ขนาดและการตอบสนองของร่างกายต่อสารเคมี

ผยแพร่เมื่อ: 30/6/2563....,
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร. อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก
ภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 

Meet the Academic: Toxicology for jorpor series...,

 

ขนาดและการตอบสนองของร่างกายต่อสารเคมี

กรณีศึกษาผู้ประกอบอาชีพอายุ 25  ปีมีสุขภาพดีได้รับการตรวจสุขภาพจากแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เพื่อใช้ผลการตรวจฯ เป็นหลักฐานในการทำประกันชีวิต พบความผิดปกติ คือ “ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ แต่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย”แพทย์ได้แจ้งความผิดปกติดังกล่าวแก่ผู้ประกอบอาชีพและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.)ด้วยความปรารถนาดี จป.จึงได้แนะนำผู้ประกอบอาชีพให้หลีกเลี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีทุกชนิด  ซึ่งคำแนะนำดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่จะให้เขาหลีกเลี่ยงสารเคมีทุกชนิดเพราะเขาคงจะต้องลาออกจากงาน  ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ในการเลี้ยงดูครอบครัวได้

 

การรับสัมผัสสารเคมีทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายได้ ลักษณะผลกระทบดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง”ขนาดและการตอบสนองของร่างกายต่อสารเคมี” ตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้ทุกท่านเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างง่ายดายคือ “ผลของการรับประทานทุเรียนต่อร่างกาย” หลายท่านคงชอบรับประทานทุเรียนกันผลไม้ชนิดนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อยู่ในซีกใดของโลก ก็แทบจะหาทุเรียนไทยรับประทานได้ไม่ยากนักผู้เขียนเคยคุยกับอาจารย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่า “หากพูดถึงทุเรียนสยาม (Siam durian) จะนึกถึงคุณภาพทุเรียนที่สูงมาก เพราะมีความหวานอร่อยจนแทบจะวางไม่ลง” อย่างไรก็ตาม ทุกท่านทราบกันดีว่า การรับประทานทุเรียนจำนวนมาก จะทำให้มีอาการร้อนภายในร่างกายได้ (Increase one's body temperature) ในแง่การรับสัมผัสสารเคมีเช่นกัน พวกเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมการรับสัมผัสสารเคมีความเข้มสูงระดับหนึ่ง อาจจะเกิดผลกระทบต่อร่างกายได้

หากมีใครสักคนสอบถามท่านว่า “ขนาดและการตอบสนอง(Dose response relationship) ของร่างกายต่อสารเคมีคืออะไร”ท่านสามารถอธิบายถึง แนวคิดแบบ“ถึงจุดวิกฤตของสารเคมีต่อร่างกาย”นั่นหมายถึง ขนาดของสารเคมีระดับต่ำ (Low dose)อาจจะไม่มีอาการผิดปกติใดใด แต่หากรับสัมผัสขนาดสูง (High dose) อาจเกิดพิษต่อร่างกายจนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ ขอยกอีกสักตัวอย่าง คือ หากมีอาการปวดศีรษะเรารับประทานยาแก้ปวด½ เม็ด ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ หากรับประทานยา จำนวน 1 เม็ด จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ แต่เมื่อรับประทานยา จำนวน 30 เม็ด อาจจะทำให้เกิดพิษจนเสียชีวิตได้ เป็นต้นการรับสัมผัสสารเคมีก็เช่นเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดการสะสมพิษในร่างกายได้ แต่เมื่อหยุดรับสัมผัสสารเคมี อาการพิษจะทุเลาลง หรือหายขาดได้ อย่างไรก็ตาม สารเคมีบางชนิดถึงแม้หยุดรับสัมผัสเขาแล้ว แต่ยังทำให้ร่างกายมีอาการผิดปกติ จนร่างกายไม่สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ เนื่องจากอวัยวะบางส่วนถูกทำลายไปแล้ว

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นผู้มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับ“ขนาดและการตอบสนองของร่างกายต่อสารเคมี”หากเรารู้จักสารเคมีเขาดีพอ จะทำให้เราทราบทั้งประโยชน์และโทษของเขาสามารถอยู่ร่วมกับเขาได้อย่างสบายใจ เหมือนกับการรับประทานทุเรียน ต้องรับประทานทุเรียนในระดับที่เหมาะสม จะไม่เกิดภาวะร้อนในร่างกายการรับประทานยาแก้ปวดศีรษะเพียงใดจึงจะหมาะสม เป้นต้นกล่าวโดยสรุปการเข้าใจเรื่อง “ขนาดและการตอบสนองของร่างกายต่อสารเคมี”จะทำให้เราสามารถให้คำแนะนำผู้ประกอบอาชีพอย่างเข้าใจ แล้วส่งผลต่อการลงมือปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากสารเคมีอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

อนามัย ธีรวิโรจน์ เทศกะทึก (2554). พิษสารเคมีรู้ทันป้องกันได้. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ.

         

 

 

 

 

 

Visitors: 412,650