Ergonomics หลักที่ควรคำนึงถึง เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
เผยแพร่เมื่อ: 08/07/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,
Meet the Academic: Ergonomics Make It Simple Series...,
"Ergonomics หลักที่ควรคำนึงถึงเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน"
เบื้องต้นควรทำความเข้าใจต่อหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) สำหรับสถานประกอบการที่ใช้แรงหรือการออกแรงในการทำงานเป็นหลัก ซึ่งการนำ Ergonomics ไปประยุกต์ใช้จะสร้างความคุ้มค่าสำหรับ การดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถถนอมสุขภาพจากการใช้แรงหรือการออกแรงของผู้ปฏิบัติงานได้ รวมถึงเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
ข้อดีของการปรับใช้หลัก Ergonomics กับผู้ปฏิบัติงาน
1. ลดปัญหาหรืออาการบาดเจ็บเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อยึดหรือกล้ามเนื้ออักเสบ
2. ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บ รวมถึงค่าชดเชยต่างๆ
3. ลดภาวะการขาดงานของผู้ปฏิบัติงานและการลาออก
4. พัฒนาภาพรวมด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
5. เพิ่มกำลังใจและศักยภาพผลิตผลของผู้ปฏิบัติงาน
6. ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้สะดวกยิ่งขึ้น
ความสำคัญของการปรับใช้ Ergonomics เข้ากับการปฏิบัติงาน
การใช้แรงหรือการออกแรงในการทำงานในสถานประกอบการนั้นล้วนมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ท่าทางการทำงานที่ผิดหลักธรรมชาติ หรือท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาการบาดเจ็บเหล่านี้จะเริ่มจากจุดที่เล็กน้อยมาก อาจจะเป็นแค่เนื้อเยื่อเล็กน้อยที่บาดเจ็บ แต่จะค่อยๆ สะสม ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นปีเพื่อพัฒนาอาการ โดยในระยะเบื้องต้นมักไม่แสดงอาการใดๆ จึงทำให้ไม่ได้ตรวจรับการรักษาตั้งแต่เบื้องต้น และบางครั้งการรักษาอาจเริ่มมีผล เมื่ออาการเกิดแล้วเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อาการแต่ละอาการนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นสามารถเป็นได้ทั้งความเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหว การออกแรง อาการชา ที่ปลายประสาท กล้ามเนื้อขาหรือแขน สามารถขยับร่างกายได้น้อยลง ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ เป็นเหตุให้ศักยภาพในการปฏิบัติงานน้อยลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน การสูญเสียบุคลากรในการดำเนินธุรกิจ สร้างปัญหาด้านการเงินให้กับครอบครัวของผู้ที่ประสบปัญหาเอง ค่าใช้จ่าย ด้านการรักษา ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียหายซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำงานที่ลดลง การใช้เวลาในการผลิตที่มากขึ้น คุณภาพสินค้าที่ตกต่ำลง สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ย่ำแย่ สร้างความเสียหายทั้งตัวบุคคล และภาพรวมของธุรกิจได้
การปรับใช้หลัก Ergonomics
การนำหลัก Ergonomics มาปรับใช้นั้นจะต้องคำนึงถึงประเด็นหลักสำหรับการลดภาระและความเสี่ยงจากงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ 3 ประเด็น คือ การควบคุมด้านวิศวกรรม (Engineering Controls) การควบคุมด้านการบริหารจัดการ (Administration Controls) และการควบคุมด้านอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE)
Engineering Controls ถือเป็นหัวใจหลัก ที่ควรพิจารณาดำเนินการเป็นอันดับแรก เพราะเป็นส่วนที่ประสบความสำเร็จและมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หลายครั้งพบว่า ตัวผู้ปฏิบัติงานเองเป็นคนปรับแต่งให้เกิดรูปแบบการทำงานที่สอดรับกับหลักการยศาสตร์ขึ้นมา เช่น การใช้เครื่องมือทุ่นแรงแทนการออกแรง การออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมกับรูปแบบงาน การออกแบบหรือปรับแต่งพื้นที่การทำงานให้เข้ากับตัวเอง เช่น การปรับตำแหน่งความสูงเก้าอี้ปฏิบัติงานให้เหมาะสม การหาที่พักเท้ามาใช้ วัสดุปูพื้นสำหรับกันลื่น หรือการใช้รถโฟล์คลิฟท์ยกของที่มีน้ำหนักมากนั้น ถือเป็นการปรับปรุงการทำงานเช่นกัน
ภาพที่ 1 ภาพที่ 2 ภาพที่ 3
Administrative Controls เป็นการเปลี่ยนการทำงานเพื่อฝึกฝนพื้นฐานงานต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ อาจนำมาใช้งานส่วนบุคคลหรือร่วมใช้งานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อยกระดับ กับ Engineering Control ได้ ดังนี้
1. การหมุนเวียนสับเปลี่ยนงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกัน ทั้งยังจำกัดเวลาการทำงาน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้เกิดความเมื่อยล้าของการทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ ซึ่งนำไปสู่อาการบาดเจ็บเฉียบพลันหรือบาดเจ็บสะสมได้
2. การสับเปลี่ยนงานภายในกระบวนการผลิตหรือสายการผลิตเดียวกัน ซึ่งงานเหล่านั้น จำเป็นต้องมีผู้ร่วมทำงาน ผู้ร่วมงานต้องสลับตำแหน่งกัน ทำเพื่อปรับสมดุลของการขยับร่างกาย และเกิดความสามารถในการทำงานอย่างครบถ้วนจากการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้งาน
3. การเพิ่มงาน เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีภาระงานหนึ่งหรือสองอย่าง การเพิ่มตัวแปรงานเข้าไปมีส่วนทำให้พฤติกรรมรูปแบบการทำงานไม่คงที่ และลดโอกาสของการบาดเจ็บจากการทำงานซ้ำๆ
4. ช่วงเวลาสำหรับพักฟื้น เป็นช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อได้ลดความตึงเครียดลงจากการใช้งานหนัก ซึ่งอาจเกิดจากการทำงานแบบไม่ได้พักติดต่อกัน จึงมีความจำเป็นต้องมีช่วงเวลาให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายจากแรงกดดันและแรงเครียดที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อ
5. การฝึกฝนทบทวนพื้นฐานการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ การให้ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญของหลัก Ergonomics ในสถานที่ปฏิบัติงานจริง การฝึกฝนให้ปฏิบัติงานภายใต้ขั้นตอนและลักษณะการทำงานที่ดีร่วมกับระบบคู่หูการทำงาน (Buddy System) จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีขึ้นได้
6. การบริหารจัดการขั้นพื้นฐานที่ดี เป็นการประยุกต์รวมกันของการพัฒนาสิ่งต่างๆ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในระดับองค์กร เช่น มีการวางแผนการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น การวางแผนซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) เป็นต้น
Personal Protective Equipment : PPE เป็นการเตรียมความพร้อมของเอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุบัติเหตุไม่คาดคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ปฏิบัติงานหรือสิ่งอื่นๆ ก็ตาม รูปแบบนี้ควรจะเป็นการดำเนินงานในลำดับสุดท้าย หากไม่นับอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นต่อการป้องกันในการทำงาน เช่น รองเท้ายางสำหรับการทำงานในที่เปียกแฉะง่ายต่อการลื่นล้ม หรือลดความเสี่ยงด้านกระแสไฟฟ้า หรือถุงมือยางพร้อมปุ่มยาง เพื่อกันการหลุดลื่นของวัตถุที่ถือไว้
ภาพที่ 4
ทั้งนี้ การปรับใช้วิธีการควบคุมต่างๆ นั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการระบุสาเหตุของปัญหาและความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถแบ่งปัญหาและความเสี่ยงออกเป็น 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ปัจจัยเฉพาะ และปัจจัยด้านการบริหารจัดการงาน
1. ปัจจัยด้านกายภาพ มาจากการใช้แรงหรือการออกแรงทั่วไปในงาน การอยู่ในท่าเดิมนานๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวซ้ำๆ และการใช้ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของที่สูงเหนือหัวมากๆ ทำให้เกิดการเกร็งตึงกล้ามเนื้อ การเหยียบปั๊มลมอย่างสม่ำเสมอ การก้มลงต่ำกว่าระดับมากๆ เพื่อหยิบจับของ หรือ การดันของที่มีน้ำหนักเกินตัวมากๆ
2. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความร้อน ความเย็น ภาพหลอกตาที่เกิดจากข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ระดับแสงไฟที่พอเพียง
3. ปัจจัยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้แปรเปลี่ยนไปตาม เพศ อายุ พฤติกรรม เงื่อนไขทางด้านสุขภาพ เช่น การตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขข้อ ซึ่งจำเป็นต้องเลือกเฟ้นงานสำหรับผู้ปฎิบัติงานให้เหมาะสม
4. ปัจจัยด้านการบริหารจัดการงาน หมายถึง การออกแบบวิธีขั้นตอนการทำงานต่างๆ การบริหารจัดการทุกขั้นตอน รวมถึงตัวระบบเอง เช่น การทำงานที่ต้องอาศัยความเร็ว งานที่มีความซับซ้อน งานที่จำกัดผู้ปฎิบัติงาน ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานเหล่านี้สามารถใช้หลักการ PDCA เข้ามาช่วยสนับสนุนการสร้างเสริมระบบ Ergonomics ให้เหมาะสมได้
ดังนั้นเพื่อลดปัญหาหรืออาการบาดเจ็บเกี่ยวกับกล้ามเนื้อในผู้ปฏิบัติงาน หรือเกิดปัญหา Ergonomics อื่นๆ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ควรมีการนำหลัก Ergonomics ไปปรับใช้ในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน
ที่มา : ภาพที่ 1 https://www.oshatrain.org/courses/mods/153m2.html
ภาพที่ 2 https://blogs.cdc.gov/niosh-science-blog/2014/11/25/thanksgiving-ergo/
ภาพที่ 3 https://ftiinc.org/ergonomic-stands/
ภาพที่ 4 https://www.osha.gov/SLTC/ergonomics/controlhazards.html