การเกิดพิษจากสารเคมี......รู้ไว้ไม่เสียหลาย
เผยแพร่เมื่อ: 30/7/2563....,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การเกิดพิษจากสารเคมี......รู้ไว้ไม่เสียหลาย
กรณีศึกษา เคยพบผู้ประกอบอาชีพในโรงพิมพ์สี (Color printing factory) เกิดพิษสารคาร์บอนเททระคลอไรด์และถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล พบว่า จำนวน 3 ราย มีความผิดปกติด้วยอาการตับอักเสบเฉียบพลัน (Acute hepatitis) อีกจำนวน 1 รายมีอาการไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure) และปอดบวม (Pulmonary edema) ตามลำดับ
ในเย็นวันหนึ่ง สายตากำลังเพลิดเพลินกับความสวยงามของวิวทิวทัศน์ของชายหาดบางแสนได้ยินเสียงเพลงลอยมา “งึกงึกงักงักมันเป็นงึกงึกงักงัก มันเป็นกะอึ๊กกะอั๊กมันเป็นอยากได้จักกั๊ก มันเป็นบ่คึกบ่คัก.จั่งซี้มันต้องถอนจั่งซี้มันต้องถอน” ทำให้นึกถึงอาการของคนเมาสุรา “ใบหน้าแดง แล้วเดินถอยหน้า ถอยหลัง อาเจียน” ซึ่งอาการดังกล่าว เกิดจากการออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปจนเกิดการแปลงรูปร่างกลายเป็นสารอะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ก่อนที่เป็นสารอะซิเตต (Acetate) ซึ่งสารAcetaldehyde มีความเป็นพิษต่อร่างกาย อาการแบบนี้บ่งบอกถึงความเป็นพิษภายหลังการดื่มสุราไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม หากมีการดื่มสุราต่อเนื่องระยะเวลายาวนานอาจจะเกิดพิษแบบเรื้อรังจนเกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis)และมะเร็งตับ (Hepatic cancer)ได้
ลักษณะการเกิดพิษสารเคมีจากการทำงานเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการดื่มสุรา แต่การออกฤทธิ์อาจแตกต่างกันชนิดสารเคมีและปัจจัยอื่นๆยกตัวอย่างเช่นสารคาร์บอนเททระคลอไรด์ (Carbon tetrachloride) หากผู้ประกอบอาชีพรับสัมผัสสารนี้เข้าร่างกายในระดับมากพออาจจะเกิดพิษต่อร่างกายได้เนื่องจากสารจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยเอนไซม์ภายในตับจนกลายเป็นอนุมูลอิสระ (Free radical) ทำปฏิกิริยาในร่างกายจนกลายเป็นสารฟอสจีน และคลอโรฟอร์มจนเกิดพิษต่อร่างกายตามมาได้ที่สำคัญปริมาณสารส่วนน้อยที่ถูกกำจัดอออกจากร่างกายดังนั้นสารที่ตกค้างจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายแบบเฉียบพลันและเรื้อรังได้วันนี้มีโอกาสอันดีงามที่จะมาพูดคุยกันถึงพิษจากสารเคมีจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง (Animal study) และการศึกษาในมนุษย์ (Human study) โดยมีรายละเอียดดังนี้
การศึกษาพิษสารเคมีในสัตว์ทดลอง ประกอบด้วย
1) การศึกษาแบบเฉียบพลัน(Acute studies) เป็นการศึกษาสารเคมีขนาดสูงๆในเวลาสั้นๆ แล้วสังเกตการตายของสัตว์ทดลอง ผลจากการทดสองส่วนหนึ่งทำให้เราทราบค่า Lethal dose50 (LD50) หรือ ค่าขนาดสารเคมีที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง เช่นสาร Carbon tetrachloride มีค่าLD50 เท่ากับ 2,350 mg/kg (หนูแรท)ซึ่งค่าLD50 มีความสำคัญกับงานอาชีวอนามัยมากมักใช้เป็นตัวชี้วัดพิษของสารเคมีได้ โดยค่ายิ่งน้อยยิ่งมีพิษต่องร่างกายมากและ
2) การศึกษาแบบเรื้อรัง (Chronic studies) เป็นการศึกษาความเป็นพิษของสารเคมีขนาดต่ำ (Low dose) เป็นเวลานาน เพื่อศึกษาผลกระทบของสารเคมีต่อการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะภายในร่างกายเช่น ตับ ไต และการเกิดมะเร็ง ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาในหนูทดลองที่ได้สารคาร์บอนเททระคลอไรด์ทางปากพบว่า สารนี้ทำให้ระดับ Glutathione peroxidase activity ในไตลดลง มีการแตกของดีเอ็นเอ และเกิดมะเร็งตับได้อย่างไรก็ตามผลการศึกษาในสัตว์ทดลองอาจจะมีความไม่แน่นอน (Uncertainties) หากนำผลการศึกษามาใช้คาดการณ์ความเป็นพิษในมนุษย์
การศึกษาการเกิดพิษสารเคมีในมนุษย์ การเกิดพิษจากสารเคมีมีหลายลักษณะ หากจำแนกการเกิดพิษตามเวลาเกิดพิษ ประกอบด้วย พิษแบบเฉียบพลัน (Acute toxicity) และแบบเรื้อรัง (Chronic toxicity) โดยพิษแบบเฉียบพลัน มักเกิดจากการรับสัมผัสสารเคมีช่วงเวลาสั้นๆ เช่น กรณีสารคาร์บอนเททระคลอไรด์รั่วไหลจะมีผลกระทบต่อสมอง ระบบประสาทจนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน อาการอาจหายไปภายหลังหยุดรับสัมผัส 1-2 วัน อาการจะมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นสารเคมีที่ได้รับ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หากรับสัมผัสสารที่มีความเข้มข้น 45 – 97 ส่วนในล้านส่วนส่วนพิษแบบเรื้อรัง เป็นผลกระทบจากการรับสัมผัสสารคาร์บอนเททระคลอไรด์ขนาดต่ำในเวลานานเคยมีรายงานการเกิดมะเร็งตับในผู้ประกอบอาชีพ โดยพบความสัมพันธ์ของใช้สารคาร์บอนเททระคลอไรด์กับอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว
การพูดถึงพิษของสารเคมีตามลักษณะอื่น ๆ อาจจะจำแนกพิษของสารเคมีตามตามประเภทของสารเคมีและตามอวัยวะเป้าหมายก็ได้โดยการจำแนกตามตามประเภทของสารเคมีเช่น อนุภาค สารตัวทำละลาย ก๊าซ โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง โดยสารคาร์บอนเททระคลอไรด์อยู่ในกลุ่มสารตัวทำละลาย ส่วนการจำแนกตามอวัยวะเป้าหมาย เช่น พิษต่อระบบทางเดินหายใจ ความเป็นพิษที่ตับ ความเป็นพิษที่ไต ความเป็นพิษที่ระบบประสาท ความเป็นพิษที่เม็ดเลือด ความเป็นพิษต่อผิวหนัง ซึ่งอวัยวะของสารคาร์บอนเททระคลอไรด์มีหลากหลาย เป็นต้น
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพมีความจำเป็นจะต้องทราบถึงความเป็นพิษจากสารเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น พิษจากสุราและพิษสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างถ่องแท้ สามารถอธิบายและให้คำแนะนำผู้ประกอบอาชีพถึงพิษจากสารเคมีและแนวทางในการป้องกันอันตรายจากสารเคมีต่อไปได้