จป. Hybrid กลมกล่อมในการคิด & การจัดการเรื่องงานและคน
เผยแพร่เมื่อ: 04/06/2563....,
เขียนโดย โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา, Mentoring & Coaching for JorPor Series,
วิทยากร/ที่ปรึกษา/โค้ช/นักเขียน, https://www.safetyandnlpbycoachonze.com
"จป. Hybrid"
กลมกล่อมในการคิด & การจัดการเรื่องงานและคน
การทำงานในสายงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เรา (จป.) เป็นบุคคลที่ต้องดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับทุกคนในองค์กร/สถานประกอบการ/หน่วยงาน เราต้องเกี่ยวเนื่องกับผู้คน ต้องปฏิสัมพันธ์กับทุกคน ทุกส่วนงาน เราต้องการให้ทุกคนปลอดจากเหตุอันทำให้เกิดการประสบอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย อันเนื่องจากการทำงานและต้องทำให้องค์กรมีการปฏิบัติตามข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่องค์กร/สถานประกอบการ/หน่วยงานเกี่ยวข้องโดยดำเนินการในสิ่งต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายนั้น ๆ ได้กำหนดไว้
จป. จึงจำเป็นต้องใช้ทั้ง 2 ทักษะ นั่นคือ Hard skills (เน้นงาน) and Soft skills (เน้นคน) เพื่อสร้าง/พัฒนา/ปรับปรุง ขับเคลื่อนงานเรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้กับองค์กร/สถานประกอบการ/หน่วยงาน
การเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยให้กับทุกส่วนงานในองค์กรของ จป. มีสิ่งพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงเมื่อต้องเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่น คือ (1) อะไรที่เขาต้องการความช่วยเหลือ และ (2) อะไรที่เราสามารถช่วยได้ ซึ่ง FAST Model หรือที่โค้ชรู้จักกันใน TAPS Model ได้นำพื้นฐานทั้ง 2 ข้อข้างต้น มากำหนดเป็นแกนตั้งและแกนนอนในแผนภาพ ดังนี้
จากภาพ TAPS Model แกนแนวนอน : คำนึงถึงความต้องการของผู้ที่ต้องการการช่วยเหลือ
เพื่อให้ผู้ช่วยเหลือ/สนับสนุนจำกัดขอบเขตในการช่วยเหลือ/สนับสนุนได้อย่างชัดเจน
พื้นที่ของปัญหาเดิมในอดีต (Problem)
มีความต้องการที่จะแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ หยุดผลกระทบนั้นๆหรือนำกลับมาสู่สถานการณ์ปกติ
พื้นที่ของทางออกในอนาคต (Solution)
มีความต้องการหาทางออกต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือความต้องการบางอย่างที่ดีกว่าเดิม
จากภาพ TAPS Model แกนแนวตั้ง : คำนึงถึงความสามารถของผู้ช่วยเหลือ/สนับสนุน
เพื่อประเมินวิธีการในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง
พื้นที่ที่ผู้ช่วยเหลือ/สนับสนุนเองยังไม่รู้ ไม่เข้าใจอย่างชัดเจน
มุ่งเน้นการใช้คำถาม (Ask) เพื่อสร้างความกระจ่างร่วมกัน เพื่อเพิ่มสัดส่วนของสิ่งที่รู้ให้มากเพียงพอต่อการตัดสินใจ
พื้นที่ที่ผู้ช่วยเหลือ/สนับสนุนมั่นใจและเข้าใจเรื่องราวได้อย่างชัดเจน
มุ่งการบอกและการแนะนำ (Tell) เพื่อทำตามรูปแบบความสำเร็จที่ผ่านมาของเรา
.
จากแผนภาพ TAPS Model มีคำศัพท์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากแกนแนวนอนและแกนแนวตั้ง ดังนี้
การสอน (Teaching), การฝึกอบรม (Training), การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring), การโค้ช(Coaching), การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ (Counseling), การจัดการ (Managing), การให้คำปรึกษา (Consulting)
.
สำหรับการพูดคุยกันผ่านบทความ...มารู้จักการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) และ การโค้ช(Coaching) โดยเริ่มต้น Mentoring & Coaching for JorPor Series ดังตารางด้านล่างนี้
งานด้านความปลอดภัยฯ มีพวกเรา (จป.วิชาชีพ) เป็นผู้รับผิดชอบหลักและปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น แนะนำให้พนักงานในองค์กรปฏิบัติตามข้อบังคับและคู่มือความปลอดภัยที่องค์กรจัดทำขึ้น, แนะนำ ฝึกสอน อบรมพนักงานในองค์กรเพื่อให้ปฏิบัติงานปลอดจากเหตุอันที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน, สื่อสาร ประสานงานเรื่องความปลอดภัยกับหน่วยงานต่างๆ, พูดคุย เสนอแนะเรื่องความปลอดภัยเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นต้น และมีสมาชิกทุกคนในองค์กรเป็นผู้ร่วมทำเรื่องความปลอดภัยผ่านการทำหน้าที่ของแต่ละคนเพื่อให้เรื่องความปลอดภัยเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในองค์กร
ดังนั้น การส่งเสริมให้แต่ละบุคคลร่วมมือในการทำเรื่องความปลอดภัยจากความสมัครใจของแต่ละคนเองและทำซ้ำจนเกิดความต่อเนื่องได้นั้น จป. Hybrid อย่างพวกเราต้องพูดคุย สอน แนะนำ วางระบบเรื่องความปลอดภัยผ่านบทบาทหน้าที่ จป. ที่ผสมผสานกับการเป็นพี่เลี้ยงและโค้ช (Mentor & Coach) ในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมด้วย เมื่อเราต้องการให้พนักงานรู้จักคิด ประยุกต์ใช้ หรือสร้างความมั่นใจในการทำงานเรื่องความปลอดภัยด้วยตัวของเขาเอง ควรใช้การ Coaching แต่ถ้าต้องการให้พนักงานรู้จักเทคนิคต่างๆ ด้านความปลอดภัยเพื่อไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เช่น การวิเคราะห์อันตรายเพื่อความปลอดภัย, การใช้งาน PPE อย่างถูกต้อง เป็นต้น รวมถึงการแก้ปัญหาหน้างานที่ต้องมีความปลอดภัย ก็ควรใช้การ Mentoring
(1) ให้นึกถึง 1 คนที่เข้ามาในชีวิตในการเรียน/การทำงานที่ผ่านมา เขา/เธอคนนั้นเคยให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาและบอกแนวทางที่ถูกต้องในการทำงานด้านความปลอดภัย ผ่านประสบการณ์และข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของเขา/เธอคนนั้นกับเรา แล้วมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- เขา/เธอคนนั้นคือใคร ?
- เรารู้สึกต่อเขา/เธอคนนั้นอย่างไร?
(2) ให้นึกถึง 1 คนที่เข้ามาในชีวิตในการเรียน/การทำงานที่ผ่านมา เขา/เธอคนนั้นเคยรับฟังเราอย่างตั้งใจ ใช้คำถามเพื่อให้คิดและทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเราเอง และสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังใจให้กับเราเพื่อให้ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม จนมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- เขา/เธอคนนั้นคือใคร?
- เรารู้สึกต่อเขา/เธอคนนั้นอย่างไร?
ในเส้นทางการเรียนและการทำงานเรื่องความปลอดภัย เราต่างมี Mentor และ Coach รอบกายที่เข้ามาช่วยสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราน่าจะยังคงจดจำความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีจากบุคคลเหล่านั้นได้ ดังนั้น พวกเรา (จป.) ก็สามารถส่งต่อความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของใครสักคนหรือหลายคนให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านการเป็น จป. Hybrid ที่สวมบทบาทหน้าที่ จป. โดยผสมผสานการเป็น Mentor และ Coach ในการทำเรื่องความปลอดภัยให้กับทุกคนรอบข้างได้เช่นเดียวกัน
ด้วยรักและห่วงใย
จากใจ..โค้ชออนซ์_สุชาดา อวยจินดา
- วิทยากรความปลอดภัยในการทำงาน (หลักสูตรจิตสำนึกความปลอดภัย,หลักสูตรพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน และหลักสูตรความปลอดภัยในการทำงานอื่นๆ)
- ที่ปรึกษา (ด้านความปลอดภัยฯ, ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาเชิงกลยุทธ์)
โค้ชด้านจิตวิทยาการสื่อประสาท NLP Neuro Linguistic Programming Coach หรือ NLP Coach (หลักสูตรการโค้ช,รับปรึกษาปัญหาเพื่อทะลายทุกข้อจำกัดที่ฉุดรั้งคุณ) - นักเขียน หนังสือเรื่อง จิต(ใต้)สำนึกความปลอดภัย