BBS for JorPor Series, EP.1 BBS
เผยแพร่เมื่อ: 28/05/2563....,
เขียนโดย คุณปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย, Meet the Professional : BBS for JorPor Series...,
ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย THE SAFETY COACH
BBS ไม่ได้เป็นหลักสูตรที่กฎหมายบังคับ แต่มิได้หมายความว่า “ไม่สำคัญ”
สมัยที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัย มีหลายวิชาที่ยากมาก แต่พอมาทำงานจริง ๆ แล้ว ผมเข้าใจเลยว่า วิชาที่อยู่นอกห้องเรียน ยากกว่าวิชาในห้องเรียนมาก โดยเฉพาะ “วิชามนุษย์”
เพราะวิชามนุษย์นั้น มีคำตอบที่หลากหลาย ถ้ามองในในเรื่องของความปลอดภัยนั้น คำตอบที่ได้ ก็จะมีทั้ง “คนที่ให้ความร่วมมือ และคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ”
ดังนั้น วิชามนุษย์ โดยเฉพาะจิตวิทยาในการจัดการพฤติกรรมด้านความปลอดภัย หรือ BBS จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก ที่จะต้องนำมาใช้ ในการจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ และพฤติกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
ข่าวดี
เราสามารถนำวงจรของการเกิดพฤติกรรมมาใช้ เพื่อสร้างนิสัยใหม่ๆที่ดีกว่าเดิมได้ โดยอาศัยตัวกระตุ้นเพื่อให้เกิดพฤติกรรม หรือ นิสัยใหม่ๆ
ยกตัวอย่าง
- บางคนตื่นมาตอนเช้า ได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก ก็จะกด snooze เพื่อนอนต่อ แต่สำหรับบางคนนั้น เมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก ก็จะลุกขึ้นไปปิดนาฬิกา และไปอาบน้ำทันที ........ซึ่งการกดปุ่ม snooze แล้วนอนต่อ ถือว่าเป็นนิสัยที่ไม่ดี เพราะเป็นการบ่มเพาะความขี้เกียจ และทำให้ไปทำงานสาย
ผมเชื่อว่า หลายคนอยากมีนิสัยที่ดี ไม่อยากมีนิสัยที่แย่ ดังนั้นตัวกระตุ้น ที่ทำให้กดปุ่มนอนต่อ ก็คือ การที่บนนาฬิกามีปุ่ม snooze และ มันวางอยู่ใกล้ๆศีรษะของเราเวลานอน และ เราคงจะเข้านอนดึกเกินไปทำให้ไม่อยากตื่น
วิธีแก้ปัญหา คือ เอานาฬิกาไปไว้ไกล ๆ จากศีรษะ ยิ่งถ้าต้องลุกเดินขึ้นไปปิดนาฬิกา จะยิ่งดีมาก และเข้านอนให้ไวขึ้น จะได้ไม่ตื่นสาย
แต่ถ้าถึงขนาดเดินไปกดปิดนาฬิกาแล้วกลับมานอนต่อ แบบนี้อาการน่าจะหนัก คงจะต้องวางนาฬิกาปลุกไว้ในห้องซัก 10 เครื่อง
ใน BBS จะเน้นไปที่เรื่องของการจัดการพฤติกรรมความปลอดภัย โดยใช้หลักการของจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์ ในการกำหนดพฤติกรรมความปลอดภัยของมนุษย์ รวมไปถึงเรื่องของประสาทวิทยา เกี่ยวกับสมองที่มีผลต่อพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ที่โค้ชมืออาชีพ ล้วนนำมาใช้ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของเส้นประสาทใหม่ๆอย่างแข็งแกร่งในสมอง
ผมเคยเจอช่างเชื่อมคนหนึ่ง เขาสวม PPE ครบชุด แต่อีกคน แทบจะแก้ผ้ากันทำงาน ผมเชื่ออย่างแรงกล้าเลยว่า ทั้งสองคนถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าที่แตกต่างกัน ทำให้แสดงออกในพฤติกรรมความปลอดภัยที่แตกต่างกัน
ช่างเชื่อมคนที่ 1 บอกกับผมว่า เขาเคยเข้ารับการอบรมความปลอดภัยมาจากบริษัทเก่า จป. เก็บตัวอย่างฟูมโลหะมาให้ดูว่าในแต่ละปี เราหายใจเอาฝุ่นโลหะเข้าไปประมาณ 1 ส่วน 4 ของหลอดทดลอง ซึ่งฝุ่นเหล็กที่เราหายใจเข้าไปนั้น มีสารพิษปนเปื้อนจำนวนมาก และ เพื่อนหลายคน เป็นมะเร็งปอด และ หายใจผิดปกติ ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น เพราะ ผมต้องหาเลี้ยงลูกทั้ง 2 คน และ ภรรยาอีก 1 คน ผมเกิดอุบัติเหตุไม่ได้
ส่วนช่างเฃื่อมอีกคนหนึ่งตอบว่า “ผมก็ทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย” อบรมเหรอผมก็เข้าอบรมนะ ผมเชื่อว่ามันไม่เกิดขึ้นหรอก ดังนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสวมใส PPE ก็ได้
เราจะเห็นว่าทั้งสองคน 2 ล้วน มีการอบรมเป็นตัวกระตุ้นเหมือนกัน
แต่ช่างเชื่อมคนที่ 1 นั้นมีแรงกระตุ้นที่มากกว่า เพราะเห็นหลักฐานการเจ็บป่วยและ เขาเห็นความสำคัญของชีวิตของตนเอง ที่มีคุณค่าต่อผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัว
นี่คือแรงขับที่ทำให้เขามีพลัง และมีความมุ่งมั่น ที่จะตั้งใจทำงานด้วยความปลอดภัย มิใช่การกระตุ้นจากภายนอกดั่ง เช่น กฎระเบียบ และ ข้อบังคับ หรือ ข่มขู่
“พฤติกรรมต้องเกิดจากภายใน ไม่ใช่ภายนอก”
สอนให้เขารู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องสอนให้รู้สึกด้วย โดยเฉพาะการกระตุ้นให้ “ตระหนักรู้ ให้นึกถึงคนอื่น” จะทำให้เรารู้สึกว่า “ชีวิตเรามีคุณค่า” ต้องป้องกัน จะเจ็บป่วย หรือ จะเกิดอุบัติเหตุไม่ได้
การกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เป็นหลักการหนึ่งของ BBS โดยต้องกระตุ้นให้ลงไปถึงความรู้สึก เพราะ พฤติกรรมที่ยั่งยืน ต้องเกิดขึ้นที่ภายใน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอก
“รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้สึกด้วย”
พฤติกรรมความปลอดภัยสร้างได้