ครั้งแรก...เราก็เคย

เผยแพร่เมื่อ: 04/07/2563....,
เขียนโดย โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา, Mentoring & Coaching for JorPor Series,
วิทยากร/ที่ปรึกษา/โค้ช/นักเขียน, https://www.safetyandnlpbycoachonze.com

 

"ครั้งแรก...เราก็เคย"

เด็กจบใหม่...

 


 

ตอนที่เริ่มทำงานครั้งแรก หรือทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย เราต่างมีความกังวลด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ตอนนี้เราจะสามารถทำงานในหน้าที่ของ จป.วิชาชีพ ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้วก็ตาม ตอนแรกๆ เราก็กล้าๆ กลัวๆ และลองผิดลองถูกมาก่อน

 

เมื่อต้องเป็นเด็กใหม่ จบมาใหม่ๆ หลายคนน่าจะเคยคิดเหมือนกันว่า...เราอายุน้อยและต้องทำงานกับคนที่อายุมากกว่า ประสบการณ์มากกว่าเราจะทำงานกับเขาเหล่านั้นอย่างไร เรา (จป.วิชาชีพ) รู้สึกกังวลแม้เราจะมีความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแต่ในการทำงานประสบการณ์ที่เรามียังน้อย เราจะทำงานที่นี่ได้ไหม และจะต้องทำตัวอย่างไร

 

ในเหตุการณ์นี้ หากเราคิดลบและพูดกับตัวเอง ในทำนองนี้ เช่น เราไม่ดีพอ เราทำไม่ได้ เราไม่พร้อม เราโง่ เราไม่เก่ง เป็นต้น เราก็จะมีพฤติกรรมที่แสดงออกในทางภาษากายที่ห่อเหี่ยว จิตใจท้อแท้ หมดกำลังใจ ดังนั้น เราจึงควรรีบเปลี่ยนความคิดลบที่เกิดขึ้น ให้เป็นความคิดบวก (เมื่อเปลี่ยนความคิด ก็ย่อมมีผลต่อพฤติกรรม) ในเหตุการณ์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เรา (จป.วิชาชีพ) จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ (คน,การทำงาน,องค์กร ฯลฯ) เราจะได้นำความรู้ ความสามารถที่เรามีมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กร เพื่อสร้างความปลอดภัยในการทำงานเราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและเต็มกำลังความสามารถ เมื่อคิดด้วยความคิดบวก เราก็จะมีพฤติกรรมการแสดงออกในทางภาษากายที่เปิดเป็นธรรมชาติ จิตใจสดใส มีกำลังใจในการทำงาน

 

แผนภาพ: กว่าจะแสดงออกเป็นพฤติกรรม

จากหนังสือ จิต(ใต้)สำนึกความปลอดภัย SAFETY subconscious MIND

 

คำถามที่ดี ช่วยนำไปสู่คำตอบที่ดี เราสามารถใช้คำถามเบื้องต้นเหล่านี้กับตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานกับบุคคลต่างๆในองค์กร

?? เรามีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องใด

?? เรามีจุดแข็งอะไร

?? เราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง

?? เราจะศึกษาข้อมูลขององค์กรได้อย่างไร

?? ใครบ้างที่เราสามารถขอคำแนะนำในการทำงานได้

?? อะไร สิ่งใดที่เราจะเริ่มทำได้บ้าง

?? เราสามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านความปลอดภัยฯ

นอกจากการที่เรามีความคิดเป็นบวกเพื่อการทำงานแล้ว สภาพแวดล้อมในที่งานก็มีส่วนในการสนับสนุนให้เด็กจบใหม่อย่างเราอยากทำงานกับองค์กรต่อไป เช่น

  • สภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด/แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองคิด
  • สภาพแวดล้อมที่มีการฟังกัน
  • สภาพแวดล้อมที่มีการชื่นชมกัน
  • สภาพแวดล้อมที่มีการให้กำลังใจกันและกัน
  • สภาพแวดล้อมที่มีการเรียนรู้จากความผิดพลาด (ลองทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ ไม่ใช่ความผิดพลาด แต่จะค้าหาสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อไปใช้ในครั้งต่อไป)
  • สภาพแวดล้อมที่สามารถเตือนกัน แนะนำกันได้
  • สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานที่แสดงออกตั้งแต่ความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัย จากนายจ้างไปจนถึงการปฏิบัติร่วมกันในเรื่องของความปลอดภัยจากสมาชิกทุกคนในองค์กร ฯลฯ

ในท้ายสุด การรู้สึกถึงคุณค่าและเชื่อมั่นในศักยภาพที่เรามีผ่านการได้รับโอกาสต่างๆจากองค์กร จากหัวหน้า หรือจากการมอบหมายงานต่างๆเรา (จป.วิชาชีพ) สามารถทำงานต่างๆ เหล่านั้นได้ดี เราสะสมสิ่งเล็กๆ ที่สำเร็จ (เป้าหมายเล็กๆ) ไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้นแบบค่อยๆ เพิ่มระดับความยาก ก็จะช่วยทำให้น้องใหม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง เห็นคุณค่าในตนเองรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำมีประโยชน์ต่อทั้งตนเองและทุกคนรอบข้าง รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ และเมื่อ จป. น้องใหม่ มีไฟในการทำงาน เห็นภาพความสำเร็จ เขาก็จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในงานเข้าใจงาน มีการเรียนรู้ได้เองว่าจะต้องทำอะไรหรือสิ่งใดเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยในการทำงานต่างๆอีกบ้าง

“จป.น้องใหม่จะอยู่ทำเรื่องความปลอดภัยให้กับองค์กรต่อไป ด้วยการตั้งความคิดที่ใช่ มีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่เอื้อเฟื้อจุนเจืองานและใจ พร้อมทั้งโอกาสดีๆต่างๆที่องค์กรหยิบยื่นมอบให้ จป.น้องใหม่จึงได้รับการเติมไฟ เรียนรู้ เติบโตต่อไปเพื่อฉายแสงแห่งคุณค่าจากตัวตน”

หากตอนนี้ เรามีเรื่องที่กำลังรบกวนจิตใจทำให้กังวลใจ วิตกกังวล และรู้สึกไม่ดีลองสำรวจตนเองและเลือกปัญหา/เรื่องมา 1 เรื่อง หยิบกระดาษ 1 แผ่นและเครื่องเขียนเพื่อเตรียมเขียนสิ่งต่างๆ ออกมาให้หมดบนกระดาษด้วย5ขั้นคำถามดังนี้

ขั้นที่ 1. เขียนออกมาว่า อะไรคือปัญหา (ควรเขียนระบุให้เฉพาะเจาะจง ชัดเจน และละเอียด)

ขั้นที่ 2. เขียนออกมาว่าจะมีผลดีอะไรบ้างที่จะได้รับเมื่อมีการจัดการกับปัญหา ในขั้นที่ 1

ขั้นที่ 3. เขียนออกมาว่า อะไรเป็นผลประโยชน์ซ่อนเร้น (เช่น ไม่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่, ไม่ต้องเผชิญกับสิ่งที่กลัว, ไม่ต้องถูก

ตำหนิถ้าทำได้ไม่ดี, ไม่ต้องออกจาก Comfort zone เป็นต้น) หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข

ขั้นที่ 4. เสร็จแล้วลองคิดดูว่า ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขต่อไปแบบนี้อีก ผลที่ตามมา/ผลเสียจะมีอะไรบ้าง

ขั้นที่ 5. ท้ายสุดหากคุณสามารถจัดการกับปัญหานั้นได้ คุณรู้สึกอย่างไร และจะไปเริ่มทำอะไรบ้างเพื่อจัดการกับปัญหานี้

 

ด้วยรักและห่วงใย

จากใจ..โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา

วิทยากรความปลอดภัยในการทำงาน (หลักสูตรจิตสำนึกความปลอดภัย,หลักสูตรพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน และหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานอื่นๆ)

ที่ปรึกษา (ด้านความปลอดภัยฯ, ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาเชิงกลยุทธ์)

โค้ชด้านจิตวิทยาการสื่อประสาท NLP Neuro Linguistic Programming Coach หรือ NLP Coach (หลักสูตรการโค้ช,รับปรึกษาปัญหาเพื่อทะลายทุกข้อจำกัดที่ฉุดรั้งคุณ)

นักเขียน หนังสือเรื่อง จิต(ใต้)สำนึกความปลอดภัย

 

 

 

Visitors: 419,927