Workers’ Mental Health: สุขภาพใจของคนทำงาน

เผยแพร่เมื่อ: 05/07/2563....,
เขียนโดย คุณณัฐนิชา ทองอ่วม, Health Matters for JorPor Series..., วิทยากรและที่ปรึกษาอิสระด้าน OHS

“Workers’ Mental Health: สุขภาพใจของคนทำงาน

 

     “พนักงานคนนี้ทำไมลาป่วยบ่อยมาก  แกล้งป่วยรึป่าวนี่  ปีนี้ประเมินผลให้แค่เกรด C  ก็แล้วกัน”

     “พี่คนนั้นลาออกแล้วนะ ทำงานดีมาก นิสัยก็ดี น่าเสียดายจัง แต่แกชอบลาป่วยบ่อยๆ ไม่รู้มีปัญหาอะไรที่บ้านรึป่าว”

 

          ในหลายๆองค์กร เราอาจพบคำพูดข้างต้นเหล่านี้ สำหรับผู้เขียนเองก็เคยสงสัยว่า…ทำไมคนที่นิสัยดี ทำงานดี มีมนุษยสัมพันธ์ดีจึงลาออกกัน(เกือบ)หมด  แล้วผู้อ่านเคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าสาเหตุจริงๆที่พวกเขาเหล่านั้นลาออกมาจากสาเหตุใดกันแน่ระหว่างปัญหาทางบ้านกับปัญหาในที่ทำงาน เมื่อ “ใจ” มีผลกระทบ จะแสดงออกมาทาง “พฤติกรรม” ที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ… แล้วพวกเราเหล่า จป.วิชาชีพ ที่มีเสียงเล่าลือจากหลายๆองค์กรว่ามีสถิติการเปลี่ยนงานบ่อย  เคยมีผลกระทบทางจิตใจกันบ้างไหมในการทำงาน  แล้วมีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในใจกันอย่างไร ?

          โอ้โห!!!  หากจะว่ากันด้วยเรื่องจิตวิทยาในการทำงานกว่าจะจบคงอีกหลาย EP. เป็นแน่   

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอหยิบยกทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's hierarchy of needs) ซึ่งอธิบายความต้องการในใจของคน มาสรุปตามความเข้าใจของตนเอง ดังนี้

     1. ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological needs) คนที่ทำงานทุกคนย่อมต้องการสิ่งต่างๆเหล่านี้เพื่อตอบสนองต่อร่างกายของตนเอง เช่น ไดฺ้เงินเดือนและสวัสดิการที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต, ได้รับอาหารอร่อย สะอาด ราคาไม่แพง , มีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่แจ่มใส เป็นต้น

     2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs) เช่น สภาพการทำงานที่ปลอดภัย(Safe condition) ไม่เกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน พื้นที่ที่ทำงานมีบรรยากาศปลอดโปร่ง ไม่ร้อน ไม่อึดอัด ไม่ทึบ ไม่มีฝุ่น ไม่มีควัน ไม่มีกลิ่นเหม็น , มีการงานมั่นคง ไม่โดนปลดหรือเลิกจ้าง

     3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Belongingness and love needs) เช่น ความเข้ากันเป็นทีมกับเพื่อนร่วมงาน , การให้ภาระงานที่เท่าเทียมกัน ไม่มีคำว่าลูกรักลูกชัง

     4. ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง (Esteem needs) เช่น การได้รับมอบหมายให้ทำงานที่มีคุณค่า , สามารถทำได้ด้วยตนเองอย่างอิสระไม่ถูกกดดันจากบุคคลอื่น , ได้รับการยกย่องชมเชยจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน , มีการปรับเพิ่มตำแหน่งและเงินเดือนตามความสามารถ ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์

     5. ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-actualization needs) เช่น มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ ประสบความสำเร็จและมีความสุขในการทำงาน

          จากลำดับขั้นความต้องการทั้ง 5 ข้อข้างต้น อาจสรุปได้ว่าหากคนที่ทำงานไม่ได้รับการตอบสนองตามความต้องการเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็จะเกิดตะกอนเชิงลบขึ้นในจิตใจอย่างแน่นอน  ในทางกลับกันหากได้รับการตอบสนองตามความต้องการ ก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสุขในการทำงาน  ซึ่งความพึงพอใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการแค่ลำดับขั้นที่ 1 ก็มีความสุขในชีวิตมากพอแล้ว  ในขณะที่อีกคนหนึ่งอาจต้องการจนถึงลำดับขั้นที่ 5 เลยทีเดียว 

          สำหรับตัวอย่างเคสที่ผู้เขียนเกริ่นนำไว้ช่วงต้นนั้น พี่พนักงานท่านนี้มีตำแหน่งระดับผู้จัดการแผนกหนึ่งในองค์กร ลักษณะการทำงานในแต่ละวัน 8 ชั่วโมง จะอยู่กับคอมพิวเตอร์ 70% และประชุม 30% มักต้องทำงานเลยเวลาไปจนมืดค่ำบ่อยๆ หลายๆครั้งมีการนำงานกลับไปทำต่อที่บ้าน  ทำงานลักษณะนี้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี  และภาระงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ไม่สามารถบริหารเวลาในการทำงานและเวลาสำหรับครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ปัญหาที่พบ คือ เกิดปัญหาด้านสุขภาพกาย  ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว อารมณ์หงุดหงิดง่ายกับคนที่บ้าน เมื่ออยู่ที่ทำงานมีการพูดน้อยลง  จนช่วงท้ายๆต้องลาป่วยเพื่อไปรักษาอาการทางกายดังกล่าว

          ถ้าย้อนอดีตได้ก่อนที่พี่เค้าจะลาออก เราอาจคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากความเครียด (Stress) ความล้า (Fatigue) ในการทำงานที่มากเกินไปจนส่งผลต่อจิตใจและแสดงออกมาเป็นการเจ็บป่วยทางร่างกายใช่หรือไม่  แล้วเราควรจะเข้าไปบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้ “ใจ” ของคนทำงานมีความสุขไม่เป็นทุกข์อย่างที่ผ่านมาตามที่ พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กล่าวไว้ในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ว่า ให้นายจ้างฯ ส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย แล้วเราควรจะทำอย่างไร ในฐานะที่เราเป็น  จป.วิชาชีพ ลองถามใจตนเองดู ?  

Visitors: 414,904