รู้จะเพิ่มอะไรแล้ว งานก็ยังไม่เสร็จ ยังส่งงานไม่ได้ตามกำหนด ที่นี้ล่ะครับ ทางฝั่งผู้ว่าจ้างจะใช้สิทธิ์ตามที่ระบุในสัญญา เพิ่มค่าปรับเป็นรายวัน!! ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ และในทางกฏหมายก็อนุญาตให้กระทำได้เช่นกัน หากแต่มีกำหนดไว้ว่าให้หักค่าปรับรายวันได้ 0.1% แต่ไม่เกิน 10% ของมูลค่างานที่ระบุในสัญญา
4. งบประมาณ (Budget)
สิ่งสุดท้ายที่มีความสำคัญ และจะไม่สนใจก็ไม่ได้ นั่นก็คืองบประมาณที่ใช้ในงานก่อสร้าง สำหรับข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการ์ณ และความรอบคอบของผู้รับเหมา ทั้งในการประเมินราคา การประมูล การให้ส่วนลด การคิดงานลด/งานเพิ่ม และต้องคุมการใช้งบ การเบิก การจ่ายในแต่ละงวดให้ดี หากไม่ใส่ใจ ประเมินผิด วางแผนพลาด ก็นำมาซึ่งความเสียหายมหาศาลเช่นกัน จากที่ในตอนแรกอยากได้งานนั้นๆเพราะมองแค่มูลค่างาน หากประเมินราคาพลาด แล้ววางแผนการรับ การใช้จ่ายเงินผิด จบงานอาจเหนื่อยฟรี หรือไม่ก็ขาดทุน แต่ถ้าผิดพลาดมากๆก็เป็นหนี้เป็นสิน หรือต้องปิดบริษัทกันเลยก็มีตัวอย่างให้เห็นอีกมากเช่นกัน
ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นหัวใจหลักของงานก่อสร้างจริงๆนะครับ และเป็นตัวกำหนดผลกำไร การเจริญเติบโตขององค์กร หรือล้มละลายปิดบริษัทหากไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญ รวมถึงการให้ลำดับความสำคัญผิดก็เช่นกัน ถ้าบริษัทรับเหมาฯไหนให้ความสำคัญกับเวลามาก่อนความปลอดภัย รีบเร่งงานให้เสร็จ ทำงานลัดขั้นตอน ให้ทำงานต่อทั้งๆที่มีความเสี่ยง ก็จะนำมาซึ่งอุบัติเหตุ และความสูญเสียที่ตามมา ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และชื่อเสียง
เชื่อผมเถอะครับ ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเองอีกแล้ว ผมเอาประสบการ์ณของหลายๆ บริษัทมาให้คุณเรียนรู้ในบทความนี้แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่คุณจะเอาไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของคุณแล้วครับ จะเลือกเป็นผู้ชนะ และประสบความสำเร็จ หรือผู้แพ้ต้องสูญเสียก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองแล้วล่ะครับ