ทำ ISO 39001 คุ้มค่าเงินที่ลงทุนหรือไม่ ?

เผยแพร่เมื่อ: 25/05/2563....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

"...ทำ ISO 39001 คุ้มค่าเงินที่ลงทุนหรือไม่ ?..."

ทำ Safety ต้องมี Return

ชอบที่คุณ Petersen (Professional Safety Consultant) ของสหรัฐอเมริกา บอก (เขียน) ในตำรา Safety Management เล่มหนึ่งว่า “เวลาจะคุยกับเจ้านายให้รู้เรื่อง Safety ให้คุยด้วยภาษา Dollar นะ”​ เพราะเจ้านายจะเข้าใจมากกว่าที่คุณจะพูดถึงเรื่อง Accident frequency rate และ Severity rate ที่สำคัญคือโอกาสได้รับงบประมาณดำเนินการจะมีมากกว่าด้วยซ้ำไป

ไม่ทราบว่าในบ้านเรา จป.วิชาชีพมีการเก็บตัวเลขพวกนี้มากน้อยเพียงใด หากยังไม่มี ก็แนะนำว่าต้องรีบทำครับ จะมืออาชีพยิ่งขึ้น เจ้านายจะประทับใจแน่นอน

ศวปถ.มุ่งมั่นทำเรื่องความปลอดภัยทางถนนมาหลายปี และหนึ่งในโครงการที่ได้ทำไป คือให้อาจารย์จากมน.วิเคราะห์ว่าทำ ISO 39001 จะมีความคุ้มค่าทางการเงินไหม

คำตอบออกมาคือ คุ้มค่าครับ (ผมอ่านรายงานแล้ว ต้องบอกว่าเกินคุ้มด้วยซ้ำไป)

1. บริษัทที่ได้รับการรับรอง ISO 39001 และเข้าร่วมการวิจัย ไม่มีบริษัทใดที่หลังจากได้รับการรับรองแล้วมีการเสียชีวิต หรือพิการและสูญเสียอวัยวะอันเนื่องมาจาก อุบัติเหตุทางถนน (โดยการเปรียบเทียบกับอัตราการเฉลี่ยตามธรรมชาติข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม 5 ปี)

2. ในการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์

  • ผลการศึกษาพบว่าในมุมมองของสังคม
    - เมื่อวิเคราะห์ในช่วง 2 รอบการประเมิน (6 ปี) ค่า Net Present Value (NPV) มีค่าเท่ากับ 121,153 บาท ซึ่งมีค่าเป็นบวก สอดคล้องกับค่า BC Ratio ที่มีค่ามากกว่า 1 และ ค่า IRR ที่มีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดซึ่งมีค่าประมาณ 6 - 10% ทำให้สรุปได้ว่าการเข้ารับการประเมินมีความคุ้มค่ากับการลงทุน
  • ส่วนในมุมมองของบริษัทและการประกัน ซึ่งในที่นี้หมายถึงเงินที่ประกันสังคมหรือบริษัทจ่ายในกรณีที่มีการเสียชีวิต หรือ การพิการ พบว่าแม้จะให้ค่า NPV ที่น้อยกว่ามุมมองสังคม และค่า BC Ratio มีค่าเพียง 1.1 แต่ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์ความไวโดยไม่นำค่าชดเชยต่าง ๆ ที่สำนักงานประกันสังคมเป็นคนจ่าย จากการสมทบทุนของนายจ้างเข้ากองทุนเงินทดแทน ก็ยังพบว่าค่า BC Ratio มีค่ามากกว่า 1 เพียงเล็กน้อย และค่า NPV มีค่าประมาณ 50,000 บาท ทั้งนี้เมื่อคำนึงถึงความไม่แน่นอนของตัวแปรต่าง ๆ ผลการวิจัยพบว่า การลงทุนเข้ารับการประเมิน ISO 39001 ทำให้เกิดความคุ้มค่าเช่นกัน

3. ภายใต้ข้อสมมุติฐานที่ว่าการดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 39001 ทำให้สามารถลดการตาย หรือ การพิการได้ 1 คนต่อปี ในช่วงระยะเวลา 6 ปี หรือสองรอบการประเมิน จะทำให้ค่า NPV สูงถึงเกือบ 30 ล้าน บาทในมุมมองสังคม และ 12 ล้านบาทในมุมมองสถานประกอบการและการประกัน หรือแม้กระทั่ง ถ้าในช่วงเวลา 6 ปี ลดการตายหรือการพิการได้เพียง 1 คน ก็ยังเป็นความคุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นความคุ้มค่าในรูปตัวเงินเท่านั้น ถ้าพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่เป็นนามธรรมมากขึ้น ในมิติของคุณค่าของชีวิตของผู้ประสบเหตุและครอบครัว การที่สามารถป้องกันได้ 1 กรณี ไม่ว่าจะภายในกี่ปีก็ถือเป็นความคุ้มค่าที่ควรลงทุนอย่างยิ่ง

4. จากผลการวิจัยทั้งหมดทำให้สรุปได้ว่า การที่บริษัทได้รับการรับรอง ISO 39001 ทำให้เกิดความคุ้มค่าแก่การลงทุน

หากท่านใดสนใจในรายละเอียด ติดต่อศวปถ.ได้ หรืออาจตามอ่านได้ที่เว็บไซต์ของศวปถ. (ในช่วงเวลาถัดจากนี้ไปสักพักหนึ่ง)

ที่มา : รายงานความก้าวหน้า โครงการการประเมินความคุ้มค่าของสถานประกอบการในส่วนการขนส่ง ที่ดำเนินการตามระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ISO39001
Economic Evaluation of Firms’ Transportation Policy in the Association with the ISO39001 Road Safety Standard System
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุดตาน พันธุเณร
      ดร.เฉลิมภัทร พงษ์อาจารย์
      ดร.ภัคจิรา นักบรรเลง
      ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร
ได้รับทุนสนับสนุนโดย โครงการแผนงานศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย (มนป.) สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Visitors: 414,937