EP.1 : Ergonomics มีความจำเป็นไหม?
เผยแพร่เมื่อ: 08/06/2563....,
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิภาพร คำหลอม
หลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,
Meet the Academic: Ergonomics Make It Simple Series...,
"Ergonomics" มีความจำเป็นไหม?...
Ergonomics หรือ การยศาสตร์ คือ คำที่คนในวงการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเคยได้ยินได้ฟังกันมาก่อนแน่นอน และสำหรับบุคคลทั่วไปอาจจะเป็นคำที่หลายๆ คนไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในชีวิตนี้ แต่มันวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเราตลอดเวลา โดยเฉพาะกับคนวัยทำงานอย่างเราๆ เพราะ Ergonomics คือ การทำงานให้สอดคล้องกับสรีระร่างกายของมนุษย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “การออกแบบรูปแบบการทำงานที่ง่ายขึ้น สะดวกสบาย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย” .... นั่นเอง
ที่มาของคำว่า Ergonomics
“Ergonomics อ่านว่า “เออร์ – โก – โน – มิกส์” ไม่ใช่ “ECONOMICS” ส่วน การยศาสตร์ อ่านว่า “กา - ระ- ยะ – ศาสตร์” ไม่ใช่ “กา – ยะ – ศาสตร์”
Ergonomics (การยศาสตร์) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก คือ "Ergon" ที่หมายถึงงาน (Work) และอีกคำหนึ่ง "Nomos" ที่แปลว่า กฎตามธรรมชาติ (Natural Laws) เมื่อนำมารวมกันจำกลายเป็นคำว่า "Ergonomics" หรือ "Laws of Work" ที่อาจแปลได้ว่ากฎของงาน ซึ่งเป็นศาสตร์ หรือวิชาการที่เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน หรือเป็นการปรับปรุงสภาพการทำงานอย่างเป็นระบบ
สรุปคำจำกัดความของ Ergonomics คือ “ศาสตร์ในการจัดสภาพงานให้เหมาะกับคนทำงาน” หรือ “การศึกษาคนในสิ่งแวดล้อมการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงาน”
ความสำคัญของ Ergonomics
ในการปฏิบัติงานที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างคนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน กับงานที่ต้องปฏิบัติ ตลอดจนขีดจำกัดของผู้ปฏิบัติงาน และความสำคัญของสภาวะและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่จะต้องพิจารณาสำหรับการจัดและปรับปรุงสภาพงานนั้น
ดังนั้นหากนำ Ergonomics ไปประยุกต์ใช้ในสถานที่ทำงาน จะช่วยให้
- ลดความล้าและการบาดเจ็บจากงาน | - เพิ่มความสะดวกสบายในการทำงาน |
- ลดการเจ็บป่วยเนื่องจากงาน | - เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน |
- ลดการลางานหรือขาดงาน | - เพิ่มคุณภาพของงาน |
- ลดการเปลี่ยนงาน | - เพิ่มขวัญและกำลังใจในการทำงาน |
ซึ่ง Ergonomics จะช่วยลดปัญหาได้ดังต่อไปนี้
- ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตกต่ำ
- อัตราเกิดการผิดพลาดหรืออุบัติเหตุสูงหรือเพิ่มขึ้น
- อัตราการหยุดงานสูงหรือเพิ่มขึ้น
- อัตราการลาออกของผู้ปฏิบัติงานสูงหรือเพิ่มขึ้น
- การสูญเสียด้านเวลามีมากหรือเพิ่มขึ้น
- ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล และวัสดุอุปกรณ์สูงหรือเพิ่มขึ้น
- ผู้ปฏิบัติงานมีความเครียด ความเมื่อยล้า ที่อาจนำไปสู่การเป็นโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน
สาเหตุที่นำไปสู่อาการบาดเจ็บจากการทำงาน
- สภาพการทำงานไม่เหมาะสม เช่น แสงสว่าง เสียงดัง อุณหภูมิ ความสั่นสะเทือน ความเร็วของเครื่องจักร และงานซ้ำซากจำเจ
- อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับขนาดสัดส่วนของร่างกายผู้ปฏิบัติงาน
- ลักษณะงานที่ทำด้วยท่าทางอิริยาบทที่ฝืนธรรมชาติ ได้แก่ งานที่ต้องมีการบิดโค้งงอของข้อมือ งอแขน การงอศอก การจับ โดยเฉพาะนิ้วมือซ้ำๆ งานที่ต้องก้มศีรษะ ก้มหลัง บิดเอี้ยวตัว เอื้อมหรือยกสิ่งของขึ้นสุดแขน
ปัญหา Ergonomics พบมากในสถานประกอบการ?
จากการรวบรวมสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่า ปัญหา Ergonomics นี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการมี 4 ประการใหญ่ คือ
- การประสบอันตรายจากการยกหรือเคลื่อนย้ายของหนัก
- การประสบอันตรายจากท่าทางการทำงาน
- อาการเจ็บป่วยจากการเคลื่อนย้ายของหนัก
- อาการเจ็บป่วยจากท่าทางการทำงาน
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ควรมีองค์ความรู้เกี่ยวกับ Ergonomics มีความเข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการได้ สามารถให้คำแนะนำ ดูแลสุขภาพผู้ปฏิบัติงานไม่ให้เกิดปัญหา Ergonomics ต่อไป